นราทัศน์…รู้จักเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาส ผ่านแหล่งวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตั้งแต่ในเมือง ถึงผืนป่าและทะเ] นราธิวาส … ดินแดนพหุวัฒนธรรมบนคาบสมุทรมลายู ด้วยประวัติศาตร์อันยาวนาน เชื่อมวิถีชีวิตผู้คนต่างศาสนาและความเชื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์หลากหลาย TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ร่วมกับ The Cloud ขอนำเสนอคอลัมน์ Take Me Out เที่ยวบ้านเพื่อนคราวนี้ ชวนมาสัมผัสแหล่งเรียนรู้และมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปกับ 9 สถานที่จากในเมือง สู่ผืนป่าและผืนน้ำ รับรองว่าอ่านจบแล้ว จะหลงเสน่ห์ดั้งเดิมของนราธิวาสเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตรวจสอบมาตรการการเดินทางเข้าพื้นที่ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส : https://www.facebook.com/NaraPublicHealth นราธิวาส ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายแหลมบนคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) หนึ่งในสามจังหวัดปลายด้ามขวาน มีพรมแดนติดประเทศมาเลเซีย นอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ ทั้งแม่น้ำ ทะเล ป่าไม้ ภูเขา สายธารทางประวัติศาสตร์ยังเชื่อมร้อยเรื่องราวจากทั่วทุกสารทิศมาบรรจบกัน ผ่านเส้นทางการค้าที่ถูกเรียกขานว่า ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ จากแผ่นดินไร้พรมแดน สู่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ ปาตานีดารุสสลาม กระทั่งร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ จากชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาติพันธุ์เนกริโต (เซมัง-โอรังอัสลี) ชาวมลายู ชาวฮินดู-พราหมณ์ ชาวจีน ชาวสยาม หรือชาวยุโรป และจากความเชื่อในการนับถือผีสางนางไม้ สิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ สู่ศรัทธาความเชื่อใหม่จำหลักมั่น ทั้งพุทธ ฮินดู-พราหมณ์ คริสต์ และอิสลาม บนแผ่นดินเดียวกัน โชคชะตาเดียวกัน วิถีชีวิตผู้คนจึงได้อยู่อาศัยร่วมกันมาอย่างผูกพันกลมเกลียว เที่ยวบ้านเพื่อนคราวนี้ ชวนมาสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม เรียนรู้วัฒนธรรมเก่าแก่ที่ ‘นราธิวาส’ กับ 9 สถานที่ทรงคุณค่า เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในสังคมพหุวัฒนธรรม ตั้งแต่ชมสถาปัตยกรรมโบราณกว่า 400 ปี ชิมขนมพื้นบ้าน ดูวัฒนธรรมผ้าบาติก จนถึงนั่งรับลมชมความสวยงามของธรรมชาติ ในพื้นที่ที่มีความหมายว่า ที่อยู่ของคนดี-นราธิวาส 1 มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือ มัสยิดตะโละมาเนาะ หนึ่งในสถาปัตยกรรมมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายู ผู้สร้างมัสยิดที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในแหลมมลายูแห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2167 นับเนื่องถึงปีปัจจุบัน 2564 มีอายุรวม 397 ปี คือ วันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี แรกสร้างมีลักษณะเป็นเพียงหลังคามุงใบลานแบบเรียบง่าย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา หลักฐานสำคัญที่น่าสนใจคือ ครั้งหนึ่งบริเวณชุมชนข้างเคียงเคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือ มีชื่อเสียงขจรกระจายไกล และสิ่งโดดเด่นประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันเสมอของมัสยิดแห่งนี้ คือลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไป ด้วยเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู ได้รับการออกแบบอย่างลงตัว เหนือหลังคามีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง กลายเป็นส่วนเด่นสุดของอาคาร หออาซานหรือที่ใช้สำหรับประกาศเรียกคนมาละหมาด มีลักษณะเป็นเก๋งจีนตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ สลับลวดลายจีนอย่างกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบัน ชาวบ้านตะโละมาเนาะ ยังคงใช้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจอยู่เป็นประจำ โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น หากต้องการเข้าชมภายใน ต้องได้รับอนุญาตจากอิหม่ามประจำหมู่บ้าน บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลูโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส https://goo.gl/maps/25hsfSAHSVW2MCbY9 เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. 0 7352 2411 2 ขนมอาเก๊าะ – เจ้ายะกัง บาโง มรดกขนมพื้นบ้านมลายู จากบรรพบุรุษสู่ทายาทรุ่นใหม่ “ครอบครัวของเราทำขนมอาเก๊าะมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แม้จะมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว จึงตั้งใจสานต่อสืบทอดมาถึงคนรุ่นใหม่ คือรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน” เมาะจิ สเปีย ผู้อาวุโสจากร้านอาเกาะ ฮัจญะห์ ยามีล๊ะ ยะกัง เจ้าเก่า บอกเล่าเรื่องการสืบทอดวิชาทำขนมโบราณในพื้นที่ชายแดนใต้ ขึ้นชื่อในลิสต์ลำดับต้น ๆ ของขนมช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ลูกค้าโทรศัพท์สั่งจองกันข้ามวัน ใครไม่จองก่อน รับรองอดแน่นอน อาเก๊าะ คือขนมโบราณชนิดหนึ่ง เป็นที่นิยมกันมากในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สันนิษฐานว่าชื่อนี้อาจเพี้ยนมาจากคำภาษามลายูว่า อาเก๊ะ ที่แปลว่า ยกขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะสะท้อนถึงกรรมวิธีการผลิตที่ต้องยกไฟที่วางอังไว้ข้างบนออกทุกครั้งเมื่อขนมสุก ด้วยการผิงไฟบนล่างด้วยเชื้อไฟจากกาบมะพร้าวให้ความร้อนทั่วถึง เห็นควันลอยโขมงอยู่รอบบริเวณ และถึงแม้เวลาจะผ่านไป บรรดาแม่ค้าที่ทำขนมอาเก๊าะก็ยังคงใช้วิธีแบบดั้งเดิม เพราะเป็นที่มาของกลิ่นหอมเย้ายวนชวนให้ลอง อาเก๊าะที่สุกได้ที่แล้วจะมีลักษณะเหมือนคัสตาร์ดหรือขนมหม้อแกงเนื้อแน่น กลิ่นหอม รูปทรงรีและแบน แต่ละร้านมีสูตรการทำแตกต่างกันไป เพื่อทำให้ขนมอาเก๊าะมีเนื้อและรสแตกต่างกันไป กระทั่งทุกวันนี้ขนมอาเก๊าะ ยะกัง เป็นที่รู้จักและมีออเดอร์จำนวนมาก ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน มียอดสั่งถึงวันละ 2,000 – 3,000 ลูก ถึงขั้นต้องเร่งการผลิต ผลัดเวรทำทั้งวันทั้งคืน บ้านบาโง ชุมชนยะกัง 1 ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส https://bit.ly/3rELv7l เปิดทุกวัน ประมาณ 09.00 – 17.00 น. 08 1599 2010 3 ภัตตาคารมังกรทอง ร้านอาหารเก่าแก่สะท้อนจีนวิถี แต่มีเมนูสมานฉันท์ ไทย จีน และปักษ์ใต้ ร้านอาหารไทย-จีนชื่อเสียงในระดับต้น ๆ อยู่คู่เมืองนรามายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จากบ้านอยู่อาศัยปรับปรุงกลายเป็นร้านอาหารชื่อดังสไตล์จีนร่วมสมัย ให้บริการแบบอบอุ่นเป็นกันเอง ที่นี่คือร้านอาหารจีนที่ได้รับการยอมรับว่ารสชาติดีที่สุดในนราธิวาส เน้นหนักอาหารประเภทปลา กุ้ง เมนูเด็ด เช่น ขนมจีนแกงไตปลาปักษ์ใต้ มีไข่ต้มทานประกอบ แกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว แกงไตปลา เป็ดกรอบ สลัดกุ้งทอด ปลาสำลีทอด ไก่สับเบตง ยำผักกูด ผัดสะตอกุ้งสด หรือปลากุเลาตากใบ และปลาหมอหยองแดดเดียวทอด ป้ามะลิ หรือ คุณมะลิวัลย์ คือผู้ริเริ่มสร้างภัตตาคารมังกรทอง