เที่ยวย้อมใจ ไปสกลนคร: ครามรุณณี ย้อมครามด้วยใจ ตอนที่ 1

Spread the love

มีคนบอกว่าเที่ยวอีสานให้ลองมาหน้าฝน จะได้ชุ่มฉ่ำกับสายฝน ทุ่งนา กลิ่นดิน และสายหมอก จะว่าไปฉันก็กำลังอยากเปลี่ยนที่หย่อนตัว นอนเล่นซักคืนสองคืนพอดี แต่จะไปที่ไหนดีน้าาา… ตัดสินใจได้ เช้าตรู่วันนั้น ฉันเลยเช็คอินขึ้นเครื่อง มุ่งหน้าสู่ จังหวัดสกลนคร ถึงจะเคยมาเยือนถิ่นผ้าย้อมครามหลายครั้ง แต่คราวนี้ตั้งใจจะมากินนอนข้างหม้อย้อมให้ฟินแบบลึกซึ้ง กันไปเลย

หม้อครามในตำนาน

ฉันแบกเป้ลงจากเครื่องมาไม่นาน พี่รุณณี เจ้าของแบรนด์ “ครามรุณณี” ก็ยิ้มกว้าง โบกมือให้กระโดดขึ้นรถไปด้วยกัน แรกๆ เราก็ทักทายกันเขินๆ แต่ด้วยอัธยาศัยที่เป็นกันเองสุดๆของพี่รุณณี ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจมากๆ พร้อมกับความตื่นเต้นที่จะได้ค้นพบพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่รออยู่ไม่ไกลที่บ้านหนองไผ่ อ.พรรณานิคม

ระหว่างทาง พี่รุณณีพาเลี้ยวเข้าหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ บ้านตอเรือ เพื่อพาไปทำความรู้จักกับคุณยายวารี หนึ่งในตำนานหม้อครามยุคแรกๆ ของจ.สกลนคร ซึ่งป้าวารีก็เล่าให้ฟังว่าแกเริ่มตั้งหม้อครามมาตั้งแต่อายุ 15 ถึงวันนี้อายุ 75 ปี ก็ต้องเรียกว่าเกินครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้วที่ป้าวารียังคงย้อมครามและทอผ้าจำหน่ายเป็นอาชีพในชื่อแบรนด์ โฮมครามวารี

ป้าเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนชาวบ้านนิยมใส่ผ้าย้อมครามออกไปทำไร่ทำนา เพราะนอกจากสีเข้มเกือบดำที่ดูไม่เลอะเทอะง่ายแล้ว ยังช่วยกันแดด ใส่แล้วไม่ร้อน ส่วนต้นครามและฝ้ายก็ปลูกกันอยู่หัวไร่ปลายนา เรียกว่าย้อมแจกกันมากกว่าขาย ยุคแรกที่เริ่มย้อมขายก็ไม่ได้มีมูลค่าสูงเหมือนในปัจจุบัน

คุณยายวารียังพาไปชมห้องทำงานที่เรียงรายไปด้วยหม้อคราม ราวตากเส้นฝ้ายที่ย้อมครามเอาไว้ และกี่ทอผ้าที่คุณยายนั่งลงพุ่งเส้นฝ้าย สาธิตทอผ้าให้ชมอย่างชำนาญพร้อมบอกว่า “ยายออกแบบลายเอง ผืนนี้เอาไปตัดกางเกงสวยเลยนะ”

ส่วนฉันแอบมองมือคุณยายที่ทุกนิ้วเคลือบด้วยสีครามจางๆ นี่สินะมือหม้อครามในตำนาน

สู่บ้านคราม

ฝนยังปรอยปรายลงมาไม่หยุดเมื่อเรามาถึงบ้านพี่รุณณี ไม่ต้องมีพิธีรีตรอง พี่รุณณีจัดการปูเสื่อกับพื้นบ้านพร้อมจัดสำรับกับข้าวง่ายๆ มีปลาทอด ไข่เจียว และน้ำจิ้มแจ่วปลาร้า ขาดไม่ได้คือกระติ๊บข้าวเหนียวใบใหญ่ อัดแน่นด้วยข้าวเหนียวหอมๆ คนกำลังหิวเลยได้ปั้นข้าวเหนียวกินเพลินเลย

หลังกินมื้อเช้าแล้วพี่รุณณีเลยปล่อยให้ฉันพักซักครู่ในบ้านพักโฮมสเตย์ที่สร้างแยกออกมาจากบ้านของครอบครัวเพื่อความเป็นส่วนตัว ซึ่งพี่รุณณีมีบ้านพักให้บริการอยู่ 3 หลัง รวม 4 ห้องพัก บ้านแต่ละหลังสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก หลังเล็กๆ น่ารักมาก

ด้านในมีเตียงปูผ้าย้อมครามเข้าบรรยากาศ และถึงแม้จะเป็นห้องพัดลม แต่อากาศที่นี่ก็เย็นสบายจนไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศใดๆ

ส่วนห้องน้ำมีเครื่องทำน้ำอุ่นพร้อม เท่านี้ก็เกินพอแล้วกับความต้องการเรียบง่ายของฉัน

ฝ้ายเข็นมือ

“คุณยายมาแล้ว” พี่รุณณีบอกฉันเมื่อจักรยานคุณยายทั้งสองท่านเข้ามาจอดข้างโรงย้อมคราม วันนี้พี่รุณณีชวนคุณยายผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเข็นฝ้ายและทอผ้ามาสาธิตให้ฉันชมแบบละเอียดยิบกันเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นคือคุณแม่ของพี่รุณณีนั่นเอง

ในพื้นที่หมู่บ้านพี่รุณณีเหลือแต่เพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงทอผ้ากันอยู่ ส่วนพี่รุณณีเองถือว่าเป็นรุ่นปัจจุบันที่นำเอาวิถีย้อมครามเข้ามาผสานกับเส้นฝ้ายเข็นมือของคนรุ่นก่อน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “ครามรุณณี” คือใช้ฝ้ายเข็นมือและย้อมสีธรรมชาติมาทอมือทั้งเส้นตั้งและยืน และตัดเย็บเป็นเสื้อ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น ฯลฯ เนื้อผ้าจึงมีความหนานุ่ม เส้นฝ้ายมีเนื้อสัมผัสไม่เรียบ และมีเอกลักษณ์การตัดเย็บกับโทนสีสไตล์พี่รุณณี เรียกว่าตั้งแต่เก็บฝ้าย จนจบออกมาเป็นชุด ครามรุณณีทำด้วยมือทั้งกระบวนการเลย น่าทึ่งมากๆ

พี่รุณณีส่งชุดผู้ไทให้ฉันหลบไปแต่งในห้อง มีทั้งเสื้อแขนกระบอก ซิ่นย้อมครามทอลายพื้นถิ่น และผ้าเบี่ยง แถมยังได้พี่สาวพี่รุณณีช่วยเกล้ามวยผม จัดเต็มจนเห็นตัวเองในกระจกก็แอบแปลกตาจนเขินๆเหมือนกันนะเนี่ย

กลับมาคุณยายก็นั่งลงเข็นฝ้ายเป็นเส้นอย่างชำนิชำนาญกันแล้ว ดีที่พี่รุณณีช่วยอธิบายให้ฟังแบบละเอียดอีกที เริ่มจากอิ้วฝ้าย หรือรีดเอาเมล็ดออก ดีดฝ้ายในกะเพด เป็นการทำให้ฝ้ายฟูละเอียด จากนั้นแบ่งเอามาม้วนบนแผ่นไม้เป็นหลอดๆ

ขั้นตอนสำคัญคือการเข็นฝ้าย ที่คุณยายนำอุปกรณ์เรียกว่า หลา หน้าตาเป็นวงล้อมีมือจับไว้หมุน จากนั้นคุณยายก็เอาหลอดฝ้ายมาดึงกับเข็มพร้อมหมุนวงล้อ ฝ้ายในหลอดก็ค่อยๆ ไหลออกมาเป็นเส้นไปม้วนที่เข็มอย่างน่าทึ่ง มองดูเหมือนง่าย แต่น้ำหนักการดึงสำคัญมาก หลังจากคุณยายเข็นฝ้ายจนได้ปริมาณที่พอแล้ว ก็เอาแกนไม้ที่เรียกว่า เปีย มาม้วนเส้นฝ้ายเพื่อให้กลายเป็นใจฝ้ายสำหรับกระบวนการที่น่าสนุกต่อไปนั่นคือ ย้อมคราม

พอยายชวนให้ฉันลองทำเอง ก็นั่นแหละ เส้นฝ้ายขาดแล้วขาดอีก พี่รุณณีเลยให้กำลังใจว่าฝึกอีกหน่อยก็คล่อง ซึ่งฉันว่า “อีกหน่อย” นี่คงจะนานอยู่เหมือนกัน

หลังจากผ่านขั้นตอนการเข็นฝ้ายไปแล้ว คุณยายจะพาไปทำอะไรต่อ ติดตามกันได้ในตอนต่อไปค่ะ

Scroll to Top