ภูไท หรือ ผู้ไท กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองลงมาจากกลุ่มไทยลาว สันนิษฐานว่าถิ่นเดิมของชาวภูไทตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของมณฑลยูนนานในสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาจึงได้อพยพเข้าไปตั้งอาณาจักรที่ดินแดนสิบสองจุไท คือบริเวณลาวตอนเหนือ ในไทยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบลุ่มแม่น้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน
การฟ้อนภูไทในจังหวัดสกลนคร เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างองค์พระธาตุเชิงชุมซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครทุกชนเผ่า
.
ฟ้อนภูไทสกลนครจะสวมเล็บยาว หรือที่เรียกว่าส่วยมือยาว คล้ายกับฟ้อนเล็บของภาคเหนือ ส่วยมือทำจากกระดาษหรือโลหะพันด้วยด้าย และมีพู่ไหมพรมสีขาวหรือแดงประดับที่ปลายเล็บ และที่สำคัญการฟ้อนจะใช้ผู้หญิงล้วน
.
การแต่งกายของฟ้อนภูไทสกลนครนั้นจะแตกต่างกับท้องถิ่นอื่นคือ จะใส่เสื้อแขนกระบอก นิยมใช้เป็นผ้าย้อมครามเข้มจนถึงดำ มีผ้าขลิบแดงติดชายเสื้อ นุ่งผ้าถุงสีดำขลิบแดง ผ้าเบี่ยงนิยมใช้ผ้าแพรขิดสีแดงพาดไหล่ซ้ายแล้วไปมัดที่เอวด้านขวา
ท่าฟ้อนภูไทสกลนครได้รับการสืบทอดและปรับปรุงกันมากมายหลายท่า แต่ละท้องถิ่นมีท่าที่แตกต่างกันออกไป
.
ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนนั้น ได้แก่ กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ
ในปัจจุบันการฟ้อนภูไท นอกจากจะเป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์พระธาตุเชิงชุมแล้ว ก็ยังนำมาฟ้อนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น พิธีเลี้ยงเจ้าปู่มเหศักดิ์ของชาววาริชภูมิ และใช้ในการฟ้อนต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและในงานเทศกาลต่างๆ อีกด้วย
มาถึงวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารทั้งที ก็ต้องมาสักการะพระธาตุเชิงชุม ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เกิดสิริมงคลสูงสุดแก่ตนเองและครอบครัวให้มีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปราศจากอันตราย และนมัสการหลวงพ่อพระแสนในวิหาร ซึ่งเชื่อกันว่าให้พรในด้านของโชคลาภ ความมั่งมีศรีสุขในชีวิต
เราสามารถชมลีลาการฟ้อนที่สวยงามของสาวภูไทสกลนครได้ในงานแห่ปราสาทผึ้งที่สวยงามและโด่งดังของจังหวัดสกลนคร ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี