๑๐ วัด ๑ พิพิธภัณฑ์ ไหว้พระ เสริมสิริมงคล ตลอดปี ๒๕๖๗

Spread the love

เหล่านักแสวงบุญเตรียมแผนในการเดินทางเยี่ยมชม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญ ๆ กันแล้วหรือยัง? ปีนี้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้แนะนำเส้นทางไหว้พระในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 10 วัด และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะมีที่ไหนบ้าง ไปชมกันเลย

1. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยภายนอกมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในตกแต่งอย่างตะวันตก เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ เรียกว่า “มหาสีมา” ตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ เช่นเดียวกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จึงได้นามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

📍 ถนนราชบพิธ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/S8AecJBNejWmU2gw6

2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ และให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด มีการนำศิลปะจีนมาผสมผสานในการสร้างพระอารามครั้งนี้ด้วย

📍 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/Y65deqJ8vHxUBJ228

3. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350 เพื่อให้เป็นวัดใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้เวลาในการก่อสร้างรวม 40 ปี จนแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และยังเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อีกด้วย

ภายในวิหารหลวง “พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต)” ที่ถูกอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ทั้งต้นแบบสัตว์หิมพานต์หลายแบบ รวมไปถึงจิตรกรรมฝาผนัง “เปรตวัดสุทัศน์” ที่โด่งดังอีกด้วย

พระอุโบสถของวัดแห่งนี้ ถูกจัดว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในเป็นภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ มีพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระกริ่งใหญ่และท้าวเวสสุวรรณ มีนักท่องเที่ยวให้ความศรัทธา เดินทางมาขอพรอย่างไม่ขาดสาย

📍 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
🌐https://goo.gl/maps/hJTz7fU7oJm

4. วัดราชนัดดารามวรวิหาร (โลหะปราสาท)

หรือที่เรียกกันติดปากว่า โลหะปราสาท ถือเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ โดยกรมศิลปากรฯ ได้ประกาศขึ้นทะเบียน โลหะปราสาท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

โลหะปราสาทของไทยนับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่สามของโลก โดยแห่งแรกอยู่ที่อินเดีย แห่งที่สองอยู่ที่ศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว ที่นี่จึงเป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในโลก

📍 70 ถนนมหาไชย แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/kvsVFtr7ANZTrNS66

5. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

มีชื่อเดิมว่า ‘วัดสามจีนใต้’ เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง สามารถเดินได้ ประมาณ 5-10 นาที เข้ามาด้านในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นมณฑป 4 ชั้น นมัสการ ‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’ หรือที่เรียกกันว่า ‘พระสุโขทัยไตรมิตร’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ทำจากทองคำแท้ และมีขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก

📍 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
🌐https://goo.gl/maps/VMkZCQTBzT52

6. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมมีชื่อว่า วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง สวนดุสิตและสถาปนาวัดด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ วางแปลนแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาสและที่ธรณีสงฆ์ พร้อมพระราชทานนามว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” ซึ่งหมายถึง “วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5”

วัดนี้ถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบศิลปะไทยที่สมบูรณ์ ภายในมีสถานที่สำคัญและน่าสนใจ เช่น ศาลาสี่สมเด็จ พระที่นั่งทรงธรรม หอระฆังบวรวงศ์ พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

📍 ถนนนครปฐม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
🌐 https://goo.gl/maps/3hdPCro947D2

7. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

หลายคนนิยมเรียกกันว่า “วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์” เดิมมีชื่อว่า “วัดสลัก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2326 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักพร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล และสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็น “พระอารามหลวงแห่งแรก” ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็น “วัดนิพพานาราม”

ในปี พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนา และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ต่อมาในปี พ.ศ. 2346 พระราชทานนามวัดนี้ใหม่อีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อ พ.ศ.2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เรียกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหารว่า “วัดมหาธาตุ” เนื่องจากวัดที่มีชื่อว่า มหาธาตุ จะมีอยู่ในทุกเมืองของประเทศ เมืองหลวงก็ควรมีด้วย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อปฎิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

📍 3 ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/nwdivDuLUaj9joAy5

8. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัดประยุร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จุดเด่นคือ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ที่สูงถึง 60 เมตร ใช้เทคนิคการสร้างแบบอยุธยา โดยมีการสร้างเสาแกนกลาง (เสาครู) เพื่อเป็นหลักในการก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ วัดนี้เป็นวัดเดียวที่มีเจดีย์แบบมีเสาแกนกลางเหลืออยู่ในปัจจุบันและยังเปิดให้เข้าชมด้านในเจดีย์ได้อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2556 พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ได้รับรางวัล Award of Excellence โครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากยูเนสโก

📍 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
🌐https://goo.gl/maps/aWCDNEWF3hnUDHfH6

9. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้ง สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับวัด ทำให้วัดแจ้งกลายเป็นวัดในเขตพระราชฐานในสมัยธนบุรี

ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ พระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3

📍 34 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/sHLAzxqSeK33XET5A

10. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา

ภายในมีพระปรางค์องค์สีขาวตั้งตะหง่านอยู่ด้านซ้าย ความงดงามของพระปรางค์องค์นี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์ที่สวยที่สุด สร้างได้ถูกแบบที่สุดของไทย จนกลายเป็นแบบฉบับให้ยึดถือในการสร้างพระปรางค์ในยุคต่อมา

📍 205 ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
🌐https://maps.app.goo.gl/2zn4MPnTdoTbuPhV9

11. พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

เดิมที่นี่คือ วังหน้า หรือ หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บุคคลที่มีสถานะสำคัญรองจากพระมหากษัติรย์ หากใครที่เคยดูภาพยนตร์หรือละครเกี่ยวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มักจะเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ทางทิศเหนือ มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นต้น ในปัจจุบัน ที่นี่เป็นสถานที่จัดเก็บโบราณสถานสำคัญ ๆ มากมาย

📍 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
⏰ เปิดวันพุธ-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น.
📞 0 2224 1370
🌐https://goo.gl/maps/mH85hzDbEsk

Scroll to Top