หมอนขิดอยู่คู่กับวัฒนธรรมของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน โดยชุมชนที่มีการผลิตหมอนขิดอย่างแพร่หลายคือ ชุมชนบ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
.
ที่มาของหมอนขิด มาจากผ้าทอลายขิดซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำหมอน เป็นผ้าที่มีความผูกพันและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวศรีฐานมาตั้งแต่โบราณ โดยมีการนำผ้าลายขิดมาใช้งานหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ของฝาก สิ่งของประดับ จนผ้าลายขิดกลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านศรีฐานที่ทุกคนให้การยอมรับและภาคภูมิใจ
เราเดินทางมาที่ร้านแม่แย้มหมอนขิด บ้านศรีฐาน เพื่อมาดูว่าหมอนขิดเขาทำกันอย่างไร ทำไมถึงได้รับความนิยมจนกลายเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดยโสธร
วิธีการทำหมอนขิด
1. เลือกผ้าที่จะทำเป็นตัวหมอน ตัดผ้าตามชนิดหรือขนาดของหมอน เช่น หมอนขิด หมอนสามเหลี่ยม ที่นอนระนาด เป็นต้น
2. ตัดผ้าอีกส่วนที่จะเย็บเป็นไส้หมอน สำหรับหมอนสามเหลี่ยม ไส้หมอนจะมี 6 ช่อง, 10 ช่อง หรือ 15 ช่อง แล้วแต่ชนิดของหมอนค่ะ
3. เย็บเป็นรูปหมอน โดยนำตัวหมอนกับไส้หมอนมาเย็บเข้าด้วยกัน (เพื่อความรวดเร็วจะใช้จักรเย็บ)
4. นำหมอนที่เย็บเป็นลูกหมอนแล้ว มาสอยปิดหน้าด้านหนึ่ง (ขั้นตอนนี้ต้องเย็บด้วยมือเท่านั้น)
5. นำหมอนมายัดนุ่น ใส่หนังสือพิมพ์เป็นแกนไส้หมอน เพื่อเพิ่มความมั่นคงและคงรูป ระหว่างนี้ก็ใช้ไม้ตีๆ ตบๆ ให้หมอนเข้ารูป
ขั้นตอนสุดท้าย นำหมอนมาสอยปิดหน้าหมอนอีกด้าน ปัดนุ่นออกแล้วบรรจุใส่ห่อพลาสติก เป็นอันเสร็จเรียบร้อย พร้อมขายได้เลยค่ะ
หมอนขิดของชาวศรีฐานเดิมเป็นหมอนหนุนและหมอนสามเหลี่ยมธรรมดา ต่อมาได้มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายขึ้น เช่น ทำเป็นเบาะรองนั่ง หมอนสามเหลี่ยมที่นั่ง 1-3 พับ หมอนกระดูก ที่นอนระนาด ที่นอนพับ ปลอกหมอน และปลอกเบาะที่นั่ง เป็นต้น
.
อยากซื้อหมอนขิดเอาไปนอนเล่นกันบ้างแล้วล่ะสิ สามารถไปที่หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐานได้เลย มีหลายร้านให้เลือกซื้อ พิกัด : https://goo.gl/maps/7WoLbEU3BDy
หรือติดต่อกลุ่มสตรีพัฒนาหมอนขิดบ้านศรีฐาน หมู่ที่ 4 อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
โทร. 080 472 0979