ในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้านแบบนี้ หลายคนคงรู้สึกเหมือนแอดว่าในแต่ละวัน เรามีขยะที่ต้องจัดการค่อนข้างเยอะทีเดียว แล้วเราจะเริ่มจากตรงไหนดี
แอดเชื่อว่า หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินแนวคิด 3Rs ที่เป็นแนวทางการลดปริมาณขยะมาบ้างแล้ว ซึ่ง 3Rs นี้ก็คือ Reduce, Reuse, Recycle นั่นเอง แอดว่าเผลอ ๆ เพื่อน ๆ ก็คงทำกันไปบ้างแล้ว วันนี้ แอดจะทบทวนและเสนอไอเดียเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราสามารถทำได้จากที่บ้านในช่วงสถานการณ์แบบนี้กันอีกครั้ง ลองมาอ่านกัน
แนวคิดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ซึ่งเป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยหลักการ 3Rs ได้แก่
- ✨ Reduce คือ ลดการใช้แบบไม่จำเป็น เพื่อช่วยลดปริมาณขยะลง โดยมีไอเดียดังนี้ ✨
- 1. ลดการสร้างขยะในที่ทำงาน
- ลดการใช้กระดาษในการจัดเก็บข้อมูล หันมาใช้ไฟล์อิเล็คโทรนิคส์
- เปลี่ยนวิธีการส่งเอกสารแบบดั้งเดิม มาเป็นการส่งทางอีเมล นอกจากจะลดขยะ ยังช่วยประหยัดเงิน ประหยัดเวลา แถมลดโอกาสในการเจอผู้คนในสถานการณ์แบบนี้ด้วย
- หากจำเป็นต้องพิมพ์งาน ลองเปลี่ยนระยะขอบบนเอกสาร Word เช่น เปลี่ยนระยะขอบหน้ากระดาษจาก 1.25 นิ้วเป็น 0.75 นิ้ว จะช่วยลดปริมาณกระดาษที่ใช้ลงได้
- ใช้กระดาษ 2 ด้าน
- 2. ลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน
- พกถุงผ้า หรือใช้ตะกร้าเมื่อออกไปซื้อของ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก
- ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้กระดาษทิชชู่
- หากสั่งอาหารจาก App กดไม่รับช้อนส้อมพลาสติก
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านรีฟิว (Refill Shop) เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์
- 1. ลดการสร้างขยะในที่ทำงาน
- ✨ Reuse คือ การใช้ซ้ำ เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุดและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีไอเดียดังนี้ ✨
- นำขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก มาใช้ซ้ำ
- เลือกใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จได้
- ดัดแปลงของใช้แล้วให้เกิดประโยชน์ เช่น นำขวดพลาสติกไปทำกระถางต้นไม้ นำกล่องอาหารมาใส่ของจุกจิก ฯลฯ
- นำเสื้อผ้าเก่าไปบริจาค หรือดัดแปลงเป็นผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าถูพื้น หรืออื่น ๆ
- ✨ Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ ✨
- เช่น การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ หรือส่งต่อขยะเข้าสู่กระบวนการ Recycle อย่างเช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการผลิตซ้ำกลับมาเป็นกระดาษใหม่อีกครั้ง หรือนำขยะพลาสติกไปเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอีกครั้ง
- จุดสำคัญของกระบวนการนี้คือ การแยกขยะแต่ละประเภทให้ถูกต้อง เพื่อให้ผู้จัดการขยะในขั้นต่อไปสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปจะแยกได้ 4 ประเภท คือ
- ถังขยะมีพิษ (สีเทา ฝาแดง) เช่น กระป๋องสี สีสเปรย์ แบตเตอรี่ ยาฆ่าแมลง
- ถังขยะย่อยสลาย (สีเขียว) เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ ผัก
- ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) เช่น กระดาษ ขวดน้ำ แก้วน้ำ เศษเหล็ก
- ถังขยะมูลฝอยทั่วไป ที่ย่อยสลายไม่ได้ (สีฟ้า) เช่น โฟมเปื้อนเศษอาหาร ถุงขนม พลาสติกใส่อาหาร
- หากไม่มีถังขยะแยกประเภท เราก็สามารถใช้วิธีแยกถุงแทน
- นอกจากนี้ แอดมีข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทิ้งหน้ากากอนามัยมาฝาก ดังนี้
- รวบรวมและแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วลงในถุงพลาสติกหรือถุงซิปล็อค ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงถังขยะ
- หากทิ้งรวมในถุงดำ แปะโน้ตระบุสักนิด ว่าภายในมีหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อช่วยในการคัดแยกให้ถูกวิธีและป้องกันพนักงานเก็บขยะหยิบจับโดยไม่รู้ตัว