เที่ยวตามคำขวัญ : สุรินทร์

Spread the love

สุรินทร์ หนึ่งในจังหวัดชายแดนของภาคอีสานตอนล่าง หรือ “อีสานใต้” ที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา และเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติ
.
ถ้าใครไปสุรินทร์แล้วไม่รู้จะเริ่มเที่ยวจากตรงไหน มาลองเที่ยวตามคำขวัญดูสิ

สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ 
.
จังหวัดสุรินทร์ขึ้นชื่อว่ามีช้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่บ้านตากลาง (อ่านว่า ตา-กลาง) อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็นสถานที่ที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสัตว์คู่บ้านคู่เมือง สัญลักษณ์ประจำชาติไทย คือ “ช้าง” ได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน
.
บรรพบุรุษของชาวบ้านตากลางเป็นชาวกูย (หรือกวย) ที่อพยพมาจากกัมพูชาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย พวกเขาคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงช้าง ที่บ้านตากลางมีช้างอยู่ราว 200-300 เชือก เรียกว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงทีใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้
.
ในชุมชนบ้านตากลางมี “ศูนย์คชศึกษา” ซึ่งประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับช้าง และมีการแสดงของช้างทุกวัน วันละ 2 รอบ เวลา 10.00 และ 14.00 น.
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง
โทร. 044 145 050

ผ้าไหมงาม 
.
สุรินทร์มีผลิตภัณฑ์ในชุมชนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมผืนงาม ที่บ่งบอกถึงความประณีตและทักษะขั้นสูงของช่างผู้ทอ
.
“บ้านท่าสว่าง” เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหมที่ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ รวมทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบและลวดลายต่างๆ ขึ้นใหม่ด้วย

ปัจจุบันบ้านท่าสว่างเป็นที่รู้จักกันในนาม “หมู่บ้านทอผ้าเอเปก” เนื่องจากผ้าทอของที่นี่ได้รับคัดเลือกให้นำไปตัดเสื้อและผ้าพันคอให้กับกลุ่มคู่สมรสของผู้นำการประชุมเอเปกที่เข้าร่วมประชุมในไทย เมื่อ พ.ศ.2546
.
ภายในชุมชนยังมีโฮมสเตย์ให้บริการ ผู้ที่สนใจสามารถมาซึมซับและเรียนรู้วิถีชุมชนได้อย่างเต็มที่
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง
โทร. 044 140 015

ประคำสวย
.
“หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์” (อ่านว่า เขฺวา-สิน-ริน หรือ เขฺวา-สิน-นะ-ริน) หรือ “กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค” เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่า “ลูกปะเกือม”
.
“ปะเกือม” เป็นภาษาเขมร ใกล้เคียงกับคำว่า “ประคำ” ในภาษาไทย ใช้เรียกเม็ดเงินเม็ดทองกลมๆ ที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล เป็นต้น
.
การทำปะเกือมนั้นมีมานานหลายร้อยปีแล้ว เชื่อกันว่าเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเขมร ซึ่งลูกหลานก็ยังคงสืบสานต่อมาจนทุกวันนี้
.
สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนรู้และทดลองลงมือทำปะเกือมด้วยตนเอง ก็สามารถทำได้แต่ต้องติดต่อมาล่วงหน้า เพื่อที่ทางชุมชนจะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ประสานงานชุมชน : ลุงป่วน เจียวทอง
โทร. 081 309 5352, 089 043 6794

ร่ำรวยปราสาท
.
ช่วงที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ได้แผ่อิทธิพลทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อต่างๆ เข้ามาในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ทำให้ภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์มีปราสาทขอมตั้งอยู่หลายแห่ง
.
“ปราสาทศีขรภูมิ” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ภายหลังได้รับการปฏิสังขรณ์และแปลงเป็นพุทธสถาน โดยมีการต่อเติมส่วนยอดของปราสาทจนมีลักษณะแตกต่างจากปราสาทขอมทั่วไป
.
ที่เหนือประตูทางเข้าปราสาทประธานมีทับหลังศิวนาฏราช ที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดชิ้นหนึ่งในเมืองไทย นอกจากนี้ที่เสาประดับกรอบประตูยังมีภาพจำหลักรูปนางอัปสรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ปราสาทนครวัดเป็นอย่างมาก โดยพบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวในไทยเท่านั้น
.
ที่ตั้ง : วัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.30 น.

ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม
.
จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งผลิต “ข้าวหอมมะลิ” ที่ขึ้นชื่อ และยังผลิตได้ปริมาณมากที่สุดของประเทศ ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเลยทีเดียว
.
ส่วน “ผักกาดหวาน” นั้นก็เป็นสุดยอดของฝากเมืองสุรินทร์ ที่ทั้งคนสุรินทร์เองและนักท่องเที่ยวต่างนิยมซื้อกลับบ้านไปฝากญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก เป็นอีกหนึ่งของขึ้นชื่อ ที่มาแล้วต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปนั่นเอง

งามพร้อมวัฒนธรรม 
.
จังหวัดสุรินทร์ เกิดจากการหลอมรวมวัฒนธรรมของ 3 ชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร กูย (หรือ กวย) และลาว เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง การจักสาน การทอผ้าไหม และการทำเครื่องประดับเงินที่เรียกว่าปะเกือม เป็นต้น

เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 5 มีนาคม 2562

Scroll to Top