พระนคร Walking ส่องตึกเก่าย่านสามแพร่ง เดินเลาะเลียบถนนตะนาว ✨
สามแพร่ง ย่านชุมชนเก่าแก่บริเวณถนนตะนาว ในเขตพระนคร กรุงเทพฯ ในอดีต เป็นกลุ่มวังที่ประทับของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ วังกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ และวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดทางผ่านกลางพื้นที่กลุ่มวังนี้ เพื่อเชื่อมถนนอัษฎางค์กับถนนตะนาว จนเกิดเป็นทางสามแพร่ง และตั้งชื่อถนนในย่านนี้ตามพระนามเจ้าของวัง คือ ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งภูธร
เลียบถนนตะนาว เลาะไปตามซอยต่าง ๆ มีตึกรามบ้านช่องมากมาย เป็นทั้งแหล่งทำมาค้าขาย ที่พักอาศัย และที่ดินทรัพย์สินของเชื้อพระวงศ์ในสมัยนั้น
วันเวลาผ่านไป อาคารเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และยังคงมีอาคารดั้งเดิมที่ซ่อนตัวท่ามกลางชุมชน วันนี้ จะพาเพื่อน ๆ ไปเดินชมตึกเก่า ชี้พิกัดร้านอาหาร เพราะในย่านนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมร้านอร่อยอีกย่านหนึ่งในพระนครเลยล่ะ 😋
เส้นทางเดินเที่ยวลัดเลาะในทริปนี้ บัดดี้จะพาเพื่อน ๆ เดินทางโดยขนส่งสาธารณะแบบง่าย ๆ โดยรถไฟใต้ดิน MRT มาที่สถานีสามยอด
จากนั้นเดินเท้า มุ่งหน้าไปทางแยกสี่กั๊กพระยาศรี เลี้ยวขวาเข้าถนนเฟื่องนคร เดินตรงไปเรื่อย ๆ ก็จะมาถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนตะนาว
- พิกัดจุดชมย่านสามแพร่ง – ถนนตะนาว
- The Knight House Bangkok (เดอะ ไนท์เฮ้าส์)
- สุขุมาลอนามัย
- ข้าวเหนียวมะม่วง ก.พานิช
- วังวรวรรณ โรงเรียนตะละภัฏศึกษา
- ซุ้มประตูวังสรรพศาสตร์สุภกิจ
- ศาลเจ้าพ่อเสือ
- The Tanao Cafe Bar (เดอะ ตะนาว คาเฟ่ บาร์)
หากมาตามแผนที่ที่แนะนำไว้ เพื่อน ๆ จะถึงที่แพร่งภูธรเป็นจุดแรก สามารถเดินเข้าได้ 2 ทางคือทางเข้าฝั่งถนนตะนาว และทางเข้าฝั่งถนนบำรุงเมือง
เราจะพาเพื่อน ๆ มาเดินเข้าฝั่งถนนบำรุงเมืองเพื่อชม เดอะไนท์เฮ้าส์ (The Knight House) อาคารสีเหลืองหลังคาจั่ว ลายฉลุแบบเรือนขนมปังขิง ผสมผสานศิลปะแบบโคโลเนียลเข้าด้วยกัน
ในอดีตบนที่ดินผืนนี้เป็นตึกแถวของเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 จากนั้นก็เปลี่ยนผู้ถือครองและเปิดเป็นร้าน “ไนท์ บาร์เบอร์” ที่อยู่คู่แพร่งภูธรมาราว ๆ 30 ปี ก่อนจะกลายมาเป็นเดอะไนท์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่และมีความสวยอย่างมาก
ที่นี่เปิดให้บริการที่พักและคาเฟ่ หากเพื่อน ๆ มาเที่ยวชมแถวนี้ อย่าลืมแวะมาที่นี่กันนะ
- 21 ถนนบำรุงเมือง แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น.
- 06 4646 9464
- https://goo.gl/maps/wGFqeq1EZ2wNEfva7
ฝั่งขวามือที่เรากำลังจะเดินเข้าไปในซอย มีป้ายชื่อถนนแพร่งภูธร ตัดกับอาคารสีเหลือง เหมาะจะเป็นมุมเช็กอินถ่ายรูปปัง ๆ
แพร่งภูธร หรือในอดีตคือ “วังสะพานช้างโรงสี” ซึ่งเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ประทับที่วัง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งต่อมาเมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว และยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้
เดินจากปากซอยตรงเข้ามาเพียงแค่นิดเดียว มองเห็น อาคารสีเหลือง 2 ชั้น ครอบด้วยหลังคาสีแดงดูสะดุดตา
ที่นี่คือ “สุขุมาลอนามัย” สถานีกาชาดที่ 2 ที่ตั้งอยู่กลางแพร่งภูธร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
เดิมที อาคารสุขุมาลอนามัยเป็นตึกสีขาว ภายหลังมีการซ่อมแซมและทาสีใหม่จนเป็นที่โดดเด่นท่ามกลางตึกแถวในย่านนี้
- ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- https://goo.gl/maps/rhpXDXJcDd1ESeL37
เพื่อน ๆ บางคน โดยเฉพาะเพื่อน ๆ สายซีรีส์เกาหลีอาจจะคุ้น ๆ มุมภาพนี้ จริง ๆ แล้วตรงนี้เคยเป็นจุดที่มีถ่ายทำซีรีส์เกาหลีแนวคอมเมดี้ ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นฉากที่พระเอก นางเอก และพระรอง กางร่มท่ามกลางสายฝนนั่นเอง
ตึกแถวในบริเวณนี้ รวมทั้งตึกแถวในซอยแพร่งนราจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปผสมจีนตั้งเรียงยาวทั้ง 2 ฝั่ง
ตรงหน้านี้คือ 1905 เฮอริเทจ คอร์นเนอร์ (1905 Heritage Corner) เป็นลักซูรี่เกสต์เฮาส์ขนาด 3 ห้อง ที่รีโนเวทมาจากตึกเก่าอย่างประณีต อยู่ใกล้ ๆ กับสุขุมาลอนามัยเพียงไม่กี่สิบก้าว จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ เจ้าของเกสต์เฮาส์พบว่าที่นี่เคยเป็นโรงน้ำชามาก่อน จึงรีโนเวทและตกแต่งที่พักแห่งนี้ในคอนเซ็ปต์โรงน้ำชา มีกลิ่นอายความเป็นจีนผสมกับความเป็นโคโลเนียลตามยุคสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างลงตัว
นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีร้านกาแฟและร้านขายงานคราฟต์ท้องถิ่นให้เราได้ไปชอปปิงเพลิน ๆ อีกด้วย
- เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-21.00 น. และวันเสาร์ 10.00-21.00 น. (เวลาเฉพาะส่วนของคาเฟ่)
- 09 0989 3107
- 66,68 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- https://goo.gl/maps/Jj9SErEa77TUAmL56
เดินมาจนสุดทางแพร่งภูธร บรรจบกับถนนตะนาว ฝั่งตรงข้ามเป็นตึกเก่าเช่นกัน แม้ว่าจะดูหน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่ก็มีลวดลายที่แตกต่างกันไป
2 คูหาในตึกแถวหลังนี้ คือที่ตั้งของร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าดังในย่านพระนคร “ก.พานิช” ที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 แถมยังได้รับรางวัลการันตีความอร่อยมามากมาย รวมทั้งรางวัลบิบ กรูมองต์ ของมิชลิน รวมถึงในปีนี้ด้วย
แค่เห็นหน้าตาข้าวเหนียวมะม่วงกล่องนี้ ก็เดาได้เลยว่าต้องอร่อย หวานฉ่ำแน่ ๆ ใครมาย่านนี้ อย่าลืมมาแวะซื้อที่ ก.พานิช กันนะ
- 443 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- เปิดทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
- 0 2221 3554
- https://goo.gl/maps/8hJP6hF2v2MfozDZ7
เดินชมกันต่อที่แพร่งนรา นอกจากอาคารตึกแถวสีเหลืองที่ตั้งเรียงทั้งสองฝั่งแล้ว ยังมีอาคารเก่าที่มีรูปแบบสวยงามไม่แพ้กัน
ที่นี่คือ “โรงเรียนตะละภัฏศึกษา” ในอดีตคือ “วังวรวรรณ” ที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้ทรงปรีชาสามารถมากในด้านการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นิพนธ์บทละครร้อง และสร้างโรงละครปรีดาลัยซึ่งเป็นโรงละครร้องแห่งแรกของไทยขึ้นภายในวังของพระองค์ท่าน
ลักษณะอาคารเป็นกึ่งปูนกึ่งไม้ มีระเบียงไม้ฉลุลายอย่างสวยงาม
โรงเรียนแห่งนี้ปิดทำการไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 แม้ปัจจุบันจะชมได้แค่ภายนอกเท่านั้น แต่ก็คุ้มค่าแก่การมาชม
- ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- https://goo.gl/maps/rNvCLjosEH5Wv7yM6
เพลิดเพลินกับศิลปะผ่านสถาปัตยกรรมกันมาพอสมควรแล้ว บัดดี้ขอปักหมุดร้านอร่อยในย่านนี้ให้เพื่อน ๆ ได้ลิสต์ไว้ มีทั้งคาวหวาน คาเฟ่น่านั่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย
- แพร่งสรรพศาสตร์และศาลเจ้าพ่อเสือ
- Piccolo Kafe คาเฟ่สไตล์ลอฟต์
- กุ้ยช่ายคุณแม่ ศาลเจ้าพ่อเสือ
- ราดหน้ายอดผักสูตร 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือ
- ข้าวแกงประตูแพร่ง
- เผือกหิมะเจ๊นี
- ไก่ย่างโบราณ ร้านอาหารอีสาน
- เหลี่ยมนมสด ขนมปังและเครื่องดื่ม
- แพร่งนรา
- บัวลอยเกตุแก้ว
- ขนมเบื้องแพร่งนรา
- ปาท่องโก๋เสวย
- ก๋วยเตี๋ยวปลานายมักเจ้าเก่า
- ร้านลุงแดงขนมหวาน
- ลูกชิ้นหมู่แพร่งนรา
- แพร่งภูธร
- ต้มยำมันสมองหมูเจ้าเก่า (สูตรคนจีน)
- ภูธรบาร์ ขนมปังปิ้งเตาถ่าน
- นัฐพรไอศครีมกะทิสด
- ชิกัจฉา กาแฟสด
- เกาเหลาสมองหมู.ร้านไทยทำ
- อุดมโภชนา ข้าวหมูแดงหมูกรอบ และเปาะเปี๊ยะสด
ใครมีร้านเด็ดในย่านนี้ คอมเมนต์มาบอกได้เลยนะ
เดินเลียบถนนตะนาวมาจนถึงแพร่งสรรพศาสตร์ มองเห็นซุ้มประตูตั้งอยู่ด้านหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “วังสรรพสาตรศุภกิจ” ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
ซุ้มประตูนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรป หน้าบันเจาะเป็นวงกลม มีประติมากรรมรูปผู้หญิงในท่ายืนถือคบไฟ รอบ ๆ ประดับกระจกสี
ต่อมาภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนหมด เหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ยังคงความสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ชม และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของย่านสามแพร่ง
- ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- https://goo.gl/maps/84r4e22PVeuppa228
เดินถัดจากซุ้มประตูไปไม่ไกล คือ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” มาถึงย่านนี้ สายมูห้ามพลาด
ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ผู้คนต่างมากราบไหว้ขอพร เสริมดวงบารมี รวมถึงสะเดาะเคราะห์แก้ปีชงต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่เพิ่งเคยไปครั้งแรก หรือไม่คุ้นชินกับการไหว้ศาลเจ้าก็ไม่ต้องห่วงจ้า ด้านในมีเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าบอกขั้นตอนอย่างละเอียด
ด้านในห้ามถ่ายภาพ
- 468 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น.
- https://goo.gl/maps/r1VnBaxTgFN2
มาถึงพิกัดสุดท้ายของทริปนี้ พาเพื่อน ๆ มานั่งพักคลายร้อน พร้อมสั่งอาหารและเครื่องดื่มเย็น ๆ ให้ชื่นใจ
เดอะ ตะนาว คาเฟ่ บาร์ (The Tanao Cafe Bar) เป็นร้านอาหารและคาเฟ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านถนนตะนาว ตั้งอยู่ภายในสำนักงานบริพัตรซึ่งบริหารทรัพย์สินของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แห่งวังบางขุนพรหม
ตัวร้าน ดัดแปลงพื้นที่บางส่วนมาจากอาคารบ้านไม้เก่าอายุหลายสิบปี
เดินเข้ามาด้านในตัวร้าน ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนอันร่มรื่น มีมุมให้เลือกนั่งทั้งโซนด้านในห้องกระจก และโซนด้านนอก มีต้นไม้ให้ร่มเงา
ที่นี่ มีอาหารหลากชนิด ทั้งอาหารไทยโบราณ อาหารสไตล์ตะวันตก ของหวาน และเครื่องดื่มให้บริการอีกมากมาย
ไม่ใช่อาหารและขนมที่หน้าตาดูดี แต่เครื่องดื่มนั้น ทางร้านก็ใส่ใจรายละเอียดและเสิร์ฟอย่างสวยงาม ส่วนรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง หากมีโอกาส บัดดี้จะกลับมาอีกแน่นอน
เดอะ ตะนาว คาเฟ่ บาร์
- 237 ถนนตะนาว แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- เปิดทุกวัน เวลา 08.00-22.00 น.
- 06 5541 9178
- https://goo.gl/maps/cTWA5cvLXUvPhQ3G9