ปราสาทหินพนมรุ้ง อลังการศิลปะขอมในดินแดนสยาม

Spread the love

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาใหญ่” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีความสูงประมาณ 350 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ซึ่งได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

จากทางเข้าปราสาท จะเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสวรรค์

ถัดเข้ามาคือ สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท

ปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมอยู่ด้านหน้า

จุดเด่นของปราสาทประธาน คือ หน้าบันซึ่งสลักเป็นรูปศิวนาฏราช และทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์

หน้าบันรูปศิวนาฏราช (พระศิวะทรงฟ้อนรำ)

ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ (พระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราช) 

ภายในปราสาทประธานเป็นห้องโถงเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญที่สุดของปราสาท คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น

ในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี จะเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้ง และในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็จะตกส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน

มีความเชื่อกันว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดผ่านประตูนี้เป็นปรากฏการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นการเสริมพลังชีวิตและความเป็นสิริมงคลของผู้ที่พบเห็น

กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมา แล้วทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนทั้งหมดกลับไปก่อใหม่ที่เดิม

ปราสาทหินพนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4466 6251-2

การเดินทางมายังปราสาทหินพนมรุ้ง : จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) ระยะทาง 50 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 24 ไปอีก 14 กิโลเมตร จนถึงบ้านตะโก จากนั้นเลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2177 ทางไปบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตรงไปอีก 12 กิโลเมตร ถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ระยะทางจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 63 กิโลเมตร

Scroll to Top