สมัยก่อนในการสร้างเมือง จะมีการสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการไว้เพื่อป้องกันเมืองจากข้าศึก และยังเป็นการแบ่งเขตพื้นที่ภายในพระนครและนอกพระนครไปด้วยพร้อมกัน ปัจจุบัน กำแพงเมืองและป้อมปราการในกรุงเทพฯได้สูญหายไปเกือบหมด คงหลงเหลือให้เห็นเพียง 2 ป้อมปราการจาก 14 ป้อมปราการ แอดจะพาไปดูนะคะว่าป้อมปราการเก่าอยู่ที่ไหน และในอดีตทั้ง 14 ป้อมอยู่ตรงไหนบ้าง
- กำแพงเมืองพระนครนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยนำอิฐจากกำแพงกรุงศรีอยุธยามาสร้าง ครอบคลุมเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีป้อมปราการ 14 ป้อมตามแนวกำแพง มีป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมปราการทิศเหนือ ส่วนอีก 13 ป้อม ได้แก่
- ป้อมยุคนธร (ตรงหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ปัจจุบันเหลือแต่กำแพงและประตูเมืองเท่านั้น)
- ป้อมมหาปราบ (ระหว่างสะพานเฉลิมวันชาติกับแยกผ่านฟ้าลีลาศ ตรงหัวโค้งถนนพระสุเมรุ)
- ป้อมมหากาฬ (เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ)
- ป้อมหมู่ทะลวง (ใกล้หัวถนนหลวง ตรงข้ามสวนรมณีนาถ)
- ป้อมเสือทะยาน (อยู่ใกล้สะพานดำรงสถิต [สะพานเหล็กบน] ตรงโรงแรมมิรามา)
- ป้อมมหาไชย (หัวถนนเยาวราช แถวสะพานหัน)
- ป้อมจักรเพชร (อยู่ตรงปากคลองรอบกรุง เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า)
- ป้อมผีเสื้อ (ปากคลองคูเมืองเดิมด้านใต้ ฝั่งปากคลองตลาด)
- ป้อมมหาฤกษ์ (อยู่ในบริเวณโรงเรียนราชินี)
- ป้อมมหายักษ์ (อยู่บริเวณท่าเตียน)
- ป้อมพระจันทร์ (ปัจจุบันคือท่าพระจันทร์)
- ป้อมพระอาทิตย์ (ปัจจุบันคือเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า)
- ป้อมอิสินธร (ปัจจุบันคือพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตรงข้ามซอยชนะสงคราม ทางลัดเข้าวัดชนะสงคราม)
ป้อมปราการทั้ง 14 ป้อมนี้ มีเพียง 2 ป้อมที่ยังคงสภาพให้เราได้เห็นในปัจจุบัน ป้อมแรกคือ ป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนพระอาทิตย์ต่อกับถนนพระสุเมรุ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2326 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นป้อมรูปแปดเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น ฐานชั้นแรกมีบันไดทางขึ้นจากพื้น 2 ทาง กำแพงรอบฐานชั้น 2 ทำเป็นรูปใบเสมา ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ในปัจจุบันบริเวณโดยรอบป้อมถูกจัดให้เป็นสวนสาธารณะ โดยให้ชื่อว่าสวนสันติชัยปราการ
ป้อมที่สองคือ ป้อมมหากาฬ ตั้งอยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ติดกับถนนมหาไชย เป็นป้อมปราการทิศตะวันออก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกัน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น ป้อมมหากาฬนี้ยังคงเห็นแนวกำแพงเมืองยาวไปทางถนนมหาไชย เป็นกำแพงเมืองที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ ในปัจจุบันบริเวณโดยรอบได้ถูกปรับปรุงให้เป็นสวนสาธาณะเช่นเดียวกับป้อมพระสุเมรุ