ทุกครั้งที่เราได้มาเยือน #เชียงใหม่ สิ่งที่ชวนสะดุดตาและเป็นที่โดดเด่น คือความงดงามของศิลปะและวัฒนธรรมที่แสดงผ่านวิถีชีวิต ศาสนสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ที่กระจายตัวท่ามกลางชุมชน
บริเวณคูเมืองใจกลางเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งโลเคชันที่มีวัดอยู่มาก มองไปทางไหนก็เห็นวัดที่สง่างามเต็มไปหมด แถมอยู่ใกล้ ๆ กันด้วย น้องบัดดี้จะมาแจกพิกัดไหว้พระทั่วคูเมืองให้เพื่อน ๆ ได้ไปสักการะ มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง ไปชมกัน
- พิกัดทั้ง 8 วัด ทั่วบริเวณคูเมืองตามเส้นทางของบัดดี้มีดังนี้
- 📍 วัดโลกโมฬี
- 📍 วัดเชียงยืน
- 📍 วัดเชียงมั่น
- 📍 วัดอินทขีลสะดือเมือง
- 📍 วัดพันเตา
- 📍 วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
- 📍 วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
- 📍 วัดศรีสุพรรณ
🚗 เพื่อน ๆ สามารถเดินทางในรูปแบบที่ตัวเองสะดวกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเดินเที่ยว ก็สามารถเดินเรียงตามลำดับของบัดดี้ได้ ไม่ไกลกัน หรือจะเดินทางโดยรถส่วนตัวหรือเช่ารถขับก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังสามารถเหมารถแดงเที่ยวได้นะ ราคาขึ้นอยู่กับการตกลงกับคนขับ
วัดโลกโมฬี
เริ่มทริปจากบริเวณตอนเหนือของคูเมือง มาที่วัดโลกโมฬี วัดสวยเต็มไปด้วยศิลปะแบบล้านนา แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดที่แน่ชัด และเคยถูกทิ้งร้างไปหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง แต่วัดแห่งนี้ก็ได้ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เป็นโบราณสถานแห่งชาติ
เมื่อเดินเข้ามาภายในวัด มองเห็นพระวิหารไม้ที่บูรณะขึ้นใหม่ ลวดลายงามวิจิตร หน้าบันประดับกระจกสีระยิบระยับ ภายในประดิษฐาน “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่เศียร ด้านหลังพระวิหาร มีพระเจดีย์ทรงปราสาทองค์ใหญ่อายุกว่า 500 ปี
วัดแห่งนี้ยังมีรูปเคารพของ “พระนางจิรประภามหาเทวี” กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการขอพรด้านความรักอีกด้วย
ห่างจากประตูช้างเผือกระยะทาง 450 เมตร
ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/H4Jmahve1y8pWsd89
วัดเชียงยืน
สักการะวัดสำคัญประจำทิศเหนือ ณ วัดเชียงยืน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญามังราย เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งที่ 2 ต่อจากวัดเชียงมั่น มีความหมายว่า “ยั่งยืน”
เมื่อเข้ามาด้านในวัดจะเห็นพระพุทธรูป “พระเจ้าทันใจ” องค์ใหญ่สีเหลืองทอง ตั้งเด่นอยู่บนชั้นสองของอาคาร และเดินเข้าไปอีกนิดจะเห็น “องค์พระมหาธาตุเจดีย์” ทรงแปดเหลี่ยม สีขาว ประดับลายสีทอง ฝั่งทิศตะวันออก จะมีศาลาเล็ก ๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจองค์เล็ก ด้านหน้าศาลามีเสา “ตุงกระด้าง” ถือเป็นเครื่องสักการะทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์แบบชาวล้านนา
วัดนี้อยู่ห่างจากวัดโลกโมฬีระยะทาง 700 เมตร และห่างจากประตูช้างเผือกเพียง 350 เมตร
ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/RBAwh5EWnxgjtwDi6
วัดเชียงมั่น
มาต่อกันที่ “วัดเชียงมั่น” วัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งแรกที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญามังราย วัดนี้ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่
จารึกที่พบภายในวัดได้กล่าวถึงพญามังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ประทับและสถาปนาเป็นวัด เรียกว่าวัดเชียงมั่น นับเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ มีการสร้างปูชนียสถานขึ้นมากมายในช่วงที่พม่าปกครองเชียงใหม่ จนมาถึงสมัยพระเจ้ากาวิละ (ช่วงปี พ.ศ. 2325-2367) ได้บูรณะถาวรสถานเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง
ภายในวัดประดิษฐาน “พระแก้วขาว” หรือ “พระเสตังคมณี” ชาวบ้านนิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย ที่สำคัญ ในอดีต ยังเป็นพระพุทธรูปสำหรับบูชาประจำพระองค์ของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชย และพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย หากใครได้ไปสักการะที่วัดเชียงยืน ก็คงจะไม่พลาดมาสักการบูชาที่วัดนี้แน่นอน
วัดนี้สามารถเดินจากวัดเชียงยืน เข้าทางประตูช้างเผือกได้ ระยะทางโดยรวม 800 เมตร
ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/eZRN9rmjefqGs6U77
วัดอินทขีลสะดือเมือง
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่กลางเกาะเมือง ในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานเสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง ที่สร้างในสมัยพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1839 เนื่องจากวัดนี้ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ผู้คนจึงเรียกกันว่า “วัดสะดือเมือง” และเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน
วัดนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ “หลวงพ่อขาว” เป็นศิลปะแบบล้านนา มีพระพักตร์อิมเอิบดุจพระจันทร์ ประดิษฐานในวิหารทรงล้านนาที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
ตั้งอยู่ติดกับพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เดินมาจากวัดเชียงมั่นระยะทาง 700 เมตร
ถนนอินทรวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/PReSSePs6zJJrpYaA
วัดพันเตา
เดิมมีชื่อว่า “วัดปันเต้า” (พันเท่า) หมายถึง การทำบุญเพียงหนึ่ง แต่จะได้รับบุญกลับมาเป็นพันเท่า แต่ภายหลังชื่อเพื้ยนเป็น “พันเตา” และยังมีที่กล่าวอีกว่า วัดนี้เคยใช้เป็นแหล่งสร้างเตาหล่อพระนับร้อยนับพันเตา
ภายในวัดมี “พระวิหารหอคำหลวง” สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตามศิลปะแบบเชียงแสน ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ สวยสง่า หยุดสายตาผู้คนให้เชยชมก่อนที่จะเดินเข้าไปในพระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปตามแบบศิลปะเชียงใหม่
ด้านหลังพระวิหารหอคำหลวง มีเจดีย์องค์ประธานของวัดทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม องค์สีเหลืองทองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์ราย ยามเมื่อแสงแดดตกกระทบ มองดูแล้วงดงามมาก
วัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดอินทขีลสะดือเมือง ระยะทาง 350 เมตร
ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/MSnDmhubHapASmAg7
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมาก สร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย เพื่ออุทิศกุศลแด่พระเจ้ากือนา ผู้เป็นพระราชบิดา และอุปถัมภ์การสร้างต่อโดยพระนางติโลกจุฑาราชเทวี (พระมเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมา) จนแล้วเสร็จ
พระธาตุเจดีย์ นับเป็นพระธาตุที่สูงที่สุดในภาคเหนือ และเป็นเจดีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานนานถึง 80 ปี หน้าประตูทางเข้าวิหารมีบันไดนาคที่สวยงามวิจิตร โดยช่างฝีมือเก่าแก่ ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้ขึ้นไปด้านบน
ภายในวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมี หออินทขิล เป็นที่ประดิษฐานเสาอินทขิลสร้างขึ้นโดยพญามังราย ที่เคยอยู่ ณ วัดอินทขีลสะดือเมือง ภายในอาคารประดับลวดลายจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก
วัดนี้จะตั้งอยู่ใกล้กับวัดพันเตามาก ระยะทางเพียง 100 เมตรเท่านั้น
ตั้งอยู่ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/izU92mMcsDZor8zN6
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดสำคัญและมีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของพระวิหารลายคำ ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระสิงห์” (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปคู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระวิหารลายคำนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เพราะมีลวดลายปิดทองล่องชาด เทคนิคการฉลุลายปรากฏบนฝาผนังหลังพระประธานและเสากลางพระวิหาร เสาระเบียงด้านหน้าพระวิหาร ตลอดถึงบางส่วนของโครงไม้ บนฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมเรื่อง สังข์ทองและสุวรรณหงส์ เขียนด้วยสีฝุ่น มีความงดงามมาก
ที่นี่ ยังเป็นที่กราบสักการะของคนเกิดปีนักษัตรประจำปีมะโรง (ปีงูใหญ่) ด้วยนะ และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการนำพระสิงห์แห่รอบเมืองให้ผู้คนได้สรงน้ำพระกัน
วัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ระยะทาง 700 เมตร
ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/AWxg9ahaeapNZcY8A
วัดศรีสุพรรณ
ปิดท้ายทริปด้วยวัดเก่าแก่ชื่อดังที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแปลกตา
วัดนี้สร้างในสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ใน
ราชวงศ์มังราย โปรดให้นำ “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” หรือ “พระพุทธปาฏิหาริย์” มาประดิษฐาน สร้างพระวิหารบรมธาตุเจดีย์และอุโบสถ
ภายในวัดมีอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ โดยใช้โครงสร้าง
ก่ออิฐถือปูน ประดับตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยอะลูมิเนียมและเงิน พร้อมทั้งสลักลวดลายภาพสามมิติที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ปริศนาธรรม คำสอนประวัติวัด เพื่อสะท้อนถึงความเป็นชุมชนทำเครื่องเงินของชาวชุมชนวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่
ภายในอุโบสถเงินไม่ได้อนุญาตให้สุภาพสตรีเข้า เนื่องจากใต้ฐานอุโบสถฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเครื่องรางของขลังที่เก่าแก่กว่า 500 ปี อาจก่อให้เกิดความเสื่อมแก่สถานที่หรือตัวสุภาพสตรีได้ แต่สามารถชมความงามได้รอบ ๆ อุโบสถได้
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสล่าสิบหมู่ล้านนา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานหัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้าน
วัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระสิงห์วรมหาวิหาร ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
100 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://goo.gl/maps/mFeU2fbTT5jnuQnZA