15 สิ่งต้องห้ามพลาด…ปัตตานี

Spread the love

“เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้”

ในอดีตปัตตานีเคยเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เคยเป็นที่แวะจอดเรือเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างพ่อค้าชาวอินเดียกับชาวจีนมาก่อน แต่เดิมชาวเมืองปัตตานีนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม

เมืองชายแดนใต้แห่งนี้นับว่ามีเสน่ห์น่าสนใจ ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ภาษา และอาหาร จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลงเหลือให้ได้ศึกษาเรียนรู้ รวมถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีพื้นที่เป็นป่าเขาและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวกว่า 170 กิโลเมตร จึงมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย

📌 ตามมาทำความรู้จัก 15 จุดเช็กอิน ที่ต้องห้ามพลาดของจังหวัดนี้กันในรีวิวค่ะ

1. มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี

สร้างในปี พ.ศ. 2497 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ จากทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเดินทอดยาวสู่อาคารมัสยิด สองข้างทางเดินมีการปลูกต้นปาล์มเพิ่มความร่มรื่น ตรงกลางด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำพุขนาดใหญ่ช่วยเสริมภูมิทัศน์ภายนอกของมัสยิดให้งดงามยิ่งขึ้น

อาคารมัสยิดมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของประเทศอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวารล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ถัดออกไปด้านข้างอาคารมีหออะซานอยู่ทั้งสองข้าง (หออะซาน คือ หอคอยที่ใช้สำหรับแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาละหมาด)

ภายในมัสยิดสร้างเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ด้านในห้องโถงมีมิมบัรทรงสูงและแคบตั้งอยู่ (มิมบัร คือ สถานที่สูงในมัสยิดลักษณะเป็นบันไดหลาย ๆ ขั้นให้เดินขึ้นสู่บัลลังก์สำหรับให้ผู้นำอ่านพระคัมภีร์) มัสยิดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

(การเที่ยวชมมัสยิด ควรสำรวมและแต่งกายสุภาพ)

📍 ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/if5sZpkjQ7MVWReB9

2. ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ศาลเจ้าเล่งจูเกียง)

ที่นี่เป็นศาลเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี มีต้นตระกูลคณานุรักษ์เป็นผู้สร้างและดูแล ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวแบบจีน แบ่งเป็นโถงกลาง ปีกซ้ายและปีกขวา ภายในศาลเจ้าประดิษฐานรูปแกะสลักของ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” จากกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ และ “โจวซือกง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย และเป็นองค์เทพประธานประจำศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าจีนอีกหลายองค์อยู่ภายในศาลด้วย

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในตัวเมืองปัตตานี มีพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้า และว่ายน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น.

📍 อยู่ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/oQQ8GH8mFhQeWYo87

3. มัสยิดกรือเซะ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนกรือเซะเคยเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานี และเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการค้าขาย สำหรับมัสยิดกรือเซะ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน มีอายุเก่าแก่มากกว่า 200 ปี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478 และมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยมา เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี

ลักษณะอาคารมัสยิดสร้างด้วยอิฐ เสาทรงกลม ประตูรูปโค้งแหลม ก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ผู้ออกแบบสร้างมัสยิด คือ ซัยคซอฟียุดดีน อัลอิสมอิมาส อูละมะอะ แห่งปอเนาะ มัสยิดกรือเซะยังคงเปิดใช้งานในการปฏิบัติศาสนกิจจนถึงปัจจุบัน

(การเที่ยวชมมัสยิด ควรสำรวมและแต่งกายสุภาพ)

📍 ริมทางหลวงหมายเลข 42 (ถนนสายปัตตานี-นราธิวาส) บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร
🌐https://maps.app.goo.gl/KigzHfJT26ECBFJKA

4. ชุมชนท่องเที่ยวบางปู

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นป่าชายเลนบริเวณปากอ่าวปัตตานี และมีลำคลองที่ไหลออกสู่อ่าวปัตตานี ได้แก่ คลองกอและ คลองกือเงาะ และคลองบางปู เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น โกงกาง แสมดำ ลำภูทะเล และโพธิ์ทะเล เป็นต้น

กิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชน ได้แก่ การล่องเรือชมป่าชายเลนและป่าโกงกาง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี บางช่วงของเส้นทางล่องเรือจะพบต้นโกงกางจากสองฝั่งคลองทอดตัวโค้งเข้าหากันเป็นอุโมงค์โกงกาง มีความยาวประมาณ 700 เมตร ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และยังมีนกน้ำนานาชนิดให้ได้พบเจอตลอดเส้นทาง รวมทั้งทัศนียภาพที่สวยงามของอ่าวปัตตานี

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 08 1805 8761, 08 6491 2556

การเดินทาง : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 8 กิโลเมตร และเลี้ยวเข้าซอยทางซ้ายมือก่อนถึงโรงเรียนบ้านบือเจาะ ตรงไปจนพบทางแยก ให้เลี้ยวขวาและตรงไปจนถึงโรงเรียนบ้านบางปู จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยแรกถัดจากหน้าโรงเรียน ตรงไปจนสุดทางจะพบท่าเรือของชุมชนท่องเที่ยวบางปู ระยะทางรวมจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 11 กิโลเมตร

📍 ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/s1HNFrxkDsRwwFEm6

5. แหลมตาชีและหาดตะโละกาโปร์

“แหลมตาซี” ลักษณะเป็นชายหาดที่มีปลายแหลมโค้งคล้ายรูปตัว C เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอนจะงอย โดยปลายแหลมจะงอกเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นแหลมกั้นอ่าวปัตตานี (ทะเลใน) และอ่าวไทย (ทะเลนอก)

บริเวณด้านในของแหลมฝั่งที่หันหน้าเข้าหาแผ่นดินใหญ่ เป็นที่ตั้งของชุมชนมากมาย เช่น บ้านดาโต๊ะ บ้านตะโละสะมิแล บ้านบูดี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก และมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลากะพง หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นต้น และบริเวณด้านนอกของแหลมฝั่งที่หันหน้าออกทะเลกว้าง มีที่พักเอกชนให้บริการหลายแห่ง ปลายสุดของแหลมตาซีสามารถชมทัศนียภาพของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ในจุดเดียวกัน

“หาดตะโละกาโปร์” อยู่ทางใต้ของแหลมตาซี ลักษณะชายหาดทอดยาว มีต้นสนทะเลและต้นมะพร้าวขึ้นขนานไปตามแนวชายหาดและถนน มีเรือกอและของชาวบ้านในพื้นที่จอดเรียงราย ทั้งยังมีที่พักและร้านอาหารตั้งกระจายอยู่ตลอดแนวหาด เหมาะแก่การเดินเล่น ปั่นจักรยาน พักผ่อนชมธรรมชาติ

การเดินทางไปแหลมตาชีไปได้ 2 ทาง คือ

ทางน้ำ : นั่งเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชี หรือใช้บริการเรือจากชุมชนท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอ่าวปัตตานี เช่น ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา ไปยังแหลมตาชี ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ทางบก : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ปน.2062 (ซอยทางเข้าที่ทำการไปรษณีย์ยะหริ่ง) ตรงไปและข้ามสะพานข้ามคลองยามู ผ่านตลาดและเลี้ยวซ้ายไปทางหาดตะโละกาโปร์ ตรงไปจนสุดทางคือแหลมตาซี ระยะทางรวมจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 43 กิโลเมตร

📍 ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/cQZhakV2fQSWeQeH9

6. หาดแฆแฆ

คำว่า “แฆแฆ” เป็นภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) มีความหมายว่า อึกทึกครึกโครม เนื่องมาจากในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นท่าเทียบเรือของพ่อค้าที่มาจากอินโดนีเซีย ทำให้มีความคึกคักและจอแจเป็นพิเศษ

ลักษณะเด่นของหาดแฆแฆ เป็นชายหาดที่มีโขดหินแกรนิตขนาดใหญ่กระจายอยู่ตามแนวหาด ดูแปลกตาสวยงาม หาดทรายสีทองตัดกับสีน้ำทะเล มีต้นไม้ริมหาดบางช่วงให้ร่มเงาหลบแดด เหมาะกับการปูเสื่อปิกนิก มีร้านอาหารให้บริการอยู่บ้าง และมีเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีทางเดินขึ้นไป สามารถชมทัศนียภาพของหาดแฆแฆและท้องทะเลเบื้องหน้าได้อย่างกว้างไกล

นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของหาดแฆแฆยังมีชายหาดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น หาดราชรักษ์ หาดมะรวด หาดปะนาเระ เป็นต้น

การเดินทาง : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ประมาณ 22 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4075 ตรงไปจนสุดทางจะเป็นทางแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4061 ไปตัวอำเภอปานาเระ จนถึงวงเวียนหอนาฬิกาปานาเระ ให้เลี้ยวขวาหลวงหมายเลข 4157 ตรงไปประมาณ 7 กิโลเมตร จะมีทางให้เลี้ยวซ้ายไปอีกราว 500 เมตร ถึงหาดแฆแฆ รวมระยะทางจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 42 กิโลเมตร

📍 บ้านแฆแฆ ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/hVqJ8RtfZA3zjCST7

7. วังพิพิธภักดี

ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของ “พระพิพิธภักดี” (ตนกูมุกดา อับดุลบุตร) บุตรชายคนโตของเจ้าเมืองยะหริ่ง (พระพิพิธเสนามาตย์) กับ “ตนกูซง” หลานสาวของเจ้าเมืองสายบุรี (พระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี) กล่าวกันว่า ในอดีตเมื่อพระพิพิธภักดีไปรักใคร่ชอบพอกับตนกูซง ฝ่ายพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากขณะนั้นเมืองยะหริ่งกับเมืองสายบุรีไม่ลงรอยกัน แต่ในที่สุดพระพิพิธภักดีก็ได้แต่งงานกับตนกูซง และสร้างวังพิพิธภักดีขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับวังของเจ้าเมืองสายบุรี

วังพิพิธภักดีเป็นอาคารไม้สักสองชั้น สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะชวากับศิลปะตะวันตก มีหน้ามุขและผนังกั้นห้องโค้งแบบตะวันตก ลูกกรงบันไดและช่องลมลายดอกไม้แบบชวา ก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวจีน จากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และรูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างของวัง สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านต่าง ๆ ของเมืองสายบุรีในอดีตได้เป็นอย่างดี เพราะเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรป วังพิพิธภักดีจึงถูกสร้างให้มีสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นและแบบยุโรปผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

ปัจจุบันวังแห่งนี้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์เพราะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง สามารถขออนุญาตผู้ดูแลเข้าไปเดินชมข้างในวังได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

📍 บริเวณหัวมุมถนน สามแยกหอนาฬิกา จุดบรรจบระหว่างถนนสุริยะและถนนกะลาพอ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/bGqDbqZxA2QY34cp6

8. ย่านเมืองเก่าสายบุรี

“สายบุรี” เมืองท่าเก่าแก่และย่านการค้าโบราณปลายด้ามขวานไทย เป็นดินแดนที่ชาวมุสลิมและชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จนเกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเล็ก ๆ แม้ปัจจุบันสายบุรีจะมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี แต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนี้ยังคงฉายภาพชัดผ่านสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างและวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่

การเที่ยวชมย่านเมืองเก่าสายบุรีครอบคลุมพื้นที่ถนนสายบุรีและถนนท่าเสด็จในเขตเทศบาลเมือง แนะนำว่าควรใช้วิธีเดินหรือปั่นจักรยานเที่ยวชม สิ่งที่น่าสนใจและชวนให้สังเกตุคือ อาคารไม้เก่าแก่ที่ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างไม้ตะเคียน แนวโครงหลังคาและทางเดินระหว่างอาคารสร้างตามแบบมลายู นอกจากนี้หากต้องการสัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของคนที่นี่อย่างใกล้ชิด แนะนำว่าให้มาเดินเที่ยว “ตลาดสดตะลุบัน” ที่จะคึกคักในยามเช้า เป็นแหล่งรวมพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านท้องถิ่นที่มาจับจ่ายใช้สอยและพบปะกัน

📍 ถนนสายบุรีและถนนท่าเด็จ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
🌐https://maps.app.goo.gl/s9hxbFA694oBZ54dA

9. หาดวาสุกรีและปากน้ำสายบุรี

หาดวาสุกรีเป็นอีกหนึ่งชายหาดที่ได้รับความนิยมจากผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ลักษณะเป็นชายหาดทอดยาว มีต้นสนทะเลและต้นมะพร้าวขึ้นเรียงรายตามแนวหาด มีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา ในช่วงเวลาเย็นยามแดดร่มลมตก จะมีผู้คนนิยมมาพักผ่อน เดินเล่น ปั่นจักรยาน วิ่งออกกำลังกาย และรับประทานอาหารทะเลตามร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใกล้ชายหาด

ทางตอนเหนือของหาดคือปากแม่น้ำสายบุรีที่ไหลออกสู่ทะเล บริเวณนั้นจะพบเห็นเรือกอและกับเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจอดเรียงราย พร้อมด้วยภาพวิถีชีวิต

📍 ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
🌐https://maps.app.goo.gl/FPy1zsam4wZYEe2B9

10. หาดบ้านกระจูด

ลักษณะเป็นชายหาดยาว อยู่ถัดจากหาดวาสุกรีลงมาทางใต้ มีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งกระจายกันห่าง ๆ สลับกับสวนมะพร้าวและทุ่งหญ้ากว้าง ชาวบ้านมักจะนำวัวและแพะที่เลี้ยงไว้มาเล็มหญ้าตามทุ่งหญ้า หาดนี้มีถนนลาดยางเป็นทางตรงหลายกิโลเมตร เหมาะกับการขับรถเที่ยวหรือปั่นจักรยานเลียบเลาะไปตามแนวหาด ชมธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่

📍 ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
🌐https://maps.app.goo.gl/tL4aTKFe7nxBc3E47

11. วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)

วัดเก่าแก่ที่สร้างมากว่า 300 ปี ภายในวัดมีพระธาตุเจดีย์ มีความสูงประมาณ 59 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ 5 ยอด มีเจดีย์ยอดใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง บนยอดเจดีย์มีฉัตร 7 ชั้น สร้างจากทองคำหนัก 100 บาท ประดับด้วยทับทิม ภายในพระธาตุเจดีย์เป็นห้องโถง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และมีระเบียงเป็นวิหารคดล้อมรอบองค์พระเจดีย์

ถัดมาคือพระวิหารของวัด ประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่ทวดขนาดเท่าองค์จริง หลวงปู่ทวดเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีเมตตาธรรมสูง และเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ จนกระทั่งอาหารและน้ำดื่มตกลงทะเล ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก หลวงปู่ทวดจึงได้แสดงเมตตาหย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลายเป็นน้ำจืดและดื่มกินได้ ทำให้เป็นที่อัศจรรย์ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่รู้จักทั่วไป และเป็นที่รู้จักกันในตำนาน “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ต่อมาหลวงปู่ทวดได้มรณภาพที่ประเทศมาเลเซีย และได้มีการนำร่างสังขารของท่านกลับมายังวัดช้างให้

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระอุโบสถ สถูป มณฑป และหอระฆังที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม ทางวัดจะมีการจัดงานสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวด ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.

การเดินทาง : จากตัวเมืองปัตตานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนเทศบาลนาประดู่และศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ไปจนถึงสามแยก จะพบซุ้มประตูเข้าวัดช้างให้ทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายและผ่านซุ้มประตูเข้าไป 800 เมตร ระยะทางรวมจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร

📍 บริเวณสถานีรถไฟวัดช้างให้ บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/G5Dpbo4MniywD9tG9

12. ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว

เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการส่งเสริมการท่องเที่ยว จนได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award 2007) จาก ททท. มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่

– นั่งรถจี๊ปโบราณท่องเที่ยวธรรมชาติในชุมชนบ้านทรายขาว

– ชมทะเลหมอกยามเช้า ณ จุดชมวิวเขารังเกียบ

– เดินป่าพิชิตยอดเขาสันกาลาคีรี

– พักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตกทรายขาว

– เรียนรู้วิธีการทอผ้าลายจวนตานี

ในชุมชนมีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้บริการนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับ และแบบค้างคืน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงให้ได้อุดหนุน เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มแขกและกล้วย เป็นต้น

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 08 9737 9553

การเดินทาง : จากตัวอำเภอโคกโพธิ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 (โคกโพธิ์-ยะลา) ประมาณ 17 กิโลเมตร จนถึงสามแยกตำบลนาประดู่ ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบท ปน.3060 ตรงไปประมาณ 6 กิโลเมตร ที่ทำการชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว อยู่ริมถนนก่อนถึงน้ำตกทรายขาว 1 กิโลเมตร

📍 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
🌐https://goo.gl/maps/pFAv1kRs2favKMHx7

13. น้ำตกทรายขาว

น้ำตกมีทั้งหมด 10 ชั้น แวดล้อมไปด้วยป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ สายน้ำไหลมาจากยอดเขานางจันทร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกาลาคีรี สายน้ำไหลตกจากหน้าผาสูงประมาณ 40 เมตร และไหลตามลำธารลดหลั่นเป็นชั้น ๆ เกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ จากนั้นสายน้ำจะไหลไปรวมกับลำธารเส้นอื่น ๆ เช่น ห้วยโผงโผง ห้วยบอน ห้วยแกแดะ ฯลฯ รวมกันเป็นแม่น้ำเทพา

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท อุทยานฯ มีบ้านพักรวมถึงจุดกางเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 0 7342 0295 หรือเว็บไซต์ www.dnp.go.th

การเดินทาง : จากตัวอำเภอโคกโพธิ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 (โคกโพธิ์-ยะลา) ประมาณ 17 กิโลเมตร จนถึงสามแยกตำบลนาประดู่ ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบท ปน.3060 ตรงไปประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงน้ำตกทรายขาว

📍 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี🌐https://goo.gl/maps/JRF14fwffZrCkb6w8

14. อาหารถิ่น

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาหารถิ่นและเมนูที่มีขายตามร้านอาหารทั่วไปจึงมักเป็นอาหารฮาลาล เช่น โรตีมะตะบะ ข้าวยำ แกงใต้ที่มักใช้น้ำบูดูและเครื่องแกงรสจัดจ้านเป็นวัตถุดิบ

15. สินค้าพื้นเมืองและของฝาก

จังหวัดปัตตานีมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและสินค้าที่ระลึกหลากหลาย เช่น อาหารทะเลตากแห้ง กือโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลา) ลูกหยีกวน น้ำบูดู ผ้าจวนตานี ผ้าบาติก ว่าวเบอร์อามัส (ว่าวทองแห่งมลายู) เป็นต้น

Scroll to Top