สกลนคร

สกลนคร

🧶ครามสกล : สกลนคร🧶

ผ้าย้อมคราม เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหนึ่งของจังหวัดสกลนคร ยิ่งถ้าเพื่อน ๆ เป็นสายแฟชั่น ชอบแต่งตัวหลากสไตล์ได้มาเยือนที่นี่ ต้องไม่พลาดที่จะชอปปิง และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้าเกิดเราได้เป็นคนออกแบบลายผ้าย้อมครามด้วยฝีมือของเราเอง บัดดี้พาเพื่อน ๆ มาที่ #ครามสกล ร้านผ้าย้อมครามพื้นเมืองใน #จังหวัดสกลนคร เข้ามาภายในร้าน มีพื้นที่กว้างขวาง บรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ปกคลุมทั่วบริเวณ และบัดดี้ก็ไม่ได้พาเพื่อน ๆ มาซื้อของที่ระลึกกลับไปเพียงอย่างเดียว แต่จะพาเพื่อน ๆ มาทำกิจกรรม DIY ผ้ามัดย้อมครามกัน “คราม” เป็นไม้พุ่มตระกูลถั่ว การย้อมคราม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการย้อมเย็นและไม่ใช้สารเคมีใด ๆ มีขั้นตอนการทำสีคือ จะเก็บเกี่ยวครามทั้งลำต้นมามัดเป็นฟ่อน นำไปแช่น้ำอย่างน้อย 1 คืน จากนั้นเก็บชิ้นส่วนครามออกให้หมด เหลือแต่น้ำไว้เพื่อเตรียมไปทำเนื้อคราม แล้วนำไปหมักให้กลายเป็นน้ำในหม้อสำหรับย้อมครามต่อไป ความมหัศจรรย์ของครามที่ใช้ย้อมนั้น น้ำในหม้อครามเป็นสีเขียวออกเหลือง แต่เมื่อนำผ้าลงไปย้อมแล้วยกขึ้น ผ้าที่สัมผัสกับอากาศจะเกิดปฏิกิริยาแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคราม สีที่ได้จากครามมีหลายเฉด ได้แก่ สีฟ้า น้ำเงิน น้ำเงินเข้ม ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่นำไปย้อม นอกจากนี้ ครามสกลยังมีเทคนิคการทำลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม โดยมีบล็อกรูปทรงต่าง ๆ ให้เราออกแบบได้ตามสไตล์เรา ผ้าส่วนที่ถูกกดทับเอาไว้ก็จะเป็นส่วนที่ไม่ถูกย้อมนั่นเอง จริง ๆ แล้วร้านครามสกลเป็นมากกว่าร้านขายของที่ระลึก เพราะที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์การเรียนรู้ ดูแลรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของสกลนครได้เป็นอย่างดี มีการลงไปให้คำแนะนำในชุมชนที่มีการผลิตผ้าย้อมคราม เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี และของที่ระลึกในร้านส่วนใหญ่ที่ผ่านการตัดเย็บเอง เป็นผ้าที่รับมาจากชุมชน เพื่อเป็นสร้างอาชีพ ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อน ๆ ที่สนใจทำกิจกรรมมัดย้อมผ้า สามารถติดต่อกับครามสกลได้ แนะนำว่าให้ติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้ทางร้านได้เตรียมอุปกรณ์และเตรียมต้อนรับผู้มาเยือน ราคาเริ่มต้น 300 บาท มีให้เลือกหลายชนิด เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น 📍 212 หมู่ 2 บ้านพะเนาว์ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.📞 09 2515 9455🌐 https://goo.gl/maps/GN42Zdtj85Ef51R27

🧶ครามสกล : สกลนคร🧶 อ่านเพิ่มเติม

ท่าแร่ : ชุมชนเก่าแก่ จังหวัดสกลนคร 🌟

“สกลนครละเบ๋อ” 😀 หากเพื่อน ๆ มีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดสกลนคร อาจเคยได้ยินสำเนียงการพูดภาษาถิ่นของที่นี่ บัดดี้ว่าเป็นเอกลักษณ์มาก ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วที่นี่มีสิ่งที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยล่ะ จุดมุ่งหมายของวันนี้คือ “บ้านท่าแร่” ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีทั้งโบสถ์และบ้านทรงโบราณมากมาย เราจะพาไปชมกันเพลิน ๆ ค่ะ 🚙 #บ้านท่าแร่ ชุมชนเก่าแก่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2427 เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในประเทศไทย  แต่เดิมชาวท่าแร่เป็นคริสตังที่อพยพมาจากตัวเมืองสกลนครที่อยู่อีกฝั่งของหนองหาร โดยต่อแพไม้ไผ่ขนาดใหญ่บรรทุกผู้คนและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ข้ามหนองหารมายังฝั่งชุมชนท่าแร่ในปัจจุบัน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน และยังมีอาคารเก่าที่สร้างมานาน 80-90 ปี สร้างขึ้นเป็นตึกปูนทรงยุโรปในรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมเวียดนามที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ผู้คนได้มาสัมผัสถึงความเจริญรุ่งเรือง ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลย อย่าพลาดชมกันนะ  ภานในชุมชนมีโบสถ์ชื่อว่า #อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล เป็นโบสถ์รูปทรงคล้ายเรือ เพื่อระลึกถึงการใช้เรือและแพในการอพยพมาจากตัวเมืองสกลนครนั่นเอง  นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ศาสนาไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร และใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบัน ไม่ไกลจากอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล มี #บ้านโบราณ 100 ปี ตามประวัติคืออายุมากกว่า 90-100 ปี เดิมเป็นที่อาศัยของพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองแห่งสกลนครในเวลานั้น เคยถูกไฟไหม้ เหลือเพียงโครงสร้างอาคารและไม่มีการบูรณะซ่อมแซม ต่อมามีต้นไม้ขึ้นปกคลุม กลายเป็นบ้านร้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสและได้รับรู้ความเป็นมาในประวัติศาสตร์อีกด้วย นอกจากนี้ หากใครหิว ใกล้ ๆ กันจะมี #ข้าวเปียกโบราณฟรานซิสโก ที่ใช้อาคารเก่าแก่เปิดเป็นร้านอาหาร แวะไปรองท้องกันได้ กิจกรรมที่ต้องห้ามพลาด ทุกวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ที่หมู่บ้านท่าแร่จะมีการจัดประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส  โดยจัดขบวนแห่ดาวคริสต์มาส ซึ่งหมู่บ้านต่าง ๆ จะจัดขบวนแห่มาร่วมฉลอง ประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยดวงไฟ ดาว และต้นคริสต์มาส เพื่อน ๆ สามารถไปเที่ยวชมในช่วงเทศกาลได้ด้วยนะ  ชุมชนท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนครhttps://goo.gl/maps/WBH7QwPY5ysFWGYQ7

ท่าแร่ : ชุมชนเก่าแก่ จังหวัดสกลนคร 🌟 อ่านเพิ่มเติม

✨ เทศกาลแห่ดาว จังหวัดสกลนคร ✨

🎉 We wish you a merry Christmas. 🎉🎉 We wish you a merry Christmas. 🎉🎉 We wish you a merry Christmas and a happy new year. 🎉 อีกไม่นาน ก็จะถึงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว หากใครกำลังมองหางานสถานที่จัดงานสวย ๆ พร้อมกับถือโอกาสไปเที่ยวพร้อมกัน ขอแนะนำที่นี่เลย “งานแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส จังหวัดสกลนคร” ซึ่งปีนี้จะจัดวันที่ 20-25 ธันวาคม 2565 โดยภาพบรรยากาศงานที่เห็นนี้เป็นภาพบรรยากาศในปีก่อน ๆ ที่นำมาให้ชมพอเป็นน้ำจิ้ม ตามมาดูรายละเอียดงานกันเลย ปีนี้งานแห่ดาวจัดในวันที่ 20-25 ธันวาคม สามารถเดินได้ทั้งวัน มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับในประเทศไทย งานเทศกาลคริสต์มาสที่มีชื่อเสียงและขึ้นชื่อเรื่องความงดงาม เห็นจะหนีไม่พ้นที่หมู่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งของชุมชนชาวคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งเมื่อถึงช่วงเดือนธันวาคมเมื่อใด หมู่บ้านนี้จะถูกย้อมไปด้วยสีสันความงามของไฟประดับหลากสีตามบ้านเรือนจนเหมือนดาวระยิบระยับเต็มไปหมด พูดถึงเทศกาลแห่ดาวแล้ว แอดมีเกร็ดเรื่องราวความเป็นมาของเทศกาลแห่ดาวมาเล่าให้ฟังเล็กน้อย บ้านท่าแร่ เป็นชุมชนที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในประเทศไทย โดยเทศกาลนี้เกิดจากความศรัทธาของชาวคริสตัง (ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มีต่อพระเจ้าและศาสนา โดยในปี พ.ศ.2525 ชาวท่าแร่ได้ร่วมกันประดิษฐ์ดาวกระดาษ แทนสัญลักษณ์ของดาวบนฟ้าและการเกิดของพระเยซูเจ้า ถือแห่ไปรอบชุมชนก่อนจะมาจบลงที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ธรรมเนียมนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีและปฏิบัติต่อมาทุกวันคริสต์มาสมาจนถึงปัจจุบัน จากงานเล็ก ๆ ภายในชุมชนก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจนในที่สุดก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร  งานปีนี้จัด ณ บริเวณอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่, บริเวณศาลามาร์ติโนท่าแร่, บริเวณสำนักมิสซังโรมันคำทอลิก (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) และบริเวณลานรวมน้ำใจไทสกล แต่ละวันเพื่อน ๆ สามารถชอป ชิม ซื้อสินค้าผ้าคราม สินค้า OTOP และอาหารมากมายบนถนนคนเดิน ระหว่างวันสามารถเดินชมโบราณสถานของหมู่บ้าน เช่น อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ บ้านโบราณ 100 ปี และคฤหาสน์โบราณ ได้ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ซึ่งในแต่ละวันจะมีกิจกรรมพิเศษอะไร ตามไปอ่านต่อได้เลย  วันที่ 20 ธันวาคม 2565ช่วงเย็นเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ชมดนตรีวาไรตี้ ณ เวทีบริเวณสวนสาธารณะดอนเกิน วันที่ 21 ธันวาคม 2565ช่วงเย็นเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป มีงานพาแลง (อาหารชุดของทางอีสาน นำมาจัดเป็นชุด คล้ายขันโตกภาคเหนือ) ชมการแสดงจากชมรมบาสโลป และชมวงดนตรีวาไรตี้ ณ เวทีบริเวณสวนสาธารณะดอนเกิน  วันที่ 22 ธันวาคม 2565ช่วงเย็นเวลา 18.00 น. มีการแสดงจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครที่บริเวณลานสวนสาธารณะดอนเกิน ก่อนพิธีเปิดงาน “สีสันแห่งหนองหาร” เวลา 18.30 น. ชมการแสดงแสงสีเสียง ชมแพดาวริมหนองหาร ชมการแสดงละครประวัติบ้านท่าแร่และการบังเกิดของพระเยซูเจ้า พร้อมชมรถแห่ดาวใหญ่ ณ ศาลามาร์ติโนและบริเวณสวนสาธารณะดอนเกิน  วันที่ 23 ธันวาคม 2565เวลา 16.00-17.00 น. รถแห่ดาวจะตั้งขบวนบริเวณศาลามาร์ติโน เวลา 18.00 น. มีพิธีปล่อยขบวนรถดาวไปตามเส้นทางที่กำหนด เวลา 20.30 น. ชมพิธีเปิดงาน “ประเพณีแห่ดาว ประจำปี พ.ศ. 2565” พร้อมชมการแสดงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองคริสต์มาสบนเวทีกลาง/ดนตรีวาไรตี้ บริเวณอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่  วันที่ 24 ธันวาคม 2565เวลา 16.00–22.00 น. มีกิจกรรมแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ของที่ระลึก การแสดงแสง สี เสียง ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและกิจกรรมประดับไฟ/ถ่ายรูปเช็กอินต้นคริสต์มาส ณ ลานรวมน้ำใจไทสกล เวลา 18.00 น. ตั้งขบวนแห่ดาวเล็กแบบดั้งเดิม (ดาวมือถือ) บริเวณศาลามาร์ติโน เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป เคลื่อนขบวนแห่ดาวเล็กแบบดั้งเดิม (ดาวมือถือ) จากบริเวณศาลามาร์ติโนท่าแร่และถนนรอบอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ 1 รอบ ก่อนเข้าสู่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ พร้อมร่วมพิธีบูชามิสซา โดย พระอัครสังฆราช อันตน วีระเดช ใจเสรี และชมการการแสดง ละครประวัติการบังเกิดพระกุมารเยซู  วันที่ 25 ธันวาคม 2565เวลา 16.00-22.00 น. มีกิจกรรมแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ของที่ระลึก การแสดงแสง สี เสียง ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและกิจกรรมประดับไฟ/ถ่ายรูปเช็กอินต้นคริสต์มาส ณ ลานรวมน้ำใจไทสกล เวลา 16.00-18.00 น. ชมการแสดงบนเวที ณ บริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง เวลา 18.10 น. พิธีปล่อยขบวนรถแห่ดาวคริสต์มาส (ขบวนไปตามเส้นทางถนนสุขเกษม เลี้ยวซ้ายสี่แยกศรีนคร ตรงมาผ่านหน้าบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ถึงสามแยกบริษัทอีซูซุ เลี้ยวขวาผ่านประตูเมืองเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าแขวงการทาง ผ่านหน้าบริษัทโตโยต้า ตรงมาที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) เวลา 19.30 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวเปิดงานประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส จังหวัดสกลนคร ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร พร้อมชมการแสดงการกำเนิดพระเยซูประกอบบทเพลง โดยนักเรียนโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร ชุด The Birth of Jesus และชมการแสดงของนักเรียนโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร ชุด

✨ เทศกาลแห่ดาว จังหวัดสกลนคร ✨ อ่านเพิ่มเติม

🏠 คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ จังหวัดสกลนคร ✨

หากเพื่อน ๆ ท่านไหนเคยไปที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร น่าจะเคยเห็นตึกโบราณที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส (French Colonial Architecture Style) เด่นตระหง่านสวยงามน่าชม คฤหาสน์แห่งนี้สร้างโดยช่างเวียดนามที่อพยพมาอยู่บ้านท่าแร่เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยเจ้าของคฤหาสน์คือ นายคำสิงห์ อุดมเดช ลักษณะจะเป็นอาคาร 2 ชั้น ในอดีต ชั้น 1 เปิดเป็นร้านค้า ชั้น 2 เป็นที่พักอาศัย สร้างโดยใช้ปูน ทราย อิฐ ผสมกันยึดติดกับเสาไม้ได้อย่างลงตัว เนื่องด้วยใช้เทคนิคโบราณในการก่อสร้างนี่เองทำให้ผนังและหลังคามีความแข็งแรง ลักษณะเด่นของคฤหาสน์แห่งนี้คือ ซุ้มวงโค้งด้านหน้าอาคาร เพราะมีการใช้เสาจริงประดับแทนเสาหลอกและมีลวดลายปูนปั้นประแจจีนแสดงถึงความเป็นสิริมงคล ปัจจุบันคฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ อยู่ในการดูแลของผู้รับมรดก นั่นคือ นางเทเรซารสศรี สกนธวัฒน์ เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยจึงทำให้คฤหาสน์แห่งนี้ดูทรุดโทรมลงไปบ้าง แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไปแล้วกว่า 90 ปี แต่ความสวยงามของสถาปัตยกรรมยังคงแสดงให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน หากมีโอกาสไปบ้านท่าแร่ แวะเข้าไปถ่ายรูปรอบ ๆ #คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ ได้นะ เข้าไปชมข้างในไม่ได้ แต่ข้างนอกก็สวยคลาสสิกสุด ๆ ไปเลยค่ะ

🏠 คฤหาสน์อุดมเดชวัฒน์ จังหวัดสกลนคร ✨ อ่านเพิ่มเติม

OTOP Online Market: 5 ร้านเซรามิกตกแต่งบ้านสุดเก๋

ช่วงนี้เพื่อน ๆ หลายคนได้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น และอาจจะอยากหาของเก๋ ๆ มาตกแต่งบ้านเพิ่ม วันนี้แอดมีร้านเซรามิกที่จำหน่ายของใช้ ของตกแต่งบ้านมาแนะนำเพื่อน ๆ ค่ะ ถึงเราจะอยู่บ้านแต่ก็สามารถช่วยอุดหนุนสินค้า OTOP ได้ เพราะทุกร้านมีบริการส่งตรงถึงบ้านเลย สะดวกสุด ๆ ร้าน Machali Ceramic จังหวัดเชียงใหม่ เอาใจคนชอบปลูกต้นไม้ด้วยกระถางต้นไม้สุดน่ารักจากร้านมาชาลิ มีความพิเศษตรงที่กระถางแต่ละใบมีแค่ลายเดียวเท่านั้น จะซื้อไปปลูกต้นไม้หรือเก็บเป็น collection ของสะสมก็ย่อมได้.ไปอุดหนุนกันได้ที่ Facebook: Machali Ceramicโทร. 090 316 4926.ขอบคุณภาพจากร้าน Machali Ceramic ร้านธนบดีเซรามิก จังหวัดลำปาง ธนบดีเซรามิกมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้บุกเบิกการทำชามตราไก่เจ้าแรกในจังหวัดลำปาง มาวันนี้ที่ร้านไม่ได้ขายแค่ชามตราไก่อย่างเดียว ยังมีสินค้าเก๋ไก๋น่ารักให้ได้เลือกซื้ออีกหลายอย่าง เช่น จานรองแก้วเซรามิกดูดซับน้ำ กระถางต้นไม้จิ๋ว เม็ดดินเผาสำหรับปลูกต้นไม้ ดินดูดน้ำหอมปรับอากาศ และกระดิ่งลม เป็นต้น.ไปอุดหนุนกันได้ที่ Facebook: ธนบดีเดคอร์เซรามิคเว็บไซต์: https://dhanabadee.comโทร. 054 354 011, 088 138 0244.ขอบคุณภาพจาก ร้านธนบดีเซรามิก บ้านช่างปั้น ดอนหมูดิน จังหวัดสกลนคร เซรามิกของดอนหมูดินเน้นความดิบของธรรมชาติ จินตนาการและความรู้สึกของผู้ปั้น ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ในตัว ที่นี่มีงานเซรามิกให้เลือกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม แก้วน้ำ ชุดน้ำชา แจกันดอกไม้ และตุ๊กตาจิ๋วสำหรับวางประดับตามที่ต่าง ๆ ที่สำคัญไม่ใช้สารตะกั่ว หรือปรอทในการผลิต ใครชอบผลงานแนวนี้ต้องรีบไปจับจองแล้วละ.ไปอุดหนุนกันได้ที่ Facebook: ดอนหมูดินโทร. 089 128 7390.ขอบคุณรูปภาพจาก บ้านช่างปั้น ดอนหมูดิน ร้านเถ้าฮงไถ่ เถ้าฮงไถ่ โรงงานเซรามิกที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำโอ่งมังกร แต่นอกจากโอ่งมังกรแล้ว ที่นี่ก็ยังมีงานเซรามิกแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น แก้วน้ำ ตุ๊กตาประดับบ้านและสวน หรือโต๊ะเก้าอี้ดีไซน์เก๋ ๆ ถ้าใครชอบงานเซรามิกสีสันสดใสที่นี่ตอบโจทย์เลยค่ะ.ไปอุดหนุนกันได้ที่ Facebook: Tao Hong Tai Ceramics Factoryโทร. 086 344 9292 ร้านเฮือนปฏิมา จังหวัดพะเยา ที่ร้านมีผลงานที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ และของตกแต่งบ้านอยู่หลายแบบ เช่น ถ้วย จาน ชาม แจกัน ที่จุดน้ำมันหอมระเหย โดนผลงานของทางร้านจะเน้นสี earth tone และเลียนแบบให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ.ไปอุดหนุนกันได้ที่ Facebook: เฮือนปฏิมา อาร์ท แกลอรี่โทร. 081 960 9859.ขอบคุณรูปภาพจาก ร้านเฮือนปฏิมา

OTOP Online Market: 5 ร้านเซรามิกตกแต่งบ้านสุดเก๋ อ่านเพิ่มเติม

เที่ยวย้อมใจ ไปสกลนคร : ครามรุณณี ย้อมครามด้วยใจ ตอนที่ 2

หลังจากผ่านขั้นตอนการเข็นฝ้ายไปแล้ว คุณยายจะพาไปทำอะไรต่อ ติดตามกันได้เลย ตั้งหม้อคราม สิ่งหนึ่งที่ฉันค่อยๆสัมผัสระหว่างนั่งชมแม่ๆยายๆทั้งเข็นทั้งทอฝ้ายให้ชมคือความอบอุ่นในครอบครัว ที่ทุกคนต่างมาช่วยกันในทุกๆกระบวนการ ซึ่งระหว่างที่กำลังสาธิตการเข็นฝ้าย สามีพี่รุณณีก็ง่วนอยู่กับการตัดใบมะม่วง และเตรียมส่วนผสมไว้ตั้งหม้อคราม ส่วนลูกสาวก็ช่วยตั้งไฟเตรียมต้มน้ำสำหรับย้อมร้อน ท่ามกลางเสียงหัวเราะและยิ้มแย้มกันตลอดเวลา อดรู้สึกไม่ได้ว่าผ้าครามบ้านนี้ต้องมีความรักเป็นส่วนผสมด้วยแน่ๆ พี่รุณณีอธิบายเรื่องการย้อมให้ฟังว่ามีทั้งแบบย้อมร้อน และย้อมเย็น ซึ่งการย้อมร้อนของพี่รุณณีใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการย้อมทั้งหมด และเน้นเฉพาะส่วนใบ ดอก ผล ที่จะไม่ไปทำลายต้นไม้หรือไปตัดโค่น ซึ่งพืชอื่นที่นำมาย้อมก็เช่น ใบมะม่วง กาบมะพร้าวน้ำหอม ผลกระบก ใบสัก ใบยูคาลิปตัส ประดู่ ผลคำแสด ใบสาบเสือ ใบขี้เหล็ก ฯลฯ เอามาต้มโดยอาจจะเติมปูนแดง หรือสารส้ม และเกลือเข้าไปเพื่อช่วยดึงสีสันและติดคงทนกับเส้นฝ้าย ส่วนการย้อมครามจัดเป็นการย้อมเย็น พี่รุณณีเล่าว่าสมัยก่อนในหนึ่งหม้อครามมี 3 รสถึงจะกลมกล่อม คือ เปรี้ยวจากมะขาม หวานจากกล้วยหรือน้ำตาล และเค็มจากน้ำขี้เถ้า ส่วนสูตรของพี่รุณณีมีส่วนผสมของเนื้อคราม ปูนแดง น้ำขี้เถ้า เอามาขยำๆผสมกัน จากนั้นย้ายลงหม้อ ตามด้วยน้ำมะขามเปียกที่ต้มมาเดือดๆ เทตามลงไป จากนั้นใช้ขัน ตักน้ำเทออกไปเรื่อยๆ หรือเรียกว่าโจกคราม แค่ 5-10 นาที ก็จะขึ้นฟอง ส่วนน้ำครามจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ซึ่งช่วงนี้พี่รุณณีเอ่ยปากชมตลอดว่าสีสวยมาก จากนั้นก็ปิดฝา ทิ้งให้เย็น นี่แหละการตั้งหม้อคราม เดี๋ยวก่อนนน! มีหม้อครามแล้วไม่มีผ้าย้อมครามได้ไง หลังจากคุณยายสอนฉันทอผ้าจนอ่อนใจ เพราะกว่าจะพุ่งได้แต่ละเส้นต้องลุ้นไม่แพ้วันหวยออก พี่รุณณีเลยชวนมาพับผ้ามัดย้อมกันระหว่างรอหม้อย้อมเย็นและย้อมร้อนได้ที่ ซึ่งก็ไม่ต้องเน้นทฤษฎี เราเน้นตามใจชอบ แต่พี่รุณณีก็จะคอยไกด์ว่าอยากได้ลายยังไง แกก็จะบอกให้ลองมัดแบบนั้นแบบนี้ จากนั้นก็นำไปจุ่มน้ำและเอาไม้ตีให้น้ำเข้าเส้นใย เสร็จแล้วเอาลงไปขยำๆ อยากได้เข้มๆก็แช่ไว้ โดยเฉพาะย้อมร้อนด้วยใบมะม่วงที่พี่รุณณีสาธิตด้วยใจฝ้าย พอยกขึ้นมาได้สีเหลืองอมเขียว สวยมากๆ จากนั้นก็นำไปผึ่งให้แห้ง รอชื่นชมผลงาน  ถนนผ้าคราม หลายคนเรียกที่นี่ว่า ถนนผ้าคราม เป็นกิจกรรมถนนคนเดินที่จัดทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ถึงจะมาในวันธรรมดา ถนนสายนี้ก็มีร้านจำหน่ายผ้าย้อมครามสกลนคร เรียงรายอยู่หลายร้าน เพียงแต่ถ้าเป็นวันหยุดจะมีร้านรวงอื่นๆ และกิจกรรมพิเศษให้ชม ซึ่งหลังจากที่เราทำกิจกรรมย้อมครามกันมาทั้งวัน พี่รุณณีก็ใจดีขับรถพาฉันเข้าเมืองมาเดินเล่นผ่อนคลายซักหน่อย ถนนผ้าครามสายนี้อยู่ด้านหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม เราจึงแวะสักการะพระธาตุเชิงชุมเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อน จากนั้นพวกเราก็เดินเล่นชมบรรยากาศกันไปเรื่อยๆ ซึ่งตามตรอกซอกซอยก็ยังมีหลายบ้านที่ตั้งหม้อย้อมครามกันแบบเล็กๆ น่ารัก เป็นสังคมคนทำผ้าย้อมครามที่อบอุ่น พี่รุณณีเดินไปทางไหนก็ทักทายทุกคนทุกร้าน ส่วนฉันเอง ก็อดไม่ได้ที่จะแวะดูเสื้อผ้าย้อมคราม รวมทั้งกระเป๋า และพวกเครื่องประดับต่างๆ เรียกว่าได้แต่งตัวผู้ไทมาโพสต์ท่าสวยๆ โดดเด่นกันกลางถนน แล้วยังได้ซื้อผ้าครามแท้ๆ จากสกลนครกลับบ้านไปด้วย ย้อมครามด้วยใจ เป็นเช้าที่เต็มใจตื่นแต่ฟ้ายังไม่สว่างหลังจากนอนหลับสบายในโฮมสเตย์กับเสียงฝนพรำๆ อีกกิจกรรมห้ามพลาดเมื่อมาพักกับพี่รุณณีก็คือการใส่บาตรข้าวเหนียว ซึ่งพระท่านจะออกจากวัดมาบิณฑบาตรตั้งแต่ก่อนหกโมงเช้าซะอีก เช้านี้เราแต่งตัวชุดผู้ไทกันอีกรอบ (แต่ใส่ชุดนี้มาหนึ่งวันสังเกตได้ว่าใส่สบายไม่ร้อนเลย) มารอพระที่หน้าประตูวัดโนนสวรรค์ วัดประจำชุมชน ไม่นานก็มีพระเดินเรียงแถวออกมา ซึ่งชาวบ้านก็จะใส่ข้าวเหนียวในบาตรอย่างเดียว ส่วนกับข้าวเขาเอาไปถวายกันต่างหากที่วัด จัดรวมเป็นสำรับกับข้าวพร้อมถวาย จากนั้นก็รับพร กรวดน้ำ หิ้วตะกร้ากลับบ้านแบบอิ่มบุญกันถ้วนหน้า เช้านี้พี่สาวพี่รุณณีทำกับข้าวให้กินทั้ง ลาบหอยเชอร์รี่ ผัดผักบุ้ง แกงหวาย แกงเห็ด หมูย่าง พร้อมข้าวเหนียวกระติ๊บใหญ่ สำหรับนั่งล้อมวงกินข้าวกันพร้อมหน้า แต่ก่อนจะลงมือ พี่รุณณีกับคุณยายส่งข้าวเหนียวหนึ่งกำมือและไข่ต้มหนึ่งฟองมาให้ฉันถือไว้ คุณยายจับสายสิญจ์มาผูกข้อมือพร้อมอวยพรด้วยสำเนียงผู้ไท ชวนให้รู้สึกขลังมากๆ ตามด้วยพี่รุณณีที่ผูกข้อมือฉันอย่างบรรจง พร้อมคำอวยพรมากมายที่มองเข้ามาที่ตาฉันตรงๆ ข้อความหนึ่งที่จะจำไม่ลืม “ถือว่าเราเป็นพี่เป็นน้องกันแล้วนะคะ” เป็นความรู้สึกที่ตื้นตันจริงๆ ถึงจะเป็นเพียง 1 คืนกับอีก 1 วันกว่าๆ ที่ได้มาเรียนรู้วิถีผ้าย้อมครามและฝ้ายเข็นมือ แต่ก็รู้สึกผูกพันกับพี่รุณณีและครอบครัวจริงๆ นั่งรถออกจากหมู่บ้านพี่รุณณีมา มองรูปในมือถือแล้วก็คิดว่า ผ้าน้ำเงินเข้มอาจจะย้อมด้วยคราม แต่คุณค่าแท้จริงอยู่ที่การย้อมด้วยใจ แล้วพบกันใหม่ค่ะพี่รุณณี.ครามรุณณี บ้านหนองไผ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เปิดทุกวัน ติดต่อจองทำกิจกรรมล่วงหน้า โทร. 089 569 8293 (พี่รุณณี)

เที่ยวย้อมใจ ไปสกลนคร : ครามรุณณี ย้อมครามด้วยใจ ตอนที่ 2 อ่านเพิ่มเติม

เที่ยวย้อมใจ ไปสกลนคร: ครามรุณณี ย้อมครามด้วยใจ ตอนที่ 1

มีคนบอกว่าเที่ยวอีสานให้ลองมาหน้าฝน จะได้ชุ่มฉ่ำกับสายฝน ทุ่งนา กลิ่นดิน และสายหมอก จะว่าไปฉันก็กำลังอยากเปลี่ยนที่หย่อนตัว นอนเล่นซักคืนสองคืนพอดี แต่จะไปที่ไหนดีน้าาา… ตัดสินใจได้ เช้าตรู่วันนั้น ฉันเลยเช็คอินขึ้นเครื่อง มุ่งหน้าสู่ จังหวัดสกลนคร ถึงจะเคยมาเยือนถิ่นผ้าย้อมครามหลายครั้ง แต่คราวนี้ตั้งใจจะมากินนอนข้างหม้อย้อมให้ฟินแบบลึกซึ้ง กันไปเลย หม้อครามในตำนาน ฉันแบกเป้ลงจากเครื่องมาไม่นาน พี่รุณณี เจ้าของแบรนด์ “ครามรุณณี” ก็ยิ้มกว้าง โบกมือให้กระโดดขึ้นรถไปด้วยกัน แรกๆ เราก็ทักทายกันเขินๆ แต่ด้วยอัธยาศัยที่เป็นกันเองสุดๆของพี่รุณณี ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจมากๆ พร้อมกับความตื่นเต้นที่จะได้ค้นพบพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่รออยู่ไม่ไกลที่บ้านหนองไผ่ อ.พรรณานิคม ระหว่างทาง พี่รุณณีพาเลี้ยวเข้าหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ บ้านตอเรือ เพื่อพาไปทำความรู้จักกับคุณยายวารี หนึ่งในตำนานหม้อครามยุคแรกๆ ของจ.สกลนคร ซึ่งป้าวารีก็เล่าให้ฟังว่าแกเริ่มตั้งหม้อครามมาตั้งแต่อายุ 15 ถึงวันนี้อายุ 75 ปี ก็ต้องเรียกว่าเกินครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้วที่ป้าวารียังคงย้อมครามและทอผ้าจำหน่ายเป็นอาชีพในชื่อแบรนด์ โฮมครามวารี ป้าเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนชาวบ้านนิยมใส่ผ้าย้อมครามออกไปทำไร่ทำนา เพราะนอกจากสีเข้มเกือบดำที่ดูไม่เลอะเทอะง่ายแล้ว ยังช่วยกันแดด ใส่แล้วไม่ร้อน ส่วนต้นครามและฝ้ายก็ปลูกกันอยู่หัวไร่ปลายนา เรียกว่าย้อมแจกกันมากกว่าขาย ยุคแรกที่เริ่มย้อมขายก็ไม่ได้มีมูลค่าสูงเหมือนในปัจจุบัน คุณยายวารียังพาไปชมห้องทำงานที่เรียงรายไปด้วยหม้อคราม ราวตากเส้นฝ้ายที่ย้อมครามเอาไว้ และกี่ทอผ้าที่คุณยายนั่งลงพุ่งเส้นฝ้าย สาธิตทอผ้าให้ชมอย่างชำนาญพร้อมบอกว่า “ยายออกแบบลายเอง ผืนนี้เอาไปตัดกางเกงสวยเลยนะ” ส่วนฉันแอบมองมือคุณยายที่ทุกนิ้วเคลือบด้วยสีครามจางๆ นี่สินะมือหม้อครามในตำนาน สู่บ้านคราม ฝนยังปรอยปรายลงมาไม่หยุดเมื่อเรามาถึงบ้านพี่รุณณี ไม่ต้องมีพิธีรีตรอง พี่รุณณีจัดการปูเสื่อกับพื้นบ้านพร้อมจัดสำรับกับข้าวง่ายๆ มีปลาทอด ไข่เจียว และน้ำจิ้มแจ่วปลาร้า ขาดไม่ได้คือกระติ๊บข้าวเหนียวใบใหญ่ อัดแน่นด้วยข้าวเหนียวหอมๆ คนกำลังหิวเลยได้ปั้นข้าวเหนียวกินเพลินเลย หลังกินมื้อเช้าแล้วพี่รุณณีเลยปล่อยให้ฉันพักซักครู่ในบ้านพักโฮมสเตย์ที่สร้างแยกออกมาจากบ้านของครอบครัวเพื่อความเป็นส่วนตัว ซึ่งพี่รุณณีมีบ้านพักให้บริการอยู่ 3 หลัง รวม 4 ห้องพัก บ้านแต่ละหลังสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก หลังเล็กๆ น่ารักมาก ด้านในมีเตียงปูผ้าย้อมครามเข้าบรรยากาศ และถึงแม้จะเป็นห้องพัดลม แต่อากาศที่นี่ก็เย็นสบายจนไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศใดๆ ส่วนห้องน้ำมีเครื่องทำน้ำอุ่นพร้อม เท่านี้ก็เกินพอแล้วกับความต้องการเรียบง่ายของฉัน ฝ้ายเข็นมือ “คุณยายมาแล้ว” พี่รุณณีบอกฉันเมื่อจักรยานคุณยายทั้งสองท่านเข้ามาจอดข้างโรงย้อมคราม วันนี้พี่รุณณีชวนคุณยายผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเข็นฝ้ายและทอผ้ามาสาธิตให้ฉันชมแบบละเอียดยิบกันเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นคือคุณแม่ของพี่รุณณีนั่นเอง ในพื้นที่หมู่บ้านพี่รุณณีเหลือแต่เพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงทอผ้ากันอยู่ ส่วนพี่รุณณีเองถือว่าเป็นรุ่นปัจจุบันที่นำเอาวิถีย้อมครามเข้ามาผสานกับเส้นฝ้ายเข็นมือของคนรุ่นก่อน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “ครามรุณณี” คือใช้ฝ้ายเข็นมือและย้อมสีธรรมชาติมาทอมือทั้งเส้นตั้งและยืน และตัดเย็บเป็นเสื้อ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น ฯลฯ เนื้อผ้าจึงมีความหนานุ่ม เส้นฝ้ายมีเนื้อสัมผัสไม่เรียบ และมีเอกลักษณ์การตัดเย็บกับโทนสีสไตล์พี่รุณณี เรียกว่าตั้งแต่เก็บฝ้าย จนจบออกมาเป็นชุด ครามรุณณีทำด้วยมือทั้งกระบวนการเลย น่าทึ่งมากๆ พี่รุณณีส่งชุดผู้ไทให้ฉันหลบไปแต่งในห้อง มีทั้งเสื้อแขนกระบอก ซิ่นย้อมครามทอลายพื้นถิ่น และผ้าเบี่ยง แถมยังได้พี่สาวพี่รุณณีช่วยเกล้ามวยผม จัดเต็มจนเห็นตัวเองในกระจกก็แอบแปลกตาจนเขินๆเหมือนกันนะเนี่ย กลับมาคุณยายก็นั่งลงเข็นฝ้ายเป็นเส้นอย่างชำนิชำนาญกันแล้ว ดีที่พี่รุณณีช่วยอธิบายให้ฟังแบบละเอียดอีกที เริ่มจากอิ้วฝ้าย หรือรีดเอาเมล็ดออก ดีดฝ้ายในกะเพด เป็นการทำให้ฝ้ายฟูละเอียด จากนั้นแบ่งเอามาม้วนบนแผ่นไม้เป็นหลอดๆ ขั้นตอนสำคัญคือการเข็นฝ้าย ที่คุณยายนำอุปกรณ์เรียกว่า หลา หน้าตาเป็นวงล้อมีมือจับไว้หมุน จากนั้นคุณยายก็เอาหลอดฝ้ายมาดึงกับเข็มพร้อมหมุนวงล้อ ฝ้ายในหลอดก็ค่อยๆ ไหลออกมาเป็นเส้นไปม้วนที่เข็มอย่างน่าทึ่ง มองดูเหมือนง่าย แต่น้ำหนักการดึงสำคัญมาก หลังจากคุณยายเข็นฝ้ายจนได้ปริมาณที่พอแล้ว ก็เอาแกนไม้ที่เรียกว่า เปีย มาม้วนเส้นฝ้ายเพื่อให้กลายเป็นใจฝ้ายสำหรับกระบวนการที่น่าสนุกต่อไปนั่นคือ ย้อมคราม พอยายชวนให้ฉันลองทำเอง ก็นั่นแหละ เส้นฝ้ายขาดแล้วขาดอีก พี่รุณณีเลยให้กำลังใจว่าฝึกอีกหน่อยก็คล่อง ซึ่งฉันว่า “อีกหน่อย” นี่คงจะนานอยู่เหมือนกัน หลังจากผ่านขั้นตอนการเข็นฝ้ายไปแล้ว คุณยายจะพาไปทำอะไรต่อ ติดตามกันได้ในตอนต่อไปค่ะ

เที่ยวย้อมใจ ไปสกลนคร: ครามรุณณี ย้อมครามด้วยใจ ตอนที่ 1 อ่านเพิ่มเติม

สวยสุดซึ้งสาวภูไท

ภูไท หรือ ผู้ไทย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองจากกลุ่มไทยลาว สันนิษฐานว่ามีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่สิบสองจุไท บริเวณตอนเหนือของลาว ต่อมาอพยพเข้ามาอยู่ในไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบลุ่มแม่น้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน.ชาวภูไท มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นหลายอย่างโดยสะท้อนผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม การแต่งกาย และศิลปะการแสดง ซึ่งการแสดงที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ การฟ้อนภูไท นั่นเอง.ปัจจุบัน การฟ้อนภูไท มักใช้ฟ้อนต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ฟ้อนในงานเทศกาลต่าง ๆ และฟ้อนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น พิธีเลี้ยงเจ้าปู่มเหศักดิ์ของชาววาริชภูมิ งานแห่ปราสาทผึ้ง งานมัสการพระธาตุเชิงชุม ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร การฟ้อนภูไทไม่เพียงได้รับคำชื่นชมว่า เป็นการฟ้อนที่มีลีลางดงามมาก แต่ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย.หาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทยผ่าน eBook คู่มือท่องเที่ยวครบทุกจังหวัดได้แล้ววันนี้ที่ www.amazingthailandebook.comหรือดาวน์โหลดในรูปแบบ Application : Amazing Thailand eBook ได้ทั้งระบบ iOS และ Androidhttps://mobile.amazingthailandebook.com/redirect/

สวยสุดซึ้งสาวภูไท อ่านเพิ่มเติม

Happy Moo, Happy Meal โคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร

Happy Moo, Happy Meal โคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร.เมื่อพูดถึงอาหารอีสาน ก็ต้องนึกถึงอาหารรสแซบอย่างส้มตำ ปลาร้าสุดนัว และข้าวเหนียวไก่ย่างร้อน ๆ แต่จริง ๆ แล้วภาคอีสานก็มีชื่อเสียงเรื่องเนื้อไม่แพ้ส้มตำ เนื้อที่แอดพูดถึงคือ เนื้อโคขุนโพนยางคำ ของขึ้นชื่อจังหวัดสกลนครนั่นเอง คนรักเนื้อคงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะโด่งดังทั้งคุณภาพและความอร่อย มาดูกันว่าความอร่อยของเนื้อโพนยางคำมีที่มาอย่างไร.เนื้อโคขุนโพนยางคำมีต้นกำเนิดที่หมู่บ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร หมู่บ้านแห่งนี้ได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์โพนยางคำขึ้นในปี พ.ศ. 2523 วัวที่เกษตกรเลี้ยงเป็นวัวเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส ที่เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์วัวเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลส์ (Charolais) จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งใช้เป็นสายพันธุ์หลัก พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limousin) จากประเทศฝรั่งเศส ทำให้ได้วัวที่ทนต่อสภาพอากาศของเมืองไทย และมีโครงสร้างกล้ามเนื้อรวมถึงไขมันที่ดี.เกษตกรจะเริ่มทำการขุนวัว เมื่อวัวมีอายุประมาณ 2 ปี โดยให้วัวยืนในคอกและป้อนอาหารสูตรพิเศษ ที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติอย่างหญ้า ฟาง และธัญพืชเป็นหลัก เพื่อทำให้เนื้อนุ่มยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการดูแลอย่างพิถีพิถัน เช่น ทำความสะอาดคอกวัวเป็นประจำ อาบน้ำ แปรงขน และเปิดเพลงให้วัวฟัง การทำเลี้ยงดูแบบนี้ ทำให้วัวไม่เครียด และกินอาหารได้มากขึ้นระยะเวลาในการขุน จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือบางตัวก็นานถึง 1 ปีครึ่ง เพื่อให้เนื้อมีไขมันแทรกอย่างทั่วถึง.เมื่อรู้กันแล้วว่า เกษตรกรตั้งอกตั้งใจเลี้ยงวัวเพื่อให้พวกเราได้บริโภคเนื้อแสนอร่อย แอดก็ขอเอาใจคนรักเนื้อด้วยพิกัดร้านโคขุนโพนยางคำรสเด็ด ที่เมื่อไปถึงจังหวัดสกลนครต้องไปทานให้ได้ – ร้านสเต็กสหกรณ์ฯ โพนยางคำ มีสเต็กและอาหารอีสานรสเด็ดให้เลือกหลายเมนู และถ้าใครอยากซื้อเนื้อไปทำกินเอง ที่นี่ก็มีจำหน่ายเช่นเดียวกันที่ตั้ง : หมู่ 10 บ้านโพนยางคำ ต.โนนหอม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนครพิกัด : https://goo.gl/maps/S93XwSG6hzKuJTKq7เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 16.45 น.โทร. 0 4270 4677.– ร้านเตาถ่าน โพนยางคำ ร้านปิ้งย่างโคขุนเจ้าดังของสกลนคร เนื้อที่ร้านใช้จาก 3 แหล่ง คือ สหกรณ์โพนยางคำ สหกรณ์หนองสูง และนครพนมบีฟ ปัจจุบันร้านเตาถ่านมี 3 สาขา ได้แก่ สาขาอำเภอสว่างดินแดน สาขาถนนสุขเกษม และสาขาถนนเสรีไทย อำเภอเมืองสกลนครโทร. 0 4209 2337.– ฟาร์มฮัก เป็นทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ และฟาร์มแกะในที่เดียวกัน ภายในฟาร์มมีร้านปิ้งย่างโคขุนคุณทองที่คนชอบกินเนื้อต้องห้ามพลาดที่ตั้ง : ถ.สกลนคร-นาแก ต.โนนหอม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนครพิกัด : https://g.page/farmhug?shareเปิดทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 11.00 – 22.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 22.00 น.โทร. 08 8572 6288 เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 15 ธันวาคม 2563

Happy Moo, Happy Meal โคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร อ่านเพิ่มเติม

หนองหาร สกลนคร

หนองหาร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ 123 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลเมืองสกลนครและอำเภอโพนนาแก้ว เป็นแหล่งรับน้ำจากลำห้วยหลายสาย และเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม.มีตำนานเล่าขานการกำเนิดหนองหารชื่อ “ตำนานผาแดงนางไอ่” เล่าว่า พระธิดาแห่งนครเอกชะทีตา ชื่อนางไอ่คำ มีความงามเลื่องลือ พระบิดาของนางประกาศว่าผู้ชนะแข่งขันจุดบั้งไฟจะได้อภิเษกกับนางไอ่คำ มีชายหนุ่มมาร่วมแข่งขันมากมาย แม้ท้าวพังคีผู้เป็นเจ้าชายพญานาคก็ยังปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกขึ้นมาชมโฉมนางไอ่คำ นางไอ่คำนั้นรักอยู่กับท้าวผาแดง แต่ท้าวผาแดงพ่ายแพ้การแข่งขัน ขณะเดียวกันกระรอกเผือกท้าวพังคีก็ถูกนายพรานยิงตาย พญานาคแห่งเมืองบาดาลโกรธแค้นนัก บันดาลฟ้าฝนกระหน่ำ แผ่นดินยุบตัว บ้านเมือง ผู้คน รวมทั้งท้าวผาแดงที่พยายามช่วยนางไอ่คำหนีก็จมหายไปจนหมด เหลือแต่หนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือหนองหารแห่งนี้นี่เอง.ระดับน้ำในหนองหารมีความลึกประมาณ 3-4 เมตร อำนวยประโยชน์ในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาร .นอกจากนั้น เมื่อครั้งที่ชาวท่าแร่ที่เป็นคริสตังอพยพมาจากตัวเมืองสกลนครที่อยู่อีกฝั่งของหนองหาร โดยวิธีการต่อแพไม้ไผ่ขนาดใหญ่บรรทุกผู้คนและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ข้ามหนองหารมายังฝั่งชุมชนท่าแร่ในปัจจุบัน.ภายในชุมชนจึงสร้างโบสถ์ชื่อว่า “อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล” เป็นโบสถ์รูปทรงคล้ายเรือ เพื่อระลึกถึงการใช้เรือและแพในการอพยพมาจากตัวเมืองสกลนครนั่นเอง  เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 14 ธันวาคม 2563

หนองหาร สกลนคร อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top