สุรินทร์

สุรินทร์

✨ ประเพณีบวชนาคช้าง จังหวัดสุรินทร์ ✨

บวชนาคช้าง 🐘 ประเพณีอันเก่าแก่และมีเอกลักษณ์อย่างยิ่งของชาวจังหวัดสุรินทร์ ทั้งเขมร ลาว กูยหรือกวย ที่นับถือพุทธศาสนาปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นที่ทราบกันดีว่า คนและช้างมีความสัมพันธ์กันมานานนับตั้งแต่ในอดีต และช้างสำหรับชาว สุรินทร์ เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวเลยก็ว่าได้ 🎊 ตามความเชื่อของชาวสุรินทร์นั้น ชายหนุ่มที่อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องบวชเพื่อศึกษาธรรมวินัยก่อนที่จะมีเหย้ามีเรือน การบวชของชาวกูยนั้นถือเป็นงานบุญใหญ่ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี (วันเพ็ญเดือน 6) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ผู้ได้มาบูชาด้วยการปฏิบัติตาม ถือว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า หนุ่มชาวกูยที่อายุครบ 20 ปี จะนัดกันไปบวชที่วัดแจ้งสว่าง และก่อนบวช 1 วัน นาคของแต่ละหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่โดยมี “ช้าง” ร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าการบวชนี้ ถ้าจะให้ได้ชื่อเสียงหรือได้บุญหนัก จะต้องนั่งช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะทางไกล ๆ ผู้คนก็จะมาร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่ละขบวนจะแห่มารวมกันที่บริเวณวังทะลุ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลมาบรรจบกัน เพื่อทำพิธีเซ่นศาลปู่ตาและขอขมา “ครูปะกำ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทที่บริเวณดอนบวช (วังทะลุ) 🗓 ในปี พ.ศ. 2566 นี้ การบวชนาคช้างจัดขึ้นอีกปีอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 2-4 พฤษภาคม⭐ ที่สำคัญ จะมีขบวนแห่บวชนาคช้างในวันที่ 3 พฤษภาคม สามารถชมและเข้าร่วมขบวนแห่นาคช้าง ได้ โดยจะเคลื่อนขบวน ตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป📍 วัดแจ้งสว่าง และศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ 📞 เพื่อน ๆ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Inbox https://www.facebook.com/tatsurin หรือโทรศัพท์ 0 4451 4447-8

✨ ประเพณีบวชนาคช้าง จังหวัดสุรินทร์ ✨ อ่านเพิ่มเติม

🐘13 มีนาคม วันช้างไทย 🐘

ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศ ตั้งแต่ในอดีตช้างเป็นราชพาหนะเคียงคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนั้นช้างยังเคยเป็นสัญลักษณ์อยู่บนธงชาติไทย ปัจจุบันช้างยังเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างอยากมาสัมผัสความน่ารักอย่างใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น นั่งช้าง ชมช้างอาบน้ำ การแสดงความสามารถของช้าง ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ นี้จะต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดกันนะคะ เนื่องในวันนี้เป็นวันช้างไทย ใครที่อยากไปเที่ยวกับน้องช้าง วันนี้เรามีแหล่งท่องเที่ยวมาบอกเพื่อน ๆ ด้วยนะคะ ตามไปดูกันเลยว่ามีที่ไหนบ้าง 🥰 🐘หมู่บ้านช้างบ้านตากลางและศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่ง จึงเหมาะแก่การเลี้ยงช้าง ซึ่งชาวหมู่บ้านตากลางก็เป็นชาวกูย (ชาวกวย) ดั้งเดิม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงช้าง ที่บ้านตากลางมีช้างอยู่ราว 200-300 เชือก เรียกว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ภายในมีโฮมสเตย์และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ขี่ช้างอาบน้ำยามเย็น ล่องเรือในลำน้ำ “ศูนย์คชศึกษา” โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” ภายในมีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง เรื่องราวของช้างในอดีต การคล้องช้าง พิธีการต่าง ๆ และมีการแสดงของช้างทุกวัน โครงการคชอาณาจักร ที่นี่เป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อน แถมยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต การอยู่ร่วมกับช้าง การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชนชาวกูย ภายในโครงการฯ จัดให้มีการทำกิจกรรมร่วมกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารช้าง ถ่ายรูปคู่กับช้าง การอาบน้ำให้ช้างและชมโรงงานผลิตกระดาษจากมูลช้างได้อีกด้วย นอกจากนี้ ที่นี่ตั้งอยู่บริเวณลำน้ำชีถือเป็นจุดเช็คอินที่สวยงามมาก และยังเป็นลานกางเต็นท์สำหรับคนที่สนใจมาพักค้างคืนได้ด้วยค่ะ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกของประเทศไทย มีกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนั่งช้างชมธรรมชาติ การแสดงช้างน้อยแสนรู้ การแสดงช้างอาบน้ำ รวมไปถึงการสาธิตทำกระดาษและกระถางต้นไม้จากมูลช้าง เพื่อน ๆ สามารถเลือกซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไปได้ด้วยค่ะ  ฮักช้างเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปางช้างที่นี่เป็น Eco Tour การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสชีวิตของช้างในธรรมชาติจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิสัย การกิน การนอน การเป็นอยู่ ผ่านการแนะนำของวิทยากร เรียกได้ว่าเราจะได้รู้จักช้างกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเลยล่ะ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ ที่นี่มีกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น ป้อนอาหาร อาบน้ำช้าง ทำอาหารช้าง ทำสปาช้าง ฯลฯ

🐘13 มีนาคม วันช้างไทย 🐘 อ่านเพิ่มเติม

✨ 10 สถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหิน ✨

อารยธรรมขอมมีความเก่าแก่ และมีความสำคัญอย่างมาก ข้อหนึ่งที่เห็นได้ก็คือก่อให้เกิดศิลปะอันทรงคุณค่า เกิดเป็นสถาปัตยกรรมอันงดงามให้เราได้ชมจนถึงทุกวันนี้ การเผยแพร่อิทธิพลขอมในไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ “ปราสาทหิน” ในประเทศไทยมีปราสาทหินโบราณที่สร้างในสมัยที่อาณาจักรขอมโบราณเจริญรุ่งเรืองนับร้อยแห่ง ทั้งอโรคยาศาลา ที่พักคนเดินทาง สะพานขอม หลายแห่งชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ยังคงสภาพสมบูรณ์รวมถึงมีการบูรณะซ่อมแซมให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด วันนี้ แอดขอยก 10 สถานที่ปราสาทหินถิ่นแดนไทยมาแนะนำเพื่อน ๆ กัน  อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นชื่อเรียกในภาษาเขมร ตั้งอยู่ในจังหวัดสระแก้วที่มีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา ราวกับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางปราสาทขอมโบราณที่เผยแพร่เข้ามาในไทย อาคารโบราณสถานเป็นแบบศาสนสถานฮินดู ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลงตามลักษณะศิลปะขอม แบบคลัง-บาปวน สร้างในช่วงพุทธศวรรษที่ 15-16 ปัจจุบัน ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ตามแบบเดิม และยังได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ที่รวบรวมประวัติ สถาปัตยกรรมของสด๊กก๊อกธม รวมทั้งนิทรรศการพิเศษเจาะลึกปราสาทเขมรในไทยอย่างละเอียดอีกด้วย  บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว  เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. (ศูนย์บริการข้อมูล เปิดทุกวัน เวลา 9.00 – 16.00 น.)  037 550 454 https://goo.gl/maps/u5LMfmmoV266qGNB6  ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปกรรมเขมรโบราณ ตรงกับศิลปะสมัยบาปวนต่อเนื่องถึงสมัยนครวัด ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ภายในประกอบด้วย ปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทศีขรภูมิ คือ ทับหลังหินทรายเหนือกรอบประตูทางเข้าปราสาทประธาน จำหลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระศิวะทรงฟ้อนรำ) อยู่บนหงส์ 3 ตัว เหนือหน้ากาล แวดล้อมไปด้วยบริวารที่ร่วมทรงดนตรี และยังมีรูปจำหลักเทพองค์สำคัญอยู่รอบ ๆ รูปศิวนาฏราช  บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์  เปิดทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น.  ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท  044 508 240 https://goo.gl/maps/k2pmA9h6has6EiTcA  โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นโบราณสถานที่มีปราสาททั้งหมดสามแห่งตั้งอยู่ใกล้กัน และมีความสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่ ปราสาทตาเมือน เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลของชุมชน และอย่างในภาพนี้คือปราสาทตาเมือนธม สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด เป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน และสันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา แนะนำให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยทหารที่ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นก่อน และนำบัตรประชาชนติดตัวไปทุกครั้ง  บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์  เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.  044 508 240 https://goo.gl/maps/k2pmA9h6has6EiTcA  ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา ที่สำคัญยังคงวัฒนธรรมขอมเอาไว้อยู่ด้วย โบราณสถานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมขอมในอดีต คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ มีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน ภายในมีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล  ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ  062 142 9261 https://goo.gl/maps/G5YQPqnrqVk7zRdv5  อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินในไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคงต้องยกให้ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” โบราณสถานที่มีสภาพสมบูรณ์อย่างมาก และมีขนาดใหญ่กว่า 451 ไร่ ปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย กลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 – 18 “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาอันกว้างใหญ่” โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมที่พบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท หากไปชมปราสาทหินเมืองต่ำด้วย สามารถซื้อตั๋วเหมาได้ ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท  เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.  044 666 251-2 https://goo.gl/maps/yWnKAEJdBiyfH5mA9  ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ปนด้วยศิลปะขอมแบบคลัง ภาพจำหลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู ภายในปราสาท มีปรางค์อิฐ 5 องค์สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์ปรางค์ประธานเหลือแต่เพียงฐาน นอกจากนี้ ยังมีบารายขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของปราสาท ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทะเลเมืองต่ำ” จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในละแวกนี้อยู่หลายชุมชน ที่สำคัญยังมีการขุดพบโบราณวัตถุมากมายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่มีการสร้างปราสาทเมืองต่ำ  ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์  อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท หากไปชมปราสาทหินพนมรุ้งด้วย สามารถซื้อตั๋วเหมาได้ ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท

✨ 10 สถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหิน ✨ อ่านเพิ่มเติม

อังแกบบอบ อาหารถิ่นดินแดนอีสานใต้

เพื่อน ๆ เป็นเหมือนกันไหม เวลาเดินทางไปยังต่างถิ่น นอกจากได้ไปเที่ยวชมสถานที่แปลกใหม่สวยงามแล้ว การได้ชิมอาหารถิ่นรสเลิศก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากไปสัมผัส วันนี้ แอดมีอาหารถิ่นชื่อ “อังแกบบอบ” มาแนะนำ อังแกบบอบ เป็นภาษาเขมร แปลว่า “กบยัดไส้ย่าง” นิยมรับประทานในหมู่ชาวกัมพูชาและชาวกูย(กวย) กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทางแถบอีสานใต้ วิธีทำ เริ่มจากนำ “กบ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมาตัดแต่งและล้างทำความสะอาด จากนั้นแบ่งกบบางส่วนไปสับและปรุงรสรวมกับสมุนไพรต่าง ๆ ได้แก่ กะเพรา ตะไคร้ พริก กระเทียม แล้วนำกลับไปยัดในตัวกบ แล้วย่างด้วยไฟอ่อนจนสุก เมื่อรับประทาน มีรสชาติคล้ายไส้กรอกอีสาน 😋 อังแกบบอบ เป็นอาหารถิ่นในแถบอีสานใต้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ก็ยังพบในจังหวัดศรีสะเกษด้วยเช่นกัน หากเพื่อน ๆ มีโอกาสไปท่องเที่ยวแล้วอยากลอง ก็หารับประทานได้ไม่ยาก

อังแกบบอบ อาหารถิ่นดินแดนอีสานใต้ อ่านเพิ่มเติม

เที่ยวสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่

จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองรองที่เพื่อน ๆ ต้องลองไปสักครั้ง เพราะนอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องช้างและปราสาทหินแล้ว ยังมีแลนด์มาร์กชิค ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้เช็คอิน ทำกิจกรรม Work Shop สนุก ๆ พร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน วันนี้แอดมีเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ 2 วัน 1 คืนมาแนะนำค่ะ  วันที่ 1 1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ 2. Circle Coffee 3. ชุมชนบ้านโพธิ์กอง วันที่ 2 4. โครงการคชอาณาจักร 5. โครงการโลกของช้าง 6. วัดป่าอาเจียง  จากกรุงเทพฯ ถึงสุรินทร์ ใช้เวลาขับรถประมาณ 6 ชั่วโมง หากเดินทางด้วยเครื่องบินจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยเป็นการบินไปลงที่บุรีรัมย์และต่อรถไปสุรินทร์ นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟและรถทัวร์ได้อีกด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเช่นกัน เส้นทางท่องเที่ยวที่จะแนะนำครั้งนี้ บางจุดอยู่นอกอำเภอเมือง แอดแนะนำว่า ถ้าไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ควรเช่ารถขับจะสะดวกที่สุด  วันที่ 1 หลังจากมาถึงสุรินทร์ จุดแรกแอดจะขอพาไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ค่ะ  รับรองว่ามีความรู้ที่น่าสนใจเยอะเลย โดยเฉพาะถ้ามีเจ้าหน้าที่นำบรรยายด้วย จะเพลิดเพลินขึ้นอีกมากเลยค่ะ ถ้าเพื่อน ๆ มีเวลาไม่มาก แอดขอแนะนำให้ตรงไปดูส่วนการแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีส่วนทำให้สุรินทร์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งจากชาวเขมร ลาว และกูย (กวย) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับช้างและฝึกช้างในอดีต ทำให้จังหวัดสุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นช้างใหญ่ในแถบอีสานใต้  อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือ ส่วนจัดแสดงการทอผ้าไหมพื้นเมือง การทำเครื่องประดับเงิน รวมถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ แอดขอบอกว่าได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจเลยค่ะ นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงของดีประจำจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย เรียกว่าไปที่เดียวรู้ครบทุกเรื่อง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์   เลขที่ 214 หมู่ 13 ถนนสุรินทร์-ช่องจอม ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์  เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.  044 153 054 https://goo.gl/maps/XRUg69pBo1oQ57hA7 ได้ความรู้กันมาพอสมควรแล้ว แอดจะพาเพื่อน ๆ ไปพักดื่มน้ำเย็น ๆ ยามบ่ายกันที่ “Circle Coffee” คาเฟ่เล็ก ๆ บรรยากาศน่ารักที่ใครแวะเข้ามาก็อดยิ้มไม่ได้ ที่นี่เสิร์ฟเครื่องดื่มหลากหลายชนิด รวมทั้งเบเกอรี่หอมกรุ่นอย่างวาฟเฟิล และครัวซองต์ที่อบใหม่ ๆ สั่งแล้วอาจจะต้องใช้เวลารอนิดหนึ่งนะ  Circle Coffee サークル コーヒー   1/1 ซอยโดนแน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์  เปิดทุกวัน เวลา 08.30-18.00 น.  087 445 5455 https://goo.gl/maps/gJ7YyneX9r4w5PWZA จุดหมายต่อไป แอดจะพาเพื่อน ๆ ไปทำกิจกรรมสนุก ๆ พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตไทย-เขมรที่ “ชุมชนบ้านโพธิ์กอง” อำเภอปราสาท ขอเล่าก่อนว่าบ้านโพธิ์กอง เป็นชื่อที่ผสมผสานระหว่างไทยกับเขมร โดยมีที่มาจากต้นโพธิ์ประจำหมู่บ้านที่มีลักษณะโค้งเอียง ซึ่งเอียงในภาษาเขมรก็คือ “กอง” นั่นเอง บ้านโพธิ์กอง โดดเด่นมากในเรื่องผ้าไหม ที่นี่มีการทอผ้าโดยใช้ไหมเส้นเล็ก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของจังหวัดสุรินทร์ ทำให้ผ้าไหมบ้านโพธิ์กองมีลักษณะพิเศษคือ เนื้อนิ่ม สวมใส่สบาย นอกจากนี้ เรายังจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม การอนุรักษ์ภาษาเขมรถิ่นไทย ชมปราสาทบ้านไพล ปราสาทหินซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ได้รับประทานอาหารถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอังแกบบอบ ผัดเขมร แกงต้มไก่ ขนมแทงกลาง แถมยังได้ชมการละเล่นพื้นบ้าน “กะโน้บติงต็อง” หรือระบำตั๊กแตนตำข้าวระหว่างรับประทานอาหารด้วย ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีกิจกรรม “บิด ย้อม ผ้า” เป็นการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติคล้ายกับการมัดย้อมผ้า วิธีทำคือเอาผ้าฝ้าย 1 ผืน มาบิดไปมาเป็นเกลียว แล้วนำไปต้มในน้ำสกัดสี ยิ่งบิดแน่นเท่าไหร่ ลายผ้าที่ได้ก็มีความละเอียดมากเท่านั้น  เพื่อน ๆ ที่ทำแล้วอยากได้กลับไปไว้ใช้งาน ก็สามารถซื้อเป็นของที่ระลึกกลับบ้านได้ในราคาย่อมเยา หรือใครอยากจะช้อปผ้าไหมไปฝากคนที่บ้านเพิ่มเติม ที่นี่ก็มีจำหน่าย มีลายสวย ๆ ให้เลือกเยอะเลย ที่ชุมชนบ้านโพธิ์กอง ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้บริการอีกด้วย สอบถามราคาที่พัก รวมถึงค่าบริการในการทำกิจกรรมกับชุมชนได้โดยตรง และแนะนำว่าให้ติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าเยี่ยมชม เพื่อให้ทางชุมชนได้เตรียมการต้อนรับ เพราะกิจกรรมต่าง ๆ นี้ไม่ได้เปิดให้บริการทั่วไป  ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์  081 383 1985 https://goo.gl/maps/MNeGDHzsyvyLnTKc9  วันที่ 2 เช้าวันที่ 2 แอดจะพาเพื่อน ๆ ไปอาณาจักรช้าง ที่ “โครงการคชอาณาจักร”  ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อน ที่อาจถูกควาญช้างนำมาเร่ร่อนขายอาหารตามท้องถนน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ช้างได้รับบาดเจ็บและประสบอุบัติเหตุได้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต การอยู่ร่วมกับช้าง การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชนชาวกูย (กวย) ในการเข้าชม จะมีเจ้าหน้าที่นำชมภายในโครงการ และบรรยายให้ความรู้ เริ่มจากทำความรู้จัก “พระครูปะกำ” พระครูที่ชาวกูยให้ความเคารพนับถือ และทำพิธีบูชาตามคติความเชื่อก่อนออกไปจับช้างในอดีต พร้อมทำความรู้จักช้างมงคลทั้ง 10 ตระกูล  เข้าชมโรงงานผลิตกระดาษจากมูลช้าง เป็นโครงการที่สร้างมูลค่าและลดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี โดยนำไปทำเป็นกระดาษสาและเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น สมุดโน้ต กรอบรูป กระถางต้นไม้ ฯลฯ เพื่อน ๆ ที่สนใจ สามารถไปทดลองทำ Work Shop ดูได้ ใครที่คิดว่าอาจจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แอดขอยืนยันว่า เข้าชมได้สบาย ๆ ไม่มีกลิ่นเหม็นเลยค่ะ  สัมผัสวิถีชีวิตและทดลองเป็นคนเลี้ยงช้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารช้าง ถ่ายรูปคู่กับช้าง และการอาบน้ำให้ช้าง

เที่ยวสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ อ่านเพิ่มเติม

✨ แจกปฏิทินเที่ยว ปี 2565 ✨

กางปฏิทินเที่ยว ปี 2565 ไปไหนดี? เรามาแจกปฏิทิน พร้อมแนะนำที่เที่ยว ทะเล ภูเขา ธรรมชาติ เที่ยวไทยไปได้ทั้งปี ใกล้จะหมดปีแล้ว คุณเป็นอย่างไรกันบ้างนะ ปี 2564 ได้ไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้างหรือเปล่า ถ้าใครยังไม่ได้ไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหนในปีนี้ หรือถ้าไปแล้ว แต่อยากกลับไปอีก เพราะความคิดถึง ต้องเตรียมแพลนรับปีใหม่ 2565 กันได้แล้วนะ เพราะในปี 2565 นี้ เราอยากจะชวนคุณออกไปเที่ยวด้วยกัน หลังจากที่ไม่ได้เที่ยวแบบเต็มที่มานาน โพสต์นี้เราแนะนำที่เที่ยวสวย อันซีน มาให้แล้ว พร้อมกับแจกปฏิทิน ให้คุณได้ดาวน์โหลดแบบฟรี ๆ งานนี้ใครอยากไปเที่ยวสถานที่ไหน ช่วงเดือนอะไร ก็สามารถเตรียมแพลนล่วงหน้าไว้ได้เลย สามารถดาวน์โหลดภาพปฏิทิน และทำ E-Card ส่งต่อความสุขและความห่วงใยให้กับคนที่เรารัก ไปด้วยกัน โดยคลิกที่นี่ได้เลย >> https://tatcalendar.com/ นอกจากเว็บไซต์แล้ว ยังมีแอพพลิเคชัน TAT CALENDAR ด้วยนะ สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานกันแบบง่าย ๆ ได้แล้ววันนี้ ทั้งระบบ Android และ iOS ดาวน์โหลดผ่านระบบ Android คลิก : https://bit.ly/3oU23br ดาวน์โหลดผ่านระบบ iOS คลิก : https://apple.co/3GHsjfq พิกัดในภาพ : เจดีย์พระธาตุโบอ่อง กาญจนบุรี ม่อนหมอกตะวัน จังหวัดตาก “ม่อนหมอกตะวัน” เป็นหุบเขาที่มีหมอกตลอดทั้งวัน ตั้งอยู่ที่บ้านป่าหวาย ธรรมชาติแห่งขุนเขายามเช้า ท่ามกลางสายหมอกพริ้วไหว และดอกเสี้ยน ฝรั่งสีบานเย็นสลับขาวที่ผลิดอกสะพรั่งบานเต็มทั่วทิวเขาหากใครที่เข้าไปชมธรรมชาติและสายหมอก ขอให้ช่วยกันรักษาความสะอาดเพื่อธรรมชาติจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ ด้วยนะทุกคน ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ทะเลหมอก และดอกไม้ที่สวยงามตระการตา มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ร้านอาหาร และบริการหมูกระทะ ทางขึ้นของที่นี่ค่อนข้างชัน เป็นถนนแบบคอนกรีตผสมลูกรัง ด้านบนมีลานกางเต็นท์ ค่ากางเต็นท์ เริ่มต้นหลังละ 200 บาท จะนอนกี่คนก็ได้ เพราะคิดราคาต่อหลัง มีห้องน้ำ มีห้องอาบน้ำแยก พิกัด : บ้านป่าหวาย อ.พบพระ จ. ตากGPS : https://goo.gl/maps/vqKcH9SVkRxJNrDD6 ชุมชนบ้านหัวเขา จังหวัดสงขลา รับชมแสงสุดท้ายของวันทอประกายสีส้มระเรื่อลงมายังผืนน้ำอันกว้างใหญ่ เป็นภาพความงดงามในมุมสูงช่วงเวลาสนธยาของชุมชนประมงพื้นบ้านริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เราสามารถไปบ้านหัวเขาได้ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ แต่เราเลือกที่จะไปทางเรือ เพื่อไปชมพระอาทิตย์ตก ที่ชาวสงขลาบอกว่า เป็นจุดที่สวยที่สุด การนั่งเรือไปบ้านหัวเขา สามารถใช้เรือจ้างที่ดัดแปลงมาจากเรือหาปลา แต่เพิ่มเสื้อชูชีพและการจำกัดจำนวนผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัย เมื่อมาถึงบ้านหัวเขา จะมีรถพ่วงข้างซึ่งเป็นพาหนะท้องถิ่นมารับไปเที่ยวรอบชุมชน พิกัด : บ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลาGPS : https://goo.gl/maps/TEmdirkeYi8V9dheA  ​​วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ จังหวัดมุกดาหาร ที่นี่เป็นดินแดนของ องค์พญานาคเจ้าปู่ศรีมุกดา (พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแผ่นดินไทย ลำตัวเปล่งประกายด้วยสีน้ำเงินเข้มอมเขียว คดเคี้ยวเคียงคู่กับพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาวที่สวยสง่า สะท้อนถึงพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวอีสานแห่งลุ่มน้ำโขง ประดิษฐานโดดเด่นอยู่บนยอดเขามโนรมย์ และมีความเชื่อในการขอพรเกี่ยวกับด้านความโชคดี สุขภาพ ความปลอดภัย และความร่ำรวยเงินทอง บนยอดเขานั้น คุณสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของจังหวัดมุกดาหารได้ ทั้งแม่น้ำโขง และแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของจังหวัดมุกดาหารที่ควรค่าแก่การมาเยือน พิกัด : วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อ.เมือง จ.มุกดาหารGPS : https://goo.gl/maps/NHU38NQm1SvgHL6aA  ถ้ำคลัง จังหวัดกระบี่ “ถ้ำคลัง” ผลงานชิ้นเอกของธรรมชาติที่ใช้เวลาสร้างสรรค์กว่าพันปี ภายในโพรงถ้ำอันมืดมิด กลับเปล่งประกายด้วยสระน้ำใสสีมรกตและหินงอกหินย้อยประดับตกแต่งราวกับฉากหลังโรงละคร งดงามจนได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งถ้ำหินปูนเมืองกระบี่ ภายในถ้ำมีโถง 13 ห้องด้วยกัน ด้านในมืดสนิทและเส้นทางซับซ้อน จำเป็นต้องมีไกด์นำทาง ซึ่งก็คือชาวบ้านที่จะคอยบริการพาเราเข้าไปชมความงดงามของหินงอกหินย้อยมากมาย ผลึกแก้วสวยงามวาววับ และสระน้ำมรกตที่มีน้ำใสดั่งกระจกถึง 2 แห่งอยู่ภายในถ้ำ การเดินสำรวจถ้ำ สิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมไปคือ ไฟฉาย และต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางให้ด้วย พิกัด : ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่GPS : https://goo.gl/maps/McxxL13JTCZXiE9M6  อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดเลย พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ สะพานหินธรรมชาติในอ้อมกอดของผืนป่า ถูกปกคลุมด้วยพรมสีเขียวของเฟิร์นและมอส แต่งแต้มสีแดงด้วยใบเมเปิลที่ผลัดใบในช่วงกลางเดือนธันวาคม ถือเป็นหนึ่งในจุดถ่ายรูปไฮไลท์ของอุทยานฯ ที่มีให้ชมเพียงปีละหนึ่งครั้ง นอกจากจุดนี้แล้ว ในอุทยานฯ ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่นที่สวยงามอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ลานหินปุ่ม’ ที่มีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่มเป็นปมขนาดไล่เลี่ยกัน สวยแปลกตา ‘ผาชูธง’ เป็นจุดชมทิวทัศน์ได้อย่างกว้างไกล พร้อมทั้งชมพระอาทิตย์ตก ‘น้ำตกผาลาด’ เป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนัก แต่มีน้ำมากตลอดปี เป็นต้น ที่อุทยานฯ ยังมีบ้านพัก เต็นท์ และร้านอาหาร ไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย พิกัด : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.ด่านซ้าย จ.เลย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และอ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์GPS : https://goo.gl/maps/kAHoDexZRypXpsDp6  เกาะไผ่ จังหวัดกระบี่ “เกาะไผ่” หรือเกาะไม้ไผ่ เกาะขนาดเล็กกลางทะเลกระบี่ ในวงล้อมของชายฝั่งสีเขียวมรกต หาดทรายขาวละเอียด ทางทิศใต้ของเกาะมีแนวปะการังทอดตัวเป็นวงโค้งสวยงามน่าอัศจรรย์ สมกับฉายาดงปะการังแสนไร่ สวรรค์น้อย ๆ ของคนรักกิจกรรมดำน้ำตื้น พิกัด : อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่GPS : https://goo.gl/maps/E4sj5ZZrZo6qaNju8  วังผาเมฆ จังหวัดตรัง เตรียมกายและใจให้พร้อมขึ้นไปพิชิตยอดเขา จุดชมทัศนียภาพอันกว้างไกลของผืนป่า แมกไม้ สายหมอกที่อาบไล้ด้วยแสงสีทองยามเช้า และภูเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของท้องทะเลจังหวัดตรัง วังผาเมฆตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสายควนและป่าอ้ายกลิ้ง บรรยากาศตอนเช้าตรู่จะเป็นทะเลหมอกขาวสะอาดปกคลุมไปทั่วผืนป่าและเมื่อกระทบแสงอาทิตย์ยามเช้า จากหมอกขาวจะกลายเป็นสีเหลืองอร่ามอมส้ม เมื่อขึ้นมาสู่ยอดเขาจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของผืนป่าที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ในขณะที่ทางด้านทิศตะวันตก สามารถมองเห็นปากอ่าวและชายหาดรวมทั้งหมู่เกาะต่าง ๆ บนท้องทะเลอันดามัน ในจังหวัดตรังได้ บริเวณเชิงเขาจัดสร้างประติมากรรมต่าง ๆ

✨ แจกปฏิทินเที่ยว ปี 2565 ✨ อ่านเพิ่มเติม

“ วิ ถี ค น กั บ ช้ า ง “ 🐘

สัมผัสวิถีถิ่นคนกับช้าง ณ เมืองสะเร็น #สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ คนที่นี่ “ชาวกูย” เลี้ยงช้างเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว ที่รอให้ทุกคนมาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้สัมผัสการใช้ชีวิตกับช้างอย่างใกล้ชิด นอกจากจะได้สัมผัสเสน่ห์คนเลี้ยงช้างแล้วยังได้ชมกับแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดสุรินทร์ นั่นก็คือ โครงการโลกของช้าง (Elephant World) ประกอบด้วย สนามแสดงช้าง หอชมวิว โรงภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์ช้าง ด้วยการออกแบบที่แปลกตาของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้าง บรรยากาศโดยรอบที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางทะเลทราย ตัวอาคารทำด้วยอิฐแดงมากกว่า 480,000 ก้อน หลายคนให้ชื่อว่าอียิปต์สุรินทร์ด้วยโทนสีของอิฐแดงการมาแต่ละช่วงเวลาของวัน แสงก็จะเปลี่ยนไป ดูแล้วมีมิติ ชักจูงให้เรากลับมาหลายครั้ง จังหวัดสุรินทร์ยังคงรอคอยให้ทุกคนได้มาเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวสัมผัสวิถีคนเลี้ยงช้างที่อยู่คู่กันมาอย่างเนิ่นนาน อีกทั้งยังได้ชมความงดงามยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างความเป็นวิถีถิ่นและความร่วมสมัยอย่างลงตัว 📍 โครงการโลกของช้าง (Elephant World) ณ ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์🗺 แผนที่การเดินทาง >> https://goo.gl/maps/warohe8qKEuVcoUx7📲 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Page : ททท.สำนักงานสุรินทร์ TAT Surin☎️ โทร. 0 4451 4447📧 E-mail : tatsurin@tat.or.th

“ วิ ถี ค น กั บ ช้ า ง “ 🐘 อ่านเพิ่มเติม

ทำความรู้จัก…ทุเรียนอีสานใต้

รู้หรือไม่ ภาคอีสานก็ปลูกทุเรียนเหมือนกันนะ เพื่อน ๆ อาจจะคุ้นเคยกับทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ และอาจจะยังไม่รู้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ก็มีทุเรียนอร่อย ๆ ให้ชิม ได้แก่– บุรีรัมย์ – ทุเรียนน้ำแร่– สุรินทร์ – ทุเรียนเมืองช้าง– ศรีสะเกษ – ทุเรียนภูเขาไฟ ทุเรียนน้ำแร่ จังหวัดบุรีรัมย์.“ทุเรียนน้ำแร่ธรรมชาติ ดินภูเขาไฟบุรีรัมย์” เป็นทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ที่มีดินภูเขาไฟและมีน้ำแร่อยู่ใต้ดิน ทุเรียนจึงมีการเจริญเติบโตดี เนื้อนุ่ม รสชาติหวานมันเป็นเอกลักษณ์ โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอปะคำ และอำเภอบ้านกรวด.ใครอยากชิมทุเรียนน้ำแร่ของบุรีรัมย์ แอดมีรายชื่อสวนมาให้แล้ว สามารถโทรไปสอบถามและจับจองกันได้เลยค่ะ สวนปลวกทอง อำเภอโนนสุวรรณโทร. 095 614 1218.สมหมาย ฟาร์ม อำเภอโนนสุวรรณโทร. 062 389 5285Facebook : Sommai Farm.สวนลุงคำพันธุ์โทร. 082 148 8869Facebook : สวนเงาะ ทุเรียน ลุงคำพันธุ์ Buriram.สวนทุเรียนสามดอ อำเภอปะคำโทร. 084 900 8184 (แม่ผ่องศรี เด็ดดวงรัมย์).สวนทุเรียนบิ๊กเบนซ์ อำเภอปะคำโทร. 061 102 6616/ 09 3429 2535.สวนทุเรียนป๋าเบิ้ม อำนวย พาลัง อำเภอโนนสุวรรณโทร. 096 236 3744.สวนยายเฑียร ทุเรียนน้ำแร่ อำเภอโนนสุวรรณโทร. 081 790 9951.ไร่นายตะวัน อำเภอโนนสุวรรณโทร. 082 027 7413.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 044 634 722-3.ขอบคุณรูปภาพจาก ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ ทุเรียนเมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์.เมืองสุรินทร์ไม่ได้มีแค่ช้าง แต่มีทุเรียนด้วยนะ ทุเรียนเมืองช้างมีความกรอบนอกนุ่มใน หอมหวานละมุนลิ้น กินแล้วจะต้องติดใจ พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดสุรินทร์ มี 7 อำเภอ คือ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง อำเภอศีขรภูมิ อำเภอพนมดงรัก อำเภอสังขะ และ อำเภอปราสาท.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานสุรินทร์ (ดูแลพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ)โทร. 044 514 447-8 . ขอบคุณรูปภาพจาก ททท. สำนักงานสุรินทร์ ทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ.เป็นทุเรียนที่มีความกรอบนอก นุ่มใน ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุนมาก เพราะปลูกในพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟ ดินจึงมีแร่ธาตุอยู่มาก  โดยพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอศรีรัตนะ.ใครอยากลิ้มรสความอร่อยของทุเรียนภูเขาไฟ สามารถสั่งออนไลน์ได้ที่ www.lavadurian.comเว็บไซต์ซื้อขายทุเรียนภูเขาไฟออนไลน์ ที่มีร้านค้าให้เลือกกว่า 37 ร้าน กดสั่งไม่กี่คลิก ก็รอรับทุเรียนอร่อย ๆ มาส่งถึงบ้านได้เลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานสุรินทร์ (ดูแลพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ)โทร. 044 514 447-8.ขอบคุณรูปภาพจาก ททท. สำนักงานสุรินทร์

ทำความรู้จัก…ทุเรียนอีสานใต้ อ่านเพิ่มเติม

เที่ยวตามคำขวัญ : สุรินทร์

สุรินทร์ หนึ่งในจังหวัดชายแดนของภาคอีสานตอนล่าง หรือ “อีสานใต้” ที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา และเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ.ถ้าใครไปสุรินทร์แล้วไม่รู้จะเริ่มเที่ยวจากตรงไหน มาลองเที่ยวตามคำขวัญดูสิ สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ .จังหวัดสุรินทร์ขึ้นชื่อว่ามีช้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่บ้านตากลาง (อ่านว่า ตา-กลาง) อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็นสถานที่ที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสัตว์คู่บ้านคู่เมือง สัญลักษณ์ประจำชาติไทย คือ “ช้าง” ได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน.บรรพบุรุษของชาวบ้านตากลางเป็นชาวกูย (หรือกวย) ที่อพยพมาจากกัมพูชาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย พวกเขาคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงช้าง ที่บ้านตากลางมีช้างอยู่ราว 200-300 เชือก เรียกว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงทีใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้.ในชุมชนบ้านตากลางมี “ศูนย์คชศึกษา” ซึ่งประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับช้าง และมีการแสดงของช้างทุกวัน วันละ 2 รอบ เวลา 10.00 และ 14.00 น..สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์คชศึกษา บ้านตากลางโทร. 044 145 050 ผ้าไหมงาม .สุรินทร์มีผลิตภัณฑ์ในชุมชนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมผืนงาม ที่บ่งบอกถึงความประณีตและทักษะขั้นสูงของช่างผู้ทอ.“บ้านท่าสว่าง” เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหมที่ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ รวมทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบและลวดลายต่างๆ ขึ้นใหม่ด้วย ปัจจุบันบ้านท่าสว่างเป็นที่รู้จักกันในนาม “หมู่บ้านทอผ้าเอเปก” เนื่องจากผ้าทอของที่นี่ได้รับคัดเลือกให้นำไปตัดเสื้อและผ้าพันคอให้กับกลุ่มคู่สมรสของผู้นำการประชุมเอเปกที่เข้าร่วมประชุมในไทย เมื่อ พ.ศ.2546.ภายในชุมชนยังมีโฮมสเตย์ให้บริการ ผู้ที่สนใจสามารถมาซึมซับและเรียนรู้วิถีชุมชนได้อย่างเต็มที่.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่างโทร. 044 140 015 ประคำสวย.“หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์” (อ่านว่า เขฺวา-สิน-ริน หรือ เขฺวา-สิน-นะ-ริน) หรือ “กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค” เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่า “ลูกปะเกือม”.“ปะเกือม” เป็นภาษาเขมร ใกล้เคียงกับคำว่า “ประคำ” ในภาษาไทย ใช้เรียกเม็ดเงินเม็ดทองกลมๆ ที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล เป็นต้น.การทำปะเกือมนั้นมีมานานหลายร้อยปีแล้ว เชื่อกันว่าเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเขมร ซึ่งลูกหลานก็ยังคงสืบสานต่อมาจนทุกวันนี้.สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนรู้และทดลองลงมือทำปะเกือมด้วยตนเอง ก็สามารถทำได้แต่ต้องติดต่อมาล่วงหน้า เพื่อที่ทางชุมชนจะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผู้ประสานงานชุมชน : ลุงป่วน เจียวทองโทร. 081 309 5352, 089 043 6794 ร่ำรวยปราสาท.ช่วงที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ได้แผ่อิทธิพลทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อต่างๆ เข้ามาในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ทำให้ภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์มีปราสาทขอมตั้งอยู่หลายแห่ง.“ปราสาทศีขรภูมิ” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ภายหลังได้รับการปฏิสังขรณ์และแปลงเป็นพุทธสถาน โดยมีการต่อเติมส่วนยอดของปราสาทจนมีลักษณะแตกต่างจากปราสาทขอมทั่วไป.ที่เหนือประตูทางเข้าปราสาทประธานมีทับหลังศิวนาฏราช ที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดชิ้นหนึ่งในเมืองไทย นอกจากนี้ที่เสาประดับกรอบประตูยังมีภาพจำหลักรูปนางอัปสรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ปราสาทนครวัดเป็นอย่างมาก โดยพบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวในไทยเท่านั้น.ที่ตั้ง : วัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.30 น. ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม.จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งผลิต “ข้าวหอมมะลิ” ที่ขึ้นชื่อ และยังผลิตได้ปริมาณมากที่สุดของประเทศ ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเลยทีเดียว.ส่วน “ผักกาดหวาน” นั้นก็เป็นสุดยอดของฝากเมืองสุรินทร์ ที่ทั้งคนสุรินทร์เองและนักท่องเที่ยวต่างนิยมซื้อกลับบ้านไปฝากญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก เป็นอีกหนึ่งของขึ้นชื่อ ที่มาแล้วต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปนั่นเอง งามพร้อมวัฒนธรรม .จังหวัดสุรินทร์ เกิดจากการหลอมรวมวัฒนธรรมของ 3 ชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร กูย (หรือ กวย) และลาว เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง การจักสาน การทอผ้าไหม และการทำเครื่องประดับเงินที่เรียกว่าปะเกือม เป็นต้น เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 5 มีนาคม 2562

เที่ยวตามคำขวัญ : สุรินทร์ อ่านเพิ่มเติม

“ท่องเที่ยวอิ่มบุญ…สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น”

ฤดูฝนเป็นฤดูแห่งการทำนา ในระหว่างเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์จะต้องจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อไม่ให้ไปเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย และเนื่องจากสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อถวายให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้ในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ ยามค่ำคืนตลอดช่วงเวลาของการเข้าพรรษา การนำเทียนไปถวายนั้น จะให้เดินไปถวายแบบปกติมันก็จะธรรมดาไป โลกไม่จำค่ะ ชาวบ้านจึงจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนาน และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณีอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ค่ะ ถ้าพูดถึงประเพณีแห่เทียนพรรษาแล้ว จังหวัดแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้น จ.อุบลราชธานี เพราะที่นี่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องการแกะสลักเทียนเป็นรูปต่างๆ อย่างวิจิตรงดงาม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในวรรณคดี บุคคลสำคัญในช่วงเวลานั้นๆ และอื่นๆ อีกมากมาย  งาน “ฮีตศรัทธาราชธานีแห่งแสงเทียน” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 28 กรกฎาคม 2561 ภายในงานจะมีกิจกรรมการแสดง แสง สี เสียงสุดอลังการ โดยขบวนแห่จะมีทั้งกลางวันและกลางคืน – แห่เทียนกลางคืน ในช่วงค่ำของวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2561 จะมีขบวนแห่เทียนและการแสดงประกอบแสงเสียง เรื่อง “เกิดแต่อุบล” บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม โดยวันที่ 27 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 19.00-20.30 น. ส่วนวันที่ 28 กรกฎาคม เริ่มประมาณ 18.00 น. – แห่เทียนกลางวัน วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 จุดเริ่มต้นขบวนจะอยู่บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม เริ่มตั้งแต่ 08.00 น. เป็นต้นไปค่ะ “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง” ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ชาวสุรินทร์ภาคภูมิใจ เพราะเป็นวัฒนธรรมการแห่เทียนที่ยิ่งใหญ่และไม่เหมือนใคร ตักบาตรบนหลังช้างทำยังไง? ทำได้ด้วยเหรอ? ถ้าอยากรู้ ต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองนะคะ^^  งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2561 กิจกรรมภายในงานมีดังนี้ วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ชมริ้วขบวนแห่เทียนพรรษา ขบวนฟ้อนรำศิลปวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับขบวนแห่ช้างกว่า 80 เชือก  วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.00 น. จะมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรบนหลังช้าง บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางค่ะ โคราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่มีความสวยงามและอลังการไม่แพ้ที่อื่นๆ เลยค่ะ โดยมีการจัดงานทั้งหมด 3 ที่ ได้แก่ วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 จะมีการแห่เทียนพรรษาของอำเภอโชคชัยและอำเภอพิมายค่ะ (เริ่มแห่ตั้งแต่ประมาณ 13.00 น. เป็นต้นไป) โดยจะเป็นการประกวดต้นเทียนพรรษา เมื่อได้ผู้ชนะของแต่ละอำเภอแล้วทั้งหมดก็จะไปรวมตัวกันบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีค่ะ  งานแห่เทียนพรรษาที่อำเภอโชคชัย ใช้ชื่องานว่า “เทศกาลกินหมี่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา อำเภอโชคชัย” ส่วนที่อำเภอพิมายใช้ชื่องานว่า “ประเพณีแห่เทียนพรรษา อำเภอพิมาย” ภายในงานของทั้ง 2 อำเภอจะมีมหรสพการแสดง และกิจกรรมต่างๆ มากมายค่ะ วันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2561 จะมีการจัด “งานแห่เทียนพรรษาโคราช” ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นการแห่เทียนพรรษาสุดยิ่งใหญ่ของชาวโคราชค่ะ (ขบวนแห่เริ่มวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น.) โดยจะนำต้นเทียนพรรษาที่ชนะจากทั้ง 2 อำเภอมาแห่ และจัดแสดงให้ชมกันค่ะ  นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดง แสง สี เสียง รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ของดีเมืองโคราช สินค้าโอท็อปต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ได้เลือกชอปเลือกชิมกันตลอดงานเลยค่ะ “ประเพณียายดอกไม้” ครั้งแรกที่แอดได้ยิน็ถึงกับงงเลยทีเดียว ว่านี่คือประเพณีอะไร? ประเพณียายดอกไม้เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสิงห์บุรีค่ะ คำว่า “ยาย” นั้นเพี้ยนมาจาก คำว่า “หย่าย” ในภาษาลาว แปลว่า การแจกจ่ายหรือการให้ คำว่า “ยายดอกไม้” จึงหมายถึงการให้ หรือถวายดอกไม้แด่พระสงฆ์ เพื่อนำไปบูชาพระพุทธเจ้านั่นเองค่ะ  และในปีนี้ชาวจังหวัดสิงห์บุรีก็ได้จัดงานนี้ขึ้น ภายใต้ธีม “ตักบาตรยายดอกไม้ นุ่งซิ่นไทย-ลาวเวียง” ณ วัดจินดามณี จังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.00 น.  ภายในงานมีกิจกรรมมากมายไม่ว่าจะเป็น การทอดผ้าป่าดอกไม้ ถวายเทียนพรรษา ชิมอาหารถิ่นสิงห์บุรี ชมการแสดงเต้นบาสโลป และอื่นๆ อีกมากมาย แอดอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ไปสัมผัสกับบรรยากาศวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นี่ดูนะคะ ว่าจะมีความงดงามแตกต่างจากวัฒนธรรมที่เพื่อนๆ คุ้นเคยมากน้อยแค่ไหนค่ะ ^^ สำหรับใครที่คิดว่าการแห่เทียนพรรษาทางบกธรรมดาไป ต้องมางานนี้เลยค่ะ “ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ” ณ คลองลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในอยุธยา  งานจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 โดยจะเริ่มแห่ประมาณ 11.00 น. กิจกรรมภายในงานจะมีการประกวดบ้านสวนริมคลอง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านลาดชะโด การจัดแสดงภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวลาดชะโด การจำลองบรรยากาศตลาดน้ำย้อนยุค และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้เพื่อนๆ ยังจะได้สัมผัสวิถีชีวิตบ้านริมน้ำอีกด้วยนะคะ “ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 กรกฎาคม 2561 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารจ.สระบุรี ซึ่งเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากของ จ.สระบุรี นับเป็นประเพณีที่แปลกไม่เหมือนใคร และมีเพียงแห่งเดียวอีกด้วย  โดยในยามเช้าพระสงฆ์จะเดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน ซึ่งจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งมาใส่บาตร ดอกไม้ชนิดนี้จะบานในช่วงเข้าพรรษาพอดี จึงได้ชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” ค่ะ เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนอาจจะไม่รู้จักดอกไม้ชนิดนี้ และแอบไปเสิร์ชหารูปจากอินเตอร์เน็ตดู แต่เชื่อเถอะค่ะว่ายังไงก็ไม่สวยเท่าไปเห็นด้วยตาตัวเองหรอกนะคะ ต้องลองไปสัมผัสดูค่ะ สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่อยากเดินทางไปต่างจังหวัด วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่จัดกิจกรรมเข้าพรรษาค่ะ

“ท่องเที่ยวอิ่มบุญ…สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น” อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top