17 จุดเช็กอิน…นราธิวาส

Spread the love

“ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน”

“นราธิวาส” เดิมเป็นหมู่บ้านชื่อ “มะนาลอ” อยู่ในเขตปกครองเมืองสายบุรี ในปี พ.ศ. 2444 สมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้น มีเมืองรวม 4 เมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยะลา เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ หมู่บ้านมะนาลอรวมอยู่กับเมืองระแงะ ต่อมา ปี พ.ศ. 2450 มีการย้ายศาลาว่าการเมืองระแงะจากตำบลบ้านตันหยงมัส มาที่บ้านมะนาลอ อำเภอบางนรา และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา

ในปี พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ถึงเมืองบางนรา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมือง “บางนรา” เป็น “เมืองนราธิวาส” หมายถึง “ที่อยู่อันยิ่งใหญ่ของประชาชน”

จังหวัดนราธิวาสมีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขา พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับอ่าวไทย และเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโก-ลก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีภาษายาวีเป็นภาษาพูดและภาษาเขียนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากภาษามลายู

ตามมาทำความรู้จัก 17 สิ่งที่ต้องห้ามพลาดของจังหวัดนราธิวาสกัน

1. หาดนราทัศน์

ชายหาดมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีทิวสนขึ้นเรียงรายตลอดแนวหาด ให้บรรยากาศร่มรื่น มีร้านค้าและร้านอาหารตลอดถนนเลียบชายหาด เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมของผู้คนในพื้นที่ ทางตอนใต้ของหาดไปสิ้นสุดที่ปากแม่น้ำบางนรา มีสะพานคอนกรีตจากชายฝั่งยื่นออกไปในทะเล ที่ปลายสะพานมีประภาคารตั้งอยู่ เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่ง

นอกจากนี้ หาดนราทัศน์ยังได้ชื่อว่าเป็นชายหาดแรกของประเทศไทย ที่ได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนพื้นที่อื่น ๆ และยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือกอและ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสามล้อถีบ หรือรถสองแถวเล็กจากตัวเมืองนราธิวาส ข้ามสะพานปรีดานราทัศน์ไปยังหาดนราทัศน์ได้

📍 ที่ตั้ง : ทางเหนือของปากแม่น้ำบางนรา ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/NRmswM72EF8m9Vba6

2. ปากแม่น้ำบางนรา

แม่น้ำบางนราถือเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ลุ่มน้ำขนานไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออก มีความยาวของสายน้ำประมาณ 60 กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอเมืองนราธิวาสและอำเภอตากใบ มีปากน้ำไหลออกสู่ทะเล 2 จุด คือ ไหลออกอ่าวไทยตรงปากแม่น้ำที่อำเภอเมืองนราธิวาส และไหลลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก ก่อนออกสู่ทะเลบริเวณอำเภอตากใบ ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย

ปากแม่น้ำบางนราตอนบนซึ่งอยู่ทางใต้ของหาดนราทัศน์ เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงและสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัด มีทิวสนทะเลขึ้นเรียงรายทั้งสองฝั่งของปากแม่น้ำ มีสวนหย่อมเล็ก ๆ ให้ประชาชนมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย ทั้งสามารถเดินเชื่อมต่อไปยังสะพานคอนกรีตซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคารหาดนราทัศน์ได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถชมวิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้านบริเวณปากน้ำบางนราได้อย่างใกล้ชิด คือ บนสะพานปรีดานราทัศน์และสะพานวีระพัฒนา ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองโคกเคียน ลำคลองสาขาของแม่น้ำบางนราและอยู่ใกล้กับปากน้ำบางนรามากที่สุด บริเวณสองฝั่งคลองโคกเคียนเป็นบ้านเรือของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จะพบเห็นเรือกอแระจอดเรียงรายมากมายและแล่นเข้าออกคลองตลอดทั้งวัน

📍 ที่ตั้ง : ทางใต้ของหาดนราทัศน์ ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/2NtmupbHAGk67X3CA

3. ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่

ศาลเจ้าแห่งแรกของจังหวัดนราธิวาส ตัวอาคารสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ศาลเจ้าแห่งนี้มีลักษณะแตกต่างจากศาลเจ้าแห่งอื่น คือ มีเจ้าที่หรือเจ้าศาลเป็นหัวมังกรคาบแก้ว ภายในศาลยังประดิษฐานรูปหล่อของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ และมีรูปปั้นเทพเจ้าให้สักการะมากมาย เช่น พระยูไล พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ องค์เห้งเจีย เจ้าแม่กวนอิม

ตามฝาผนังมีภาพปูนปั้นฝีมือช่างชาวจีนในสมัยก่อน บอกเล่าเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมจีนตามตำนานพงศาวดารจีน มีความวิจิตรงดงาม รวมทั้งเสามังกรปูนปั้นซึ่งเป็นงานฝีมือที่หาชมได้ยาก ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่จะจัดให้มีพิธีแห่พระลุยไฟในเดือนกรกฎาคม ของทุกปี

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
📍 ที่ตั้ง : ถนนพิพิธคีรี ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลนราธิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/VGDywgnvw8gsaMqcA

4. เทวสถานองค์พระพิฆเนศ

องค์พระพิฆเนศเป็นปูนปั้น มีความสูง 16 เมตร หน้าตักกว้าง 7 เมตร ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ (ท่านั่งพับขาซ้าย และห้อยขาขวาลงพื้นฐานดอกบัว) มีสี่กร พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาล่างแสดงท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายบนถือศัสตราวุธ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมโมทกะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง พระเศียรสวมศิราภรณ์เป็นมงกุฎประดับโมเสคแก้วหลากสี งวงเยื้องไปทางขวาแล้วเวียนกลับมาทางซ้ายขององค์ เหนือพระนาภีมีสายธุรำเป็นงูแผ่พังพานใต้พระถันด้านซ้าย ส่วนงาข้างซ้ายนั้นหักเพื่อให้นำสิ่งไม่ดีออกไป

ผู้ริเริ่มการก่อสร้างคือเจ้าของร้านดีวรรณพาณิชย์ ผู้จำหน่ายผ้ารายใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพผู้มีความเมตตาและความสำเร็จ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ต้องการจะให้เป็นความหวัง ให้ความสงบสุขกลับคืนมาในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทยที่ได้พำนักอาศัย ประกอบธุรกิจจนเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น อีกทั้งต้องการให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนในพื้นที่ที่เลื่อมใสศรัทธา

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
📍 ที่ตั้ง : ถนนผดุงอาราม (มีพื้นที่ติดกับศาลเจ้าโก้วเล้งจี่และเยื้องกับวัดบางนรา) ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/7q7yYYV41c1dVjWY7

5. ชุมชนบ้านทอนและหาดบ้านทอน

บ้านทอนเป็นหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง จึงมีภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญในการสร้างเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

ปกติแล้วเรือกอและมีความยาวตั้งแต่ 20 ศอก 22 ศอก และ 25 ศอก ลักษณะการต่อเรือมีเอกลักษณ์ คือ ส่วนหัวและท้ายเรือจะสูงขึ้นจากลำเรือ ลวดลายบนลำเรือกอและมีความผสมผสานกันระหว่างลายมลายู ลายชวา และลายไทย โดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มาก เช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหินเวหา รวมทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น บุหรงซีงอ หรือสิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลา เขียนไว้ที่หัวเรือ) เชื่อกันว่ามีฤทธิ์มาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและ ซึ่งงานศิลปะบนลำเรือนี้เป็นเสมือน “วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น” และเป็นศิลปะเพื่อชีวิต กล่าวกันว่า “ลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและหาปลา ก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า”

บ้านทอนเป็นแหล่งต่อเรือกอและทั้งแบบจริงและจำลองที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีกหลายอย่าง เช่น งานหัตถกรรมจากกระจูดและใบปาหนัน น้ำบูดู และข้าวเกรียบปลา ซึ่งเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอีกด้วย

นอกจากนี้ บริเวณชายหาดยังเป็นจุดชมเครื่องบินขึ้น-ลง เนื่องจากอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนราธิวาสเพียง 3 กิโลเมตร บริเวณชายหาดมีร้านอาหารและที่พักให้บริการ

📍 ที่ตั้ง : ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/4Zs4s92gNQYsn5No7

6. พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล (พุทธอุทยานเขากง)

“พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล” เป็นพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ ปางปฐมเทศนาขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่บนยอดเขากง ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งที่งดงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2509 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 องค์พระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกสีทอง หน้าตักมีความกว้าง 17 เมตร ความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงบัวใต้พระเพลา 24 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกทางอ่าวไทย ภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระอุระเบื้องซ้าย

บนเนินเขาลูกถัดไปในบริเวณวัด เป็นที่ตั้งของ “เจดีย์สิริมหามายา” ทรงระฆัง เหนือซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ มีเจดีย์รายประดับอยู่ ภายในประดิษฐานพระพรหม บนยอดพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระอุโบสถของวัดตั้งอยู่บนเนินเขาอีกลูก ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องดินเผาแกะสลักทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะด้านหลังเป็นรูปช้างหมอบถวายดอกบัว หน้าบันเป็นรูปนักรบ มีเทวดาถือคนโทถวาย

🚗 การเดินทาง : จากตัวเมืองนราธิวาส ใช้ทางหลวงหมายเลข 4055 (สายนราธิวาส-ระแงะ) ประมาณ 9 กิโลเมตร จะพบพุทธอุทยานเขากงตั้งอยู่ทางขวามือ หรือเดินทางด้วยรถสองแถวประจำทางสายนราธิวาส-ตันหยงมัส ซึ่งจะวิ่งผ่านพุทธอุทยานเขากง

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 06.30-17.30 น.

📍 ที่ตั้ง : วัดเขากง ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/apVEW2d4dFe1Cvm86

7. อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง

อ่าวมะนาวเป็นชายหาดที่มีโค้งอ่าวเชื่อมต่อกันยาว 4 กิโลเมตร ตอนเหนือของหาดติดกับปากแม่น้ำบางนรา ลักษณะเป็นหาดทรายสลับด้วยโขดหินน้อยใหญ่ บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา โดยภูเขาบริเวณนั้นมีชื่อว่า “เขาตันหยง” ยอดเขามีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 293 เมตร มีพื้นที่ติดกับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และมีจุดชมทิวทัศน์บนเนินเขาริมทะเล สามารถชมทัศนียภาพของอ่าวมะนาวในมุมสูงได้ บริเวณริมหาดมีสวนรุกขชาติและทิวต้นสนทะเลร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน ในบริเวณใกล้เคียงมีที่พักของเอกชน ร้านอาหาร และคาเฟ่เปิดให้บริการ

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด (Beach Forest) ระยะทาง 1 กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้ที่ชอบความแห้งแล้ง เช่น จิกทะเล มะนาวผี เตยทะเล (คล้ายสับปะรด) เป็นต้น เนื่องด้วยอุทยานฯ ยังอยู่ในสถานะเตรียมการเพื่อรอประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานฯ อย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าพื้นที่

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 0 7354 2344, 08 8752 4747

📍 ที่ตั้ง : หมู่ที่ 12 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/h9mu36hG5zEZCtvD8

8. วัดชลธาราสิงเห

ตามประวัติศาสตร์ ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดนี้ และต้องไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2416 ซึ่งสมัยนั้นดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตัน วัดนี้จึงมีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบระหว่างสยาม (ไทย) กับมลายู (มาเลเซีย) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในขณะนั้น (ตรงกัยรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2452) โดยฝ่ายสยามได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัด และศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับในเหตุผลดังกล่าว โดยให้ถือเอาแม่น้ำโก-ลก (แม่น้ำตากใบ) ตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบเป็นเส้นแบ่งเขตแดน วัดนี้จึงรู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

ภายในวัดมีบรรยากาศเงียบสงบและมีลานกว้างริมแม่น้ำ พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น และยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่พระโอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบ มีความสูง 1.5 เมตร จากลักษณะบุษบก สันนิษฐานว่าเป็นพระมอญ นอกจากนี้ยังมีพระวิหารที่ประดิษฐานพระนอน ซึ่งตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยชามสังคโลก

📍 ที่ตั้ง : ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ หมู่ที่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/K1M2aHDWi5mLCmGf6

9. เกาะยาวและสะพานคอย 100 ปี

“เกาะยาว” อยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบประมาณ 3 กิโลเมตร ฝั่งด้านหนึ่งของเกาะติดกับทะเลอ่าวไทย ส่วนอีกฝั่งด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำตากใบ เกาะมีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณชายหาดทางตอนบนจนถึงตอนกลางของเกาะมีทิวมะพร้าวเรียงรายเป็นแนวยาวสวยงาม ส่วนชายหาดทางตอนใต้ของเกาะเป็นทิวต้นสนทะเล ประชากรบนเกาะส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและทำสวนมะพร้าว

“สะพานคอย 100 ปี” ในสมัยก่อนการเดินทางไปมาระหว่างเกาะยาวกับที่ว่าการอำเภอตากใบต้องใช้เรือ เพราะมีแม่น้ำตากใบกั้นกลาง กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรในเส้นทางนี้ ชาวบ้านต้องรอคอยถึง 100 ปี จึงกลายเป็นที่มาของชื่อสะพาน ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตแข็งแรงและสวยงาม ทอดยาวคู่กับสะพานไม้เดิมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ 

📍 ที่ตั้ง : ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/k5DnMDDWrHth1mjX7

10. ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ

“เจ้าแม่โต๊ะโมะ” (เจ้าแม่มาจูหรือเจ้าแม่ทับทิม คือเทพองค์เดียวกัน ) มีความเชื่อว่าเป็นองค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล และมีเรื่องเล่าที่มาของท่าน ณ เหมืองทองคำที่เขาโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งศาลให้ท่านครั้งแรกที่บริเวณนั้น และต่อมามีการจัดตั้งศาลให้ท่านใหม่ในอำเภอสุไหง โก-ลก เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2495 แต่ยังคงตั้งชื่อศาลเจ้าตามแหล่งที่มาเดิม คือ เขาโต๊ะโมะ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นตำบลภูเขาทองแล้ว

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะเป็นที่นับถือของชาวสุไหงโก-ลกและผู้คนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดือนสามตามปฏิทินจีน (เดือนเมษายน) จะมีการจัดงานประเพณีที่บริเวณศาลเจ้า มีกิจกรรมมากมาย เช่น ขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนเอ็งกอ ขบวนกลองยาว และพิธีลุยไฟ เป็นต้น

⏰ เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
📍 ที่ตั้ง : ถนนเจริญเขต ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/wLYtvkgoZVFe8Tc87

11. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

“ป่าฮาลา-บาลา” เป็นป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forests) ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 626.7 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสันกาลาคีรีและมีแนวป่าต่อเนื่องกับป่าเบลุ่ม ทางตอนเหนือของมาเลเชีย มีพื้นที่ผืนป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเข้าด้วยกัน คือ “ป่าฮาลา” อยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ส่วน “ป่าบาลา” อยู่ในเขตอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

ปัจจัยหนึ่งในการวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า สามารถวัดได้จากจำนวนประชากรของนกเงือก ซึ่งเป็นนกหายากชนิดหนึ่ง และมักพบอาศัยอยู่ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เงียบสงบเท่านั้น แต่ในป่าฮาลา-บาลามีการพบนกเงือกถึง 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในประเทศไทย และยังมีสัตว์ป่าหายากอีกมากมาย เช่น ชะนีดำใหญ่ หรือเซียมัง (มีสีดำตลอดตัวและมีขนาดใหญ่กว่าชะนีธรรมดา) ชะนีมือดำ (ซึ่งปกติจะพบเฉพาะในป่าบนเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว ป่าบริเวณทางเหนือของมาเลเซีย และป่าทางใต้สุดของไทยเท่านั้น) กบทูด (กบภูเขา) ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่รวบรวมการกระจายของพรรณไม้หายากนานาชนิด เช่น ปาล์มบังสูรย์ ดงมหาสดำ เป็นต้น

📍 ที่ตั้ง : ที่ทำการตั้งอยู่ ณ บ้านบาลา หมู่ที่ 5 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/DxRGW7fHjhSGACoP7

สถานที่ท่องเที่ยวภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เช่น จุดชมวิวทะเลหมอกสองแผ่นดิน (อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4062) จุดชมสัตว์ (อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4062 ลักษณะเป็นศาลาชมสัตว์ ด้านล่างเป็นหุบเขาสามารถชมสัตว์ป่าและส่องนก) ต้นกะพงยักษ์ (อยู่ห่างจากที่ทำการจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาประมาณ 100 เมตร) น้ำตกศรีทักษิณ (อยู่ห่างจากต้นกะพงยักษ์ประมาณ 200 เมตร) น้ำตกสิรินธร น้ำตกสายรุ้ง และน้ำตกบาเล๊ะ เป็นต้น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักแรม ผู้ที่ประสงค์เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาธรรมชาติ ต้องติดต่อขออนุญาตล่วงหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฮาลา-บาลา

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 08 7276 2351 หรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี โทร. 0 7333 6290-3 หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th

12. ชุมชนท่องเที่ยวภูเขาทอง

ในอดีตชุมชนภูเขาทองเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ โดยมีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการรับสัมปทาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา เหมืองทองคำโต๊ะโมะจึงถูกปิดกิจการลง ในเวลาต่อมาพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองของตำบลมาโมง อำเภอแว้ง ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในสมัยนั้นจะเป็นที่อยู่ของชนเผ่าซาไก ขบวนการกองโจรคอมมิวนิสต์มลายู และขบวนการโจรพูโล

ปัจจุบันชุมชนภูเขาทอง ได้พัฒนากลายมาเป็นชุมชนท่องเที่ยว มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่

กิจกรรมล่องแก่งภูเขาทอง จะล่องในบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี ในพื้นที่ตำบลภูเขาทอง จุดเริ่มต้นในการล่องแก่งอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ ไปจนถึงฟาร์มตัวอย่าง บ้านไอปาโจ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องด้วยเรือคายักประมาณ 2 ชั่วโมง ระหว่างเส้นทางจะได้ชมวิถีชาวบ้านที่กำลังร่อนแร่ทองคำและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

กิจกรรมร่อนแร่ทองคำภูเขาทอง เนื่องจากตำบลภูเขาทองเคยมีการพบแร่ทองคำจำนวนมากจากการทำเหมืองแร่ทองคำในบริเวณภูเขาโต๊ะโมะ จึงมีราษฎรจากพื้นที่ต่าง ๆ อพยพเข้ามาทำเหมืองเป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะยกเลิกสัมปทานไปแล้ว แต่ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ทองคำยังคงอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังมีชาวบ้านมาร่อนแร่ทองคำตามวิถีแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้านกันอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถชมการร่อนทองของชาวบ้านในเส้นทางช่วงท้าย ๆ ของการล่องแก่ง ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านมักจะมาร่อนแร่หาทองคำ และนักท่องเที่ยวสามารถไปร่วมทดลองร่อนหาทองกับชาวบ้านได้

กิจกรรมชมเหมืองทองคำโต๊ะโมะและอุโมงค์ลำเลียงทอง เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ ซึ่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2474 ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามารับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำในบริเวณภูเขาโต๊ะโมะ ปัจจุบันที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เข้าชมสิ่งก่อสร้างที่คงเหลือไว้ เช่น บ้านพักที่ทำการเดิม อุโมงค์ 4 อุโมงค์หลัก และอุโมงค์ย่อยอีกจำนวนมาก

กิจกรรมเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และชมต้นกะพงษ์ยักษ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามหน่วยพิทักษ์ภูเขาทอง ตำบลสุคิริน มีอายุกว่า 100 ปี มีขนาดเส้นรอบวง 25 เมตร

📞 สอบถามข้อมูล ชุมชนท่องเที่ยวภูเขาทอง โทร. 09 3725 0969
📍 ที่ตั้ง : ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/pXkebe3hXFH5ioxT9

13. อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี เทือกเขาบูโดเป็นส่วนหนึ่งของป่าดิบร้อนแบบอินโด-มาลายัน ป่าดิบชื้นเขตร้อนที่มีความชื้นสูง เพราะมีฝนตกตลอดปี เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับป่าประเภทอื่นในพื้นที่ขนาดเท่า ๆ กัน

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาตาเวเป็นยอดเขาสูงที่สุด ประมาณ 1,182 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นแหล่งน้ำต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำสายบุรี คลองบาเจาะ มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง (ย่านดาโอ๊ะ) สันนิษฐานว่าถูกค้นพบครั้งแรกของโลกที่นี่

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ เช่น น้ำตกปาโจ อยู่ในบริเวณบ้านปาโจ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี น้ำตกมี 7 ชั้น มีความสูง 60 เมตร น้ำตกชั้นแรกมีขนาดใหญ่และสวยที่สุด สายน้ำจะไหลตกลงมาจากลานผาหินกว้างลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่าง

ในพื้นที่อุทยานฯ ยังมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนมีประวัติศาสตร์ที่มีอดีตความเป็นมาและเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในนามขบวนการบูโดและขบวนการพูโล ซึ่งปัจจุบันบูโด-สุไหงปาดีเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่หลงเหลือแต่ความงดงามของธรรมชาติให้ได้ชื่นชมและอนุรักษ์

💸 อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท

📞 สอบถามข้อมูล โทร. 0 7353 0406
📍 ที่ตั้ง : ถนนพิพิธ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/vqochWxVh8Pz147Y9

14. มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น

มัสยิดเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2167 โดยนายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี มัสยิดแห่งนี้จะมีอายุครบ 400 ปี ในปี พ.ศ. 2567

อาคารมัสยิดก่อสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้ภูมิปัญญาสลักไม้แทนตะปูหรือสกรูเหล็ก เป็นการสร้างแบบศิลปะไทยพื้นบ้านแบบประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปะแบบจีนมลายู ได้รับการยกย่องให้เป็นมัสยิดที่มีความงดงามและเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกมลายู และยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบการละหมาดจนถึงปัจจุบัน

ภายในมัสยิดเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเขียนด้วยลายมือของ วันฮุซเซน อัซซานาวี อิหม่ามคนแรกของมัสยิด เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นพหุสังคม ควรค่าอย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่สู่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

‼️ (การเที่ยวชมมัสยิด ควรสำรวมและแต่งกายสุภาพ) ‼️

📍 ที่ตั้ง : บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/iWocDevUGoAQpnVc7

15. พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน

เป็นแหล่งรวบรวมเอกสารโบราณมากกว่า 70 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ คัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran) ที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นของประเทศอียิปต์ นอกจากนี้แล้วยังมีตำรายา ตำราดาราศาสตร์ และตำราต่าง ๆ ที่มีอายุเก่าแก่อีกหลายเล่ม

แต่เดิมนั้นชาวบ้านจะจัดเก็บคัมภีร์อัล-กุรอานไว้ตามบ้าน ไม่ได้นำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาดูแล ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันรวบรวมตำราที่สำคัญ นำมาซ่อมแซมให้ดีและเก็บรักษาไว้ที่นี่ โดยคัมภีร์อัล-กุรอานที่ชำรุดและไม่สามารถซ่อมแซมเองได้นั้น จะจัดส่งไปให้ช่างที่ชำนาญการในประเทศตุรกีทำการซ่อมแซม

⏰ เปิดทุกวันเสาร์-วันพฤหัสบดี (ปิดวันศุกร์) ช่วงเช้าเปิดเวลา 09.00-12.00 น. ช่วงบ่ายเปิดเวลา 13.00-17.00 น.
📞 สอบถามข้อมูล โทร. 08 4973 5772
📍 ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
🌐 พิกัด : https://maps.app.goo.gl/XXgRVXUwFb14mjv66

16. อาหารถิ่น

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาหารถิ่นและเมนูที่มีขายตามร้านอาหารทั่วไปจึงมักเป็นอาหารฮาลาล ชาวนราธิวาสส่วนใหญ่นิยมทานข้าวเจ้าเป็นหลัก และมื้อเย็นนั้นนิยมทานพร้อมกันทั้งครอบครัว กับข้าวแต่ละมื้อมักมีอาหารประเภทที่มีน้ำแกงและที่ขาดไม่ได้คือน้ำพริกหรือน้ำบูดู ผักจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารทุกมื้อ

อาหารท้องถิ่นที่นิยมของจังหวัดนราธิวาส เช่น ข้าวยำน้ำบูดู (นาซิกราบู) ข้าวมันแกงไก่ (นาซิดาแฆ) ข้าวหมก (ไก่ แพะ) และข้าวแกง ซึ่งแต่ละจานมีเอกลักษณ์เฉพาะ เน้นวิถีดั้งเดิม ไม่นิยมปรุงแต่งหน้าตาของอาหารให้งามเลิศเลอ หากแต่รสชาติถูกปากคนท้องถิ่น

17. สินค้าพื้นเมืองและของฝาก

จังหวัดนราธิวาสมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและสินค้าที่ระลึกหลากหลาย เช่น เรือกอแระจำลอง ผลิตภัณฑ์กระจูดสาน ว่าววงเดือน ผ้าบาติก อาหารทะเลตากแห้ง ปลากุเลาแดดเดียว (เป็นสินค้า GI ของจังหวัด) กือโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลา) น้ำบูดู เป็นต้น

Scroll to Top