มาหา…สารคาม

Spread the love

คนสารคามมักบอกว่า มหาสารคามเป็นเมืองรองของรองอีกทีหนึ่ง เพราะไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรมากมายเหมือนเพื่อนจังหวัดข้างเคียง ภูเขาก็ไม่มีอย่างใครเขา แต่เสน่ห์ของที่นี่คือความเป็นเมืองทางผ่านที่สงบเงียบ ใช้ชีวิตแบบคนพื้นถิ่นที่ผูกพันกับวัดวาในพระพุทธศาสนา มีพระบรมธาตุนาดูนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน สะท้อนความสำคัญในอดีตของพื้นที่จังหวัดมหาสารคามที่มีมานานนับพันปี

แต่คนสารคามก็ภูมิอกภูมิใจที่บ้านของพวกเขาเป็น ‘เมืองการศึกษา’ ไม่ว่าจะโรงเรียนประถม มัธยม วิทยาลัยอาชีวะ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ต่างอัดแน่นกันอยู่ในตักสิลานครนี้ จนเป็นแหล่งผลิตกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติมาช้านาน ไม่เพียงแต่การศึกษาสมัยใหม่ ตามบ้านต่าง ๆ ก็ยังเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่รวมภูมิปัญญา หัตถกรรมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อ อย่างผ้าไหมทอมือและงานจักสานที่มีเอกลักษณ์ เป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ

TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ร่วมกับ The Cloud นำเสนอคอลัมน์ Take Me Out ครั้งนี้เราขออาสาแง้มม่านบ้านเพื่อนถิ่นสะดืออีสาน ที่ดูเหมือนหน้าฉากจะขึ้นชื่อแต่เรื่องการเรียนการศึกษา เสาะหากิจการและกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ที่อยู่เบื้องหลัง น่าสังเกตว่าหลายคนเป็นลูกหม้อที่เล่าเรียนจากสถานศึกษาในจังหวัด ซึ่งพวกเขามีความตั้งใจอยากผลักดันให้คนภายนอกรู้ว่า แม้จะเป็นเมืองรองแต่ก็มีดีไม่แพ้ใคร 🥰

นอกจากขึ้นชื่อเรื่องการศึกษา มหาสารคามยังเป็นเมืองตาฮักแท้ ลูกหลานเมืองสารคามนำเสนอเรื่องราวบ้านเกิดผ่านร้านกาแฟหลายสไตล์ที่ผลัดกันหยิบเอากลิ่นอายลูกอีสานมาใช้อย่างสนุก เฟอร์นิเจอร์เครื่องหวายดีไซน์ร่วมสมัยจากวัสดุในพื้นที่ สวนผักอินทรีย์กลางผืนดินแล้งที่ส่งขึ้นห้างถึงเมืองหลวง และคณะหมอลำหุ่นที่ถ่ายทอดศิลปกรรมของเมืองสารคามด้วยการแสดงของเยาวชนในท้องถิ่น

ตามเราเก็บทั้ง 10 สถานที่เข้าลิสต์ หลังโควิด-19 เตรียมตัวให้พร้อม

รับรองคุณจะฮักนะ … สารคาม ❤️

1 Friends film lab

แล็บล้างฟิล์มของหนุ่มสารคามที่อยากสนับสนุนวงการฟิล์มในบ้านเกิด

หลายปีมานี้กระแสกล้องฟิล์มกลับมาบูมอีกครั้ง แล็บล้างฟิล์มตามหัวเมืองใหญ่เหมือนฟื้นคืนชีวิต อำนวยความสะดวกให้สายสแน็ปทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าในท้องถิ่นได้มีร้านล้าง-สแกน และเลือกซื้อฟิล์มถ่ายภาพกันได้ง่ายขึ้น

หลังจาก เล็ก-เอกพงษ์ เลิศสกุณี โลดแล่นอยู่ในบริษัทใหญ่ที่จำหน่ายเครื่องล้าง-สแกนฟิล์มมากว่าสิบปี เมื่อถึงจุดอิ่มตัวจึงลาออกมาเป็นเจ้านายตัวเอง พร้อมกับความคิดอยากเปิดร้านฟิล์มเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด ก่อนเปิดร้านเขาทำการบ้านอยู่พักใหญ่ คอยดูทิศทางลมของกระแสการถ่ายภาพฟิล์มว่าจะพัดผ่านเมืองรองแห่งนี้แรงแค่ไหน เล็กพบว่าคึกคักไม่ต่างจากเมืองอื่น Friends film lab แล็บล้างฟิล์มกลางเมืองมหาสารคามจึงเกิดขึ้น โดยมีโจทย์ตั้งต้นว่าอยากช่วยนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ให้มีแล็บล้างฟิล์มใกล้ ๆ ไม่ต้องเอาม้วนฟิล์มข้ามแดนไปล้าง-สแกนไกลถึงจังหวัดข้างเคียง

ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มสี ฟิล์มขาว-ดำ หรือฟิล์มสไลด์ จนกระทั่งฟิล์มหนัง ฟิล์มบูด แล็บเพื่อมิตรภาพแห่งนี้ยินดีรับล้างและสแกนด้วยราคาฉันเพื่อนสมชื่อ แถมเรื่องคุณภาพวางใจได้ เพราะเล็กยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานซ่อมและดูแลเครื่องล้างฟิล์มในกรุงเทพฯ อีกหลายร้านที่ถ้าเอ่ยชื่อต้องมีร้องอ๋อ และเล็กกำลังมองหาจุดดร็อปม้วนฟิล์มถ่ายแล้วให้ใกล้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดมากที่สุด เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าได้ฝากฟิล์มมาล้างที่นี่กันง่ายขึ้น

เล็กเล่าว่าการเปิดแล็บฟิล์มทำให้พบปะกับเพื่อนวัยเด็กอีกครั้ง รวมถึงเพื่อนใหม่ในนามลูกค้าที่แวะมาขอคำปรึกษาเรื่องกล้อง เรื่องฟิล์ม อยู่เนือง ๆ เป็นความสุขที่ได้รับ พร้อมกับรันวงการฟิล์มในท้องถิ่นให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

  • ที่ตั้ง : 10 ซอยนครสวรรค์ 32 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/JsBKKUmr4NoW6Cgi6
  • วัน-เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 11.00 – 20.00 น.
  • โทรศัพท์ : 08 6332 1691
  • Facebook : Friends film lab

02 โรงละคร หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา

โรงละครกลางบ้านสุดม่วนกุ๊บ ของลูกอีสานผู้เปลี่ยนกระติ๊บเป็นหุ่นหมอลำ

เสียงแคนคลอเสียงพิณ เคล้าคำร้องหมอลำลอยมาจากหมู่บ้าน เป็นสัญญาณว่า คณะหมอลำหุ่น เด็กเทวดา กำลังจะเริ่มทำการแสดงแล้ว

ย้อนที่มาไปหลายปีก่อน ครูเซียง-ปรีชา การุณ นักทำหุ่นกระบอก ได้เข้ามาเจอเข้ากับละครเงาอีสานหรือหนังบักตื้อ มรดกของบ้านดงน้อย อำเภอนาดูน ซึ่งแต่เดิมหนังชนิดนี้นิยมเล่นในท้องเรื่อง สังข์สินไซ วรรณกรรมท้องถิ่นที่มักเขียนเป็นภาพฮูปแต้มอยู่ตามสิมเก่าแก่ของวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เมื่อมาลงพื้นที่เต็มตัว ครูเซียงเห็นว่าพ่อใหญ่แม่ใหญ่แห่งบ้านดงน้อยมีความสามารถด้านงานจักสาน ทำตะกร้า และกระติ๊บใช้กันในชีวิตประจำวัน เลยปิ๊งไอเดียเกิดเป็นหุ่นกระติ๊บที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่น สวมผ้าซิ่น พาดผ้าขาวม้า มองแวบแรกก็รู้ว่ามาจากถิ่นที่ราบสูง

ส่วนเรื่องราวที่เลือกมาใช้ทำการแสดง นอกจาก สังข์สินไซ สุดฮิตที่รีเมกเล่นซ้ำกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว หมอลำหุ่นรุ่นใหม่ยังเพิ่มเรื่องราวให้ม่วนยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องเล่า ตำนาน และวรรณกรรมพื้นบ้านทั้งหลาย ในรูปแบบของหมอลำ โดยขอแรงพ่อครูแม่ครูในหมู่บ้านช่วยถ่ายทอดทักษะการร้องลำ และการเล่นดนตรีพื้นบ้านให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น กลายเป็นคณะหมอลำที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม

ทุกวันนี้โรงละครหมอลำประจำบ้านดงน้อยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านไว้คอยต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หากดูหมอลำหุ่นจบแล้วติดลม อยากใช้ชีวิตท่ามกลางท้องนา ก็มีโฮมสเตย์ที่ชวนสัมผัสวิถีชาวอีสานอย่างเต็มอิ่ม และเสิร์ฟอาหารพื้นบ้านให้ได้ลองด้วย

ตอนนี้โรงละครหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา กำลังปรับปรุง เพิ่มแสงสีที่นั่งใหม่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป คงเสร็จสมบูรณ์พร้อมพอดี รอให้ทุกคนได้ไปพบกับความม่วนกุ๊บฉบับคนนาดูน
อีกครั้ง

3 Miso home cafe 미소 홈 카페

โฮมคาเฟ่สไตล์เกาหลี ที่มีมาการองเป็นทีเด็ดประจำร้าน

미소 (Miso) ในภาษาเกาหลี แปลว่า รอยยิ้ม และยังเป็นชื่อลูกคนเล็กของ แตงโม-อภิญญา เอ ออร์เดรย์ เธอเลือกเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อร้าน เพราะอยากเชื่อมโยงรอยยิ้มเข้ากับความสุขของตัวเองและลูกค้าที่ได้มาเจอกัน

“เราทำเพราะมันเป็นความสุข ยิ่งเห็นคนกินขนมและเครื่องดื่มของเรา เขามีความสุข เราก็ยิ่งดีใจ”

ที่มาที่ไปเกิดจากประสบการณ์เที่ยวมาแล้วทั่วโลก พบเจอร้านรวงมากมาย สร้างแรงบันดาลใจให้อยากมีคาเฟ่เมื่อกลับเมืองไทย จึงลงมือรีโนเวตโรงรถของบ้านให้กลายเป็นร้านสีขาวสะอาดตา บวกกับแตงโมมีแฟนเป็นชาวเกาหลี ร้านเลยปกคลุมไปด้วยมวลของคาเฟ่เกาหลี ตั้งแต่ภายนอกร้าน การตกแต่ง จนถึงเมนูเครื่องดื่มและขนม

คาเฟ่แห่งนี้ต่อท้ายด้วยโฮมคาเฟ่ ไม่ใช่เพียงเพราะร้านอยู่ในบริเวณบ้านเท่านั้น แต่ขนมก็เป็นโฮมเมดสไตล์ฝรั่งเศสตามที่แตงโมสังเกตมาจากร้านในเกาหลี โดยจะลงมือทำเองทุกวัน ส่วนกาแฟประจำร้าน ก็เลือกใช้เมล็ดกาแฟที่ดื่มง่ายเพียงชนิดเดียว แต่ถูกปากสำหรับคนทั่วไป หากอยากดื่มรสเข้มขึ้น หวานน้อยลง หรือต้องการรสชาติแบบไหน เพียงกระซิบบอกบาริสต้าประจำร้านได้เลย เป็นความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนชงดื่มเองที่บ้าน

แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือความเด็ดดวงของมาการองประจำร้าน มีมากมายควรค่าแก่การลิ้มลองถึง 10 รสชาติ อาทิ เชดดาชีส พีช เลมอน ราสเบอร์รี ฯลฯ และแตงโม ยังออกแบบรสชาติให้แบ่งเป็น 2 โทน คือรสเปรี้ยวและรสไม่เปรี้ยว ประกบด้วยฝาหรือเชลล์ทำจากอัลมอนด์สีพาสเทลไม่ฉูดฉาด ถ่ายภาพมุมไหนก็ออกมาอบอุ่นดูดี (น่ากินด้วย)

แม้จะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ผลตอบรับจากชาวมหาสารคามดีเกินคาด เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า

คนที่นี่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ!

  • ที่ตั้ง : บ้านโนนเดื่อ หมู่ที่ 10 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/2ir3bh6xa8pAMbhJ8
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
  • โทรศัพท์ : 09 9624 6365
  • Facebook : Miso home cafe 미소 홈 카페

4 MUG Espresso House

ร้านกาแฟและน้ำผักผลไม้สกัด จุดแวะพักคนรักสุขภาพ

อาคารไม้หลังเก่าอายุกว่า 80 ปี อดีตหอพักในตัวอำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นที่ตั้งของ MUG Espresso House ร้านกาแฟน่ารักที่เกิดขึ้นจากความมักกาแฟของ แอน-บุณฑริกา คุณะสาร

ตอนที่มีโอกาสได้ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลียอยู่ช่วงหนึ่ง ความชอบในกลิ่นกาแฟต่อยอดไปถึงการเรียนบาริสต้าขั้นเบสิก เมื่อถึงวันที่ต้องโบกมือลาแดนจิงโจ้ มีสิ่งหนึ่งที่ขึ้นเครื่องบินติดใจสาวอีสานคนนี้มาด้วย นั่นคือวัฒนธรรมในการดื่มกาแฟของคนที่นั่น

ตอนทำงานในร้านอาหาร เธอสังเกตว่าลูกค้ามักเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา กลับมาร้านเดิมอยู่ตลอด แอนอยากให้วัฒนธรรมการเข้าร้านกาแฟของคนไทยมีความสนิทกันเช่นนั้น จึงทำร้านให้ออกมาอบอุ่นเป็นกันเอง พร้อมบริการด้วยความจริงใจ จนลูกค้าหลายคนเอ่ยปากว่า “มาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อน”

ไม่เพียงแต่กาแฟที่ลูกค้าหลายคนชอบใจ ทางร้านยังมีเครื่องดื่มผักปั่นและน้ำผลไม้แยกกาก เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าสายเฮลท์ตี้ แอนเล่าที่มาที่ไปว่าเกิดจากตัวเองเป็นคนกินผักยาก เมื่อมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ เห็นคนที่นั่นกินน้ำผักสดปั่นกันเป็นเรื่องปกติ เลยลองเอาผักเคลที่หาได้ในบ้านเราหยิบใส่เครื่องปั่นดูบ้าง ปรับสูตรให้ถูกปากคนไทย ผสมผลไม้ต่าง ๆ จนได้เป็นเครื่องดื่มที่ถูกอกถูกใจคนรักสุขภาพ และเป็นอีกทางเลือกให้คนที่กินผักยากได้มาทดลองชิมดู ก่อนที่จะอัปเลเวลขึ้นไปถึงขั้นกินผักสดเป็นใบ ๆ ไม่แน่อาจจะรักการกินผักไปเลยโดยไม่รู้ตัว

แวะมาทักทายแอนที่รอต้อนรับผู้มาเยือนอยู่หลังบาร์กาแฟได้ทุกวันที่ร้านเปิด นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ยังมีอาหารง่าย ๆ รสชาติดี และเบเกอรีโฮมเมดไว้บริการด้วย

  • ที่ตั้ง : 13 ซอยนครสวรรค์ 18 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/HWXsNNDY5sXSW3fj6
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)
  • Facebook : MUG Espresso House

5 T’taste. Khamriang

คาเฟ่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมที่ราบสูงผ่านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

ขามเรียงคือชื่อของหมู่บ้านเงียบ ๆ แห่งหนึ่งในอำเภอกันทรวิชัย ความคึกคักเข้ามาพร้อมกับการขยายพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน บ้านเรือนดั้งเดิมจึงผลัดกันเปลี่ยนมือกลายเป็นหอพักและร้านอาหาร 

ธี-ธีรวัฒน์ เจียงคำ เป็นลูกหลานบ้านขามเรียง เกิดและเติบโตในครอบครัวที่อุดมไปด้วยทักษะด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน มียายกับป้าที่เป็นมือทอผ้า ส่วนลุงก็เป็นหมอลำ งานศิลปะจึงซึมซับจนเข้าขั้นหลงใหล เมื่อเรียนจบทางด้านนาฏศิลป์และวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้เข้าไปเรียนต่อในเมืองหลวง ธีเก็บเอาความคิดถึงบ้านกลับมาแปลงโฉมบริเวณบ้านของครอบครัว ศูนย์กลางของชุมชนที่เพื่อนบ้านมักมานั่งโสเหล่จับเข่าคุยกันประจำตั้งแต่อดีต ให้กลายเป็นคาเฟ่ที่สอดแทรกงานศิลปะ นาฏศิลป์ และหัตถกรรมพื้นบ้าน ภายใต้ชื่อ T’taste. Khamriang

พื้นที่นี้เป็นมากกว่าคาเฟ่ที่ลูกค้ามากินดื่มแล้วกลับ เพราะธีอยากให้ที่นี่คอยบอกเล่าเรื่องราวของชาวอีสาน ผ่านสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน เช่น ผ้าไหมเก่าเก็บที่ธีสะสมไว้หลายปี และกี่ทอผ้าคู่บ้านคู่เรือน ยามคุณป้าลงมานั่งทอผ้าหรือล้อมวงกินข้าว เธอเล่าติดตลกว่า เหมือนกับกำลังจัดแสดงนิทรรศการวิถีชาวบ้านอยู่ในแกลเลอรี หรือบางครั้งลานกลางบ้านก็เปลี่ยนหน้าที่เป็นเวทีการแสดงเซิ้งขนาดย่อม ๆ ให้ลูกค้าที่มาเยือนได้นั่งชม แค่เราได้ฟังก็รู้สึกม่วนซื่นตามไปด้วย 

นอกจากนี้ ถ้าหากโอกาสดีตรงกับช่วงงานบุญประเพณี บรรยากาศในร้านก็จะประดับตกแต่งให้เข้ากับช่วงเทศกาลนั้น ๆ อย่างงานบุญสงกรานต์ที่ผ่านมา ธีเอาผ้าพระบฏมาติดทั่วบ้าน จัดมุมให้คนได้มาสรงน้ำพระ เป็นการรักษาวัฒนธรรมและชวนคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ฮีตหรือประเพณีที่แทบจะเลือนหายไปแล้วในปัจจุบัน

“นึกถึงตอนอยู่ที่อื่นแล้วคิดถึงบ้าน เราอยากให้ลูกค้ามาแล้วเหมือนได้กลับมาบ้าน” ธีพูดถึงคอนเซ็ปต์ร้านที่คิดไว้ ซึ่งก็สมดั่งใจ เพราะหลายครั้งที่ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน จนมาขอเสื่อไปเลือกมุมปูใต้ต้นไม้เองเลยก็มี

  • ที่ตั้ง : 83 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/iFvktW3ua4Zft2Zj8
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น.
  • โทรศัพท์ : 09 3327 9090
  • Facebook : T’taste. Khamriang

6 De PLOY Cafe & Bakery

ร้านเค้กของสาววาปีปทุม ผู้เชื่อว่าของอร่อย ให้ไกลแค่ไหนคนก็ซื้อ

อำเภอวาปีปทุมโด่งดังเรื่องงานฝีมือ มีกลองยาวและผ้าไหมเป็นของดีเชิดหน้าชูตา แม้ De PLOY Cafe & Bakery จะเป็นร้านเล็ก ๆ และไม่ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ว่า แต่เค้กหลากหลายหน้าตาในร้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลอย-อัญมณี ตุลาโชติกุล ซึ่งเป็นเจ้าของนั้น มีเลือดด้านงานศิลป์ของชาววาปีปทุมอย่างเต็มตัว 

จุดเริ่มต้นของร้าน เกิดจากความชอบของพลอยที่ตระเวนเที่ยวคาเฟ่ต่าง ๆ สั่งสมประสบการณ์จากการได้ลองชิมเค้กและขนมหลากหลายชนิด จนเข้าไปเรียนคอร์สทำขนมเพิ่มเติมเป็นจริงเป็นจัง สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพครู แล้วก้าวเข้าสู่วงการเบเกอรีอย่างเต็มตัว พลอยเล่าว่าไม่ใช่เพียงแค่ความชอบเท่านั้นที่ทำให้เกิดร้านนี้ แต่ความตั้งใจอีกอย่างของเธอ คืออยากให้คนแถวอำเภอวาปีปทุมได้ลองชิมเค้กรสชาติดีที่หาโอกาสกินได้ยากด้วย 

ในทุก ๆ วัน เธอจะลงมือทำเค้กในตอนเย็น แล้วลุกขึ้นมาแต่งหน้าเค้กในตอนเช้าของอีกวัน จัดวางลงหน้าร้านในช่วงเที่ยง ทำแบบนี้เป็นกิจวัตร รับรู้กันในหมู่ลูกค้าประจำว่าเค้กร้านนี้สดใหม่เสมอ และเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน พลอยจะคอยหาผลไม้ในช่วงนั้น ๆ รวมถึงที่มีเฉพาะในท้องถิ่น เช่น มะม่วง มะยงชิด มาทำเป็นเมนูพิเศษให้ลองชิม สำหรับช่วงนี้หากแวะไปที่ร้าน พลอยนำเสนอไดฟูกุไส้ชาเขียวถั่วแดง ทำจากแป้งสูตรเฉพาะ เหนียวนุ่มหนึบถูกใจ และเลมอนทาร์ตเอาใจคนรักความสดชื่น เป็นเคิร์ดเลมอนที่หอมเปรี้ยวอมหวาน พลอยรับประกันว่า “ชิ้นเดียวไม่พอ ต้องกินอีก” 

ไม่เพียงแค่หน้าตาและรสชาติที่หลายคนติดใจ จนเกิดเป็นธุรกิจรับหิ้วจากคนในเมืองเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนภายในร้านก็ตกแต่งดีงามดูโคซี่ ซื้อกลับบ้านก็ดี นั่งที่ร้านก็เลิศ ฉะนั้นหากมีโอกาสผ่านไปอำเภอวาปีปทุม ไปชิมกันนะ

  • ที่ตั้ง : 554 หมู่ 3 ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/koVptdMkSXeeu4Pt8
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์)
  • โทรศัพท์ : 08 8562 6345
  • Facebook : De PLOY Cafe & Bakery 

7 CALM Coffee & Co

สโลว์บาร์แห่งแรกในสารคามที่ถ่ายทอดลูกอีสานผ่านรสชาติกาแฟ

เมฆ-อานุภาพ เกียรติจินดารัตน์ กลับมายังถิ่นเก่าที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมถึงมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อให้ความสงบเงียบของเมืองนี้ช่วยรักษาตัว ระหว่างนั้นเขามองหากาแฟดื่มตามประสาผู้หลงใหลในคาเฟอีน แต่หาเท่าไหร่ก็ยังไม่ถูกจริต เลยตัดสินใจหอบเอาอุปกรณ์จากร้านกาแฟเก่าที่เคยเปิดในกรุงเทพฯ มาตั้งเป็นร้านป๊อปอัปเล็ก ๆ

เมฆหวังแค่ว่าเผื่อเจอคอกาแฟที่ชอบเหมือนกัน ไป ๆ มา ๆ ผลตอบรับดีและน่าพอใจ อดีตนักการตลาดออนไลน์จึงรีแบรนด์ใหม่ ย้ายร้านเข้าห้องแถว แล้วเนรมิตจุดนัดพบของคนรักกาแฟขึ้นมากลางอำเภอเมืองมหาสารคาม

คาม (CALM) ร้านกาแฟไซส์กะทัดรัดที่เจ้าของร้านบอกว่า อยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายยามนั่งหน้าบาร์เหมือนรอเพื่อนดริปกาแฟให้ดื่ม ผ่านการคิดอย่างพิถีพิถันตั้งแต่ชื่อร้าน เมฆหยิบเอาพยางค์สุดท้ายของชื่อจังหวัด ‘คาม’ ซึ่งแปลว่าบ้าน หมู่บ้าน มาใช้ และยังพ้องกับภาษาอังกฤษที่เขาอยากสื่อถึงความสงบของสารคาม เป็นไอเดียเท่ๆ ที่สะกิดตั้งแต่ยังไม่ทันผลักประตูเข้าร้าน

จุดเด่นของที่นี่คือเมล็ดกาแฟ Specialty ที่คัดสรรมาให้นักดื่มเลือกเกือบ 30 ชนิดทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ เมฆกระซิบบอกกับเราว่า เขาเทใจให้กับเมล็ดไทยไปเกินครึ่ง เพราะอยากให้นักดื่มกาแฟในพื้นที่ได้ลองชิมกาแฟจากเมล็ดที่ปลูกในประเทศ และยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยที่ตั้งใจปลูกด้วย

ความสนุกที่แฝงตัวในความสงบของร้าน คือการนำเอาเอกลักษณ์ในท้องถิ่นมาใช้สร้างคาแรกเตอร์ให้กับเมล็ดกาแฟเบลนด์เฉพาะ ในชื่อ ‘สกายแล็บ’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากรถสามล้อของชาวอีสาน ที่มีเสียงดังแหลมชวนแสบหูนำตัวรถมาแต่ไกล เมฆแทนด้วยรสหวานนำ เปรี้ยวตาม มี After Tastes ของกาแฟที่อวลอยู่นานในปากหลังจากดื่ม

ส่วนกาแฟเบลนด์อีกชนิดหนึ่งคือ ‘Golden Monkey’ ที่นำลิงแสมสีทอง สัตว์ประจำถิ่นซึ่งมีเฉพาะในวนอุทยานโกสัมพี อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มาตั้งชื่อเป็นกาแฟที่ให้รสชาติจากสารพัดผลไม้สีเหลืองของโปรดเจ้าจ๋อ เช่น เสาวรส มะม่วง มะเฟือง มีความเปรี้ยวนำแบบไทย ๆ และสดชื่นสไตล์ผลไม้เมืองร้อน

ยังไม่หมดเท่านี้ ในทุกเดือนจะมีเมนูใหม่ที่เมฆสร้างสรรค์ขึ้นมา อย่างช่วงนี้มี ‘เปียกลำไย’ ขนมไทยที่แม่เคยทำให้กินแต่เด็ก แต่ปรับเป็นกาแฟรสชาติเฉพาะ ราดด้วยครีมกะทิ มีลำไยท็อปด้านบน ช่วยเปิดประสบการณ์การดื่มกาแฟแสนเพลิดเพลินไม่ซ้ำกับที่ไหนแน่นอน จินตนาการตามแล้วต้องลูบปาก รสอร่อยน่าลิ้มมีที่ ‘คาม’ เท่านั้นนะ

  • ที่ตั้ง : โรงแรมวรัญญูเฮ้าส์แอนด์ รีสอร์ท 163 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://g.page/CALMCoffeeCo?share
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
  • Facebook : CALM Coffee & Co

8 Kotcher

เสื้อผ้าสตรีทแวร์ของสาวอีสานจากฝีมือแม่ใหญ่ในชุมชน

เสื้อครอปท็อปสีเขียวนีออนสะดุดตา เสื้อเบลเซอร์สีส้มสดใสลายผ้าขาวม้า เป็นจุดเด่นของ Kotcher แบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแวร์ที่ใช้ผ้าทอมือของภาคอีสาน อาย-กชกร สาระกุมาร สาวมหาสารคามผู้โตมากับผ้าทอของคุณยายเล่าว่า การทอผ้าเป็นงานอดิเรกยามว่างจากหน้านา เรียกได้ว่าทุกบ้านต้องมีหูกทอผ้าประจำบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอพี่น้องอีสาน จริงจังกันถึงขั้นมีตลาดนัดเพื่อคนทอผ้าตามชุมชน ที่ขายอุปกรณ์กันตั้งแต่ด้ายยันสีย้อมผ้า

เสื้อผ้าที่อายออกแบบ เน้นใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก เพราะนอกจากคุณสมบัติที่ใส่แล้วไม่ร้อน ราคายังจับต้องได้มากกว่าผ้าไหม โดยเลือกใช้ฝ้ายรียูสที่เหลือจากคลังของโรงงาน แต่ละคราวที่ได้มาจึงมีอย่างจำกัด เธอมองว่าความสนุกอยู่ที่การเพิ่มความคิดไปอีกขั้น ว่าจะจัดการสีที่ได้มาแต่ละครั้งยังไง และเสน่ห์ของงานที่ได้ก็ลิมิเต็ด ไม่ซ้ำใคร

ผ้าฝ้ายสีพื้นบ้าง ผ้าขาวม้าอีโป้บ้าง ผลัดกันถูกหยิบไปออกแบบตามโอกาส นอกจากดีไซน์ที่ทันสมัยแล้ว อายยังชวนให้มองคุณค่าของผ้าไปถึงเบื้องหลัง คือนักทอมากฝีมือตามหมู่บ้านที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแม่ ๆ ในชุมชน โดยมีกิมมิกน่ารักชวนอุดหนุนคือ แต่ละคอลเลกชันอายจะบอกที่มาของผ้าทอผืนนั้น ๆ ไว้ด้วย

  • ที่ตั้ง : 33/4 ซอย นครสวรรค์ 39/7 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/XvhqvyZ6bfort4c86
  • วัน-เวลาทำการ : ติดต่อล่วงหน้า
  • โทรศัพท์ : 06 1949 1978
  • Facebook : Kotcher แฟชั่นผ้าไทยอีสานทอมือ

9 LITIN

เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋จากวัสดุพื้นถิ่นที่กระจายรายได้สู่ชุมชน

LITIN แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวายและของตกแต่งบ้านดีไซน์เก๋ ทำจากวัสดุภายในท้องถิ่น ของ ลิตเติ้ล-สมฤทัย บุญใหญ่ ทายาทร้านเฟอร์นิเจอร์ผู้รักในงานออกแบบ และเห็นโอกาสที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ผลงานของ LITIN ไม่ได้จบแค่เลือกใช้หวายมาเป็นวัสดุหลัก แต่ยังแทรกความร่วมสมัยผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำเอาลวดลายของผ้าทอประจำจังหวัด อย่างลายสร้อยดอกหมาก ดึงมาใส่บนแพตเทิร์นในการสานเฟอร์นิเจอร์ หรือจะเป็นม้านั่งยาวสีขาวสลับดำ ลบภาพจำของเก้าอี้หวายเดิม ๆ ไปหมดสิ้น และที่โดดเด่นควรค่าแก่การพูดถึงคือ เก้าอี้สตูลตัวเด็ดที่พาแบรนด์ไปคว้ารางวัล เป็นการนำเอารูปทรงของตะโพน เครื่องดนตรีพื้นบ้านมาขยายไซส์ แล้วเลือกใช้ผิวหวายที่เหลือระหว่างกระบวนการผลิตมาใช้ในการออกแบบ นอกจากชวนนั่งแล้วยังเป็นมิตรกับโลก

ที่สำคัญสินค้าทุกชิ้นผ่านการทำงานร่วมกับชาวบ้านที่เธอคลุกคลีถึงพื้นที่ แจกจ่ายงานตามความถนัด เป็นงานคราฟต์จากฝีมือคนท้องถิ่น จึงรับประกันคุณภาพและคุณค่าที่ได้รับ ถ้าหากกลัวว่าหวายใช้นอกบ้านแล้วจะไม่คงทน เธอมีงานหวายเทียมจากพลาสติกรีไซเคิลผสมกับหวายแท้ ทนทานเพิ่มอายุการใช้งานและรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

LITIN มีโชว์รูมอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม สำหรับผู้สนใจอยากทดลองนั่งเก้าอี้ดีไซน์ร่วมสมัย หากชอบใจก็ยกกลับไปตั้งที่บ้านได้เลย และยังมีแบรนด์ลูกเป็นทางเลือกสำหรับใครที่อยากได้ของขนาดเล็กไว้แต่งบ้าน ในชื่อ LITIN Home ซึ่งวัสดุไม่จำกัดอยู่เพียงหวาย เพราะเธอบอกว่ายังสนุกกับการตามหาวัตถุดิบธรรมชาติท้องถิ่นจากทั่วประเทศอยู่ตลอด อย่างผักตบชวาและกระจูด ที่เลือกมาใช้รังสรรค์เป็นกระถางต้นไม้ โคมไฟ จนถึงกล่องใส่กระดาษทิชชู

10 แก้วพะเนาว์ Organic Farm

ฟาร์มผักอินทรีย์ที่ใช้เทคนิคปลูกพืชในทะเลทรายมาใช้กับดินแล้งของอีสาน

แก้วพะเนาว์ Organic Farm เป็นสวนผักสลัดอินทรีย์ที่ดูแลโดย ปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ได้ไปเรียนรู้วิธีทำเกษตรถึงอิสราเอล ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปลูกผักบนทะเลทรายจนทั่วโลกยอมรับ เขานำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับผืนดินบ้านเกิดภาคอีสาน บนพื้นที่ที่ทรัพยากรน้ำมีอย่างจำกัดจำเขี่ย

ตั้งแต่วันแรกที่ลงมือทำหลังเรียนจบ ปลิวพลิกวิธีการทำสวนทำไร่แบบเก่า เป็นสมาร์ทฟาร์มที่จัดการระบบน้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รดผักเป็นเวลา ไม่เปลืองน้ำ แถมปริมาณก็พอเหมาะพอดี ที่สำคัญทุ่นแรงและเวลาคนปลูกไปได้เยอะ เมื่อทำเองในบ้านแล้วไปได้สวย จึงส่งต่อความรู้ให้ชาวบ้านรอบ ๆ เกิดเป็นเครือข่ายออร์แกนิกสเกลชุมชน

เกษตรกรรุ่นใหม่แห่งเมืองมหาสารคามตั้งใจให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการปลูกข้าว ผลลัพธ์กลายเป็นแต่ละบ้านปลูกแปลงผักสลัดกันเขียวเต็มหมู่บ้าน เป็นวิถีเกษตรที่ดูแปลกใหม่ไม่คุ้นตา แต่น่าสนับสนุน

เมื่อได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ปลิวยังอาสาทำหน้าที่ช่วยหาตลาดส่งขาย ให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี ทั้งขายเองที่ฟาร์ม ตลาดใกล้ ๆ ร้านอาหารรอบข้าง รวมถึงส่งผักสดอร่อยปลอดสารไปถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ

หากใครสนใจกลเม็ดเคล็บลับในการปลูกผักปลอดสารบนพื้นที่ที่ยากต่อการไปรอด แก้วพะเนาว์ Organic Farm ฟาร์มยินดีเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอน เพราะที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรรูปแบบใหม่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ให้เข้าชมได้ตลอดปี มีเวิร์กชอปสนุก ๆ สำหรับชาวสวนระดับบีกินเนอร์ ตั้งแต่ทำปุ๋ย เพาะกล้า จนถึงวิธีจัดการระบบนิเวศในฟาร์ม

“ผักสลัดเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่สด อร่อย ปลอดภัย แต่ช่วยส่งต่อความสุขและให้โอกาสกับคนในชุมชนด้วย” ปลิวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับกลับไป 😊

  • ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/XyozyTa9P5FktqSd8
  • วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน สำหรับกิจกรรมกรุณาติดต่อล่วงหน้า
  • โทรศัพท์ : 06 1339 0734
  • Facebook : แก้วพะเนาว์ Organic Farm

……………………………………

สามารถอ่านทาง Facebook ได้ที่ : https://web.facebook.com/TATContactcenter/posts/6047485135323516

Scroll to Top