วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อุบลราชธานี

Spread the love

หากใครได้มาเที่ยวชมที่จังหวัดอุบลราชธานี จะเห็นได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีวัดวาอารามมากมายน่าไปเยี่ยมชมและสักการบูชา มีทั้งวัดพระอารามหลวง ปูชนียสถานที่สำคัญตามความเชื่อทางพุทธศาสนาและความเชื่อของภาคอีสาน ที่จริงแล้ว จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีวัดที่มีพุทธศิลป์แตกต่างออกไป เราเรียกว่า “ศิลปะแบบช่างญวน”

บัดดี้พาเพื่อน ๆ เดินทางมาชมวัดราษฎร์ประดิษฐ์ เป็นวัดที่ก่อสร้างโดยความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนบ้านกระเดียน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะแบบช่างญวนและพื้นถิ่นอีสาน ภายในวัด มีสิ่งที่น่าสนใจหลายจุด อีกทั้งยังมีความเก่าแก่และงดงามอย่างมาก ตามมาอ่านรีวิวในแต่ละภาพได้เลยค่ะ

📍 วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
🌐 https://maps.app.goo.gl/8YXJTUaVhrXCSTUT7

หอแจก หรือศาลาการเปรียญ วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นจุดที่เก่าแก่ที่สุด สร้างก่อนจะมีการสร้างอุโบสถของวัด เมื่อปี พ.ศ. 2468 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคาทำด้วยไม้แกะสลัก เชิงชายตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก และฉลุลวดลายที่สวยงาม

ในภาคอีสานบางพื้นที่เรียกศาลาการเปรียญว่า ‘หอแจก’ เพราะถือเป็นอาคารที่ใช้บำเพ็ญกุศลแจกบุญ แจกทาน แจกข้าวและน้ำ รวมถึงการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย

ด้านหน้าหอแจกวัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตกแต่งราวบันไดด้วยประติมากรรมปูนปั้นพื้นถิ่นอีสาน ส่งผ่านโดยฝีมือช่างญวน ซึ่งในสมัยนั้นมีความชำนาญด้านปูนปั้น แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน การสื่อสารอาจไม่ตรงกันและสร้างตามคติของช่างญวน ทำให้รูปแบบศิลปะในวัดค่อนข้างต่างจากวัดอื่น ๆ แต่ทำออกมาได้อย่างงดงามมากทีเดียว

ด้านหลังหอแจกวัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตกแต่งราวบันไดด้วยปูนปั้นลายมกรคายนาค (มะ-กอน : สัตว์ป่าหิมพานต์ในตำนาน) ที่ฐานของราวบันได ยังปรากฏรูปสัตว์คล้ายเสืออีกด้วย

ภายในหอแจก มีธรรมาสน์เก่าแก่ เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะอีสานกับศิลปะญวน ตรงฐานเป็นอิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษาหลากสี องค์ธรรมาสน์ทำด้วยไม้ฉลุลายและทาสีด้วยสีจากธรรมชาติ จัดเป็นโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากนักในปัจจุบัน

อีกอาคารที่อยู่ข้างหอแจก คือ อุโบสถ หรือ ‘สิม’ ในภาษาอีสาน

ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 เป็นอุโบสถก่อด้วยอิฐ ฉาบปูนเรียบทั้งสองด้าน ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน ศิลปะไทยอีสาน และเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปบูชาปางต่าง ๆ มีทั้งที่แกะจากไม้และหล่อด้วยโลหะ

สะดุดตากับหน้าบัน มีลวดลายคล้ายมังกรพ่นน้ำเป็นศิลปะแบบช่างญวนเช่นเดียวกัน เมื่อสองวัฒนธรรมร่วมกันสร้าง ทำให้พุทธศิลป์ที่ถ่ายทอดออกมาแปลกตาแต่งดงามไม่ใช่น้อย บันไดทางขึ้นก็มีศิลปะปูนปั้นเป็นรูปคล้ายพญานาคผสมมังกร เหนือบานประตูทางเข้ามีภาพวาดพระพุทธรูปด้วย ในส่วนบริเวณด้านหลังอุโบสถ หน้าบันเป็นรูปหัสดีลิงค์ในป่าหิมพานต์ ลวดลายงดงาม หากมาชมด้วยตาตัวเองต้องประทับใจสุด ๆ

เดินมาด้านหลังอุโบสถ มีกุฏิลายตั้งอยู่ 2 หลังติดกัน จากในรูปฝั่งซ้าย ด้านหน้าจั่วและฝาผนังกุฏิมีการติดประดับด้วยกระจกเพื่อให้เกิดความสวยงาม แกะสลักเป็นลายลูกฟักและทาสีได้อย่างสวยงาม สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างพื้นบ้านอีสาน

ส่วนทางด้านขวาจากในรูป มีลักษณะโล่ง หน้าจั่วประดับด้วยไม้ลวดลายดวงอาทิตย์ฉายแสงอย่างวิจิตรสวยงาม แม้จะชำรุดและเสียหายลงไปมาก แต่ภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้ว ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2556

Scroll to Top