เพื่อนร่วมทางพา Go Local : บ้านหนังตะลุง อ.สุชาติ ทรัพย์สิน จ.นครศรีธรรมราช

Spread the love

เพื่อนร่วมทางพา Go Local : บ้านหนังตะลุง อ.สุชาติ ทรัพย์สิน จ.นครศรีธรรมราช

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดย อ.สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทย และถือเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญของประเทศ

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงรูปและตัวหนังตะลุงโบราณ รวมทั้งหนังตะลุงนานาชาติอายุกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ รวมไปถึงการสาธิตการแกะตัวหนังและการเชิดหนังตะลุงด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและโบราณสถาน พ.ศ.2539 และรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ พ.ศ.2553

หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบทการสนทนาและการเชิดตัวหนังตะลุงนี้ นายหนังตะลุงจะเป็นคนแสดงเองทั้งหมด

ตัวหนังตะลุงทำมาจากหนังวัวและหนังควาย เพราะมีความหนาพอเหมาะ มีความเหนียวทนทานต่อการแกะลาย และมีความโปร่งแสงพอสมควร 

อีกหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของหนังวัวและหนังควายคือ ตัวหนังจะไม่บิดงอหรือพับง่ายๆ เมื่อทำการเชิดจะสามารถบังคับการเคลื่อนไหวได้ดี ทำให้ตัวหนังแสดงอิริยาบถได้สมจริง 

สำหรับหนังสัตว์อื่นๆ ก็ใช้แกะรูปหนังได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะมีลักษณะค่อนข้างจะทึบแสง ทำให้เวลาแสดงจะเห็นลวยลายได้ไม่ชัดเจน

ก่อนจะทำการแกะลาย ช่างจะต้องร่างภาพของตัวละครแต่ละตัวลงบนหนังก่อน ซึ่งลวดลายตัวละครของหนังตะลุงจะไม่ซับซ้อนเหมือนหนังใหญ่ ช่างแกะตัวหนังตะลุงจะใช้เหล็กปลายแหลมที่เรียกว่า “เหล็กจาร” ร่างภาพลงไปในแผ่นหนังเลยทีเดียว เนื่องจากรอยเหล็กจารที่ร่างลงไปสามารถลบได้ เพียงใช้นิ้วมือแตะน้ำหรือน้ำลายลูบเบาๆ 

แต่สำหรับตัวละครที่มีลวดลายละเอียดซับซ้อน ช่างจะร่างภาพลงในกระดาษก่อน แล้วจึงใช้เหล็กจารทับบนแผ่นหนังอีกที

ขั้นตอนการฉลุลายลงบนตัวหนัง ต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเครื่องมือที่ใช้ทำการฉลุลายจะมีเขียงสำหรับรองแกะฉลุหนัง มีดขุดปลายแหลมเล็ก และปลายแหลมมน ตุ๊ดตู่หรือมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกกลม มุกเหลี่ยม มุกโค้ง มุกตา มุกดอก มุกวงรี มุกปากแบน ฯลฯ ค้อนตอกมุก และเทียนไขหรือสบู่สำหรับจิ้มปลายมีดขุดหรือปลายมุก

ขั้นตอนสุดท้ายคือนำตัวหนังไปลงสีและลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปตัวหนังเสร็จแล้ว จะลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปตัวหนังที่ใช้เชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย เพราะจะช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงาม เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยขึ้น

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันทั่วถึงอย่างในปัจจุบัน หนังตะลุงเป็นหนึ่งในมหรสพและความบันเทิงสำหรับชาวบ้านซึ่งจะแสดงกันทั้งในงานบุญ งานวัด งานเฉลิมฉลองที่สำคัญๆ หรือแม้กระทั่งงานศพ

อาจารย์สุชาติ ทรัพย์สิน มีความสนใจในการวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ จนมีโอกาสได้เรียนวาดลายหนังตะลุงกับอาจารย์ทอง หนูขาว ช่างแกะรูปหนังตะลุงฝีมือดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช จนกลายเป็นศิลปินหนังตะลุงและช่างทำรูปหนังตะลุงฝีมือเยี่ยม ผู้ริเริ่มและสืบทอดการทำตัวหนังตะลุง รวมไปถึงการเชิดหนังตะลุงจนที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ 

แม้ปัจจุบันอาจารย์สุชาติจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ลูกหลานก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และสืบสานเพื่อให้หนังตะลุงยังคงอยู่ต่อไป

บ้านหนังตะลุง อ.สุชาติ ทรัพย์สิน 
ที่ตั้ง : 10/18 ถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โทร : 075 346 394
เปิดทุกวันเวลา 08.30 – 17.00 น.

การเดินทาง 
จากสนามหน้าเมือง ไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปทางวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ผ่านศาลากลางจังหวัด หอนาฬิกา ถึงแยกพานยม ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยพานยม จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนศรีธรรมโศก เข้าสู่ซอยศรีธรรมโศก 3 บ้านหนังตะลุงจะอยู่ขวามือ

Scroll to Top