ย้อนรอย…อารยธรรมขอม ปราสาทหินพิมาย

Spread the love

ย้อนรอย…อารยธรรมขอม อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จ.นครราชสีมา
.
อารยธรรมขอมเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ และได้ทิ้งร่องรอยไว้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือปราสาทหินในแถบอีสานใต้ ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ 
.
วันนี้แอดจะพาเพื่อน ๆ ไปย้อนรอยอารยธรรมขอมที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่เพื่อน ๆ จะได้ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและความสวยงามของปราสาทหินอย่างแน่นอนค่ะ
.
ไปเที่ยวที่ไหนอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย และพกเจลล้างมือติดตัวไปด้วยนะ
.
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม
Call Center 1672
IG : 1672travelbuddy
Twitter : tat1672
Line : @tatcontactcenter
WeChat : VisitThailand

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
เปิดทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/YFFmQd7uDTA3m7e39
โทร. 044 471 568
.
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายมีโบราณสถานที่งดงาม นั่นก็คือ ปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฎอยู่ในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินกรอบประตูโคปุระระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหิน
.
ปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เรียกได้ว่าสร้างก่อนปราสาทนครวัดเสียอีก

ตัวปราสาทมีรูปแบบศิลปกรรมขอมแบบบาปวน จึงเชื่อกันว่าหลังคาของปราสาทหินพิมายเป็นต้นแบบในการก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นเอง

เมื่อเข้าไปในบริเวณปราสาทหิน จะพบกับพลับพลาเปลื้องเครื่องอยู่ทางด้านซ้ายมือ สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้น่าจะใช้เป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเป็นที่จัดของถวายต่าง ๆ

เดินถัดมา จะพบสะพานนาคราช เป็นสะพานที่ทำด้วยหินทราย ราวสะพานเป็นรูปปั้นพญานาค 7 เศียร นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนองครักษ์ที่คอยปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้

เมื่อผ่านสะพานนาคราชและกำแพงชั้นนอกเข้ามาแล้ว จะเป็นส่วนของ “ชาลาทางเดิน” ซึ่งเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อไปถึงระเบียงคดและกำแพงชั้นใน มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เท่านั้น
.
จากการขุดค้น พบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่าในสมัยก่อน ทางเดินนี้มีหลังคา และหลุม 4 หลุมที่อยู่ตรงชาลาทางเดิน มีไว้สำหรับระบายน้ำจากหลังคาของทางเดินนั่นเอง

โคปุระที่สลักลวดลายสวยงาม และระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธานและปรางค์สำคัญที่อยู่ใกล้กัน

เมื่อเข้ามาบริเวณลานชั้นใน เราจะได้เห็นความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาสถานแห่งนี้ โดยมีส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑปและเรือนธาตุ (องค์ปราสาท)

มณฑปมีลักษณะเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมต่อกับองค์ปราสาท มีหน้าบันเป็นรูปสลักพระศิวนาฎราช

องค์ปราสาทมีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม สลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง และซุ้มหลังคา เป็นต้น

ภายในมีห้องครรภคฤหะ ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถาน ซึ่งรูปเคารพดังกล่าวสูญหายไป ถูกแทนที่ด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรก

นอกจากปราสาทประธานที่สวยงามอลังการแล้ว ปรางค์พรหมทัตก็เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานสำคัญที่ไม่ควรพลาดชม

ปรางค์พรหมทัตตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลง ภายในมีประติมากรรมจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต โดยองค์จริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

Scroll to Top