วัดภูมินทร์ เดิมชื่อว่า “วัดพรหมมินทร์” ตั้งชื่อตามเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2139 หลังจากที่ขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปี ต่อมาชื่อวัดถูกเรียกกันจนเพี้ยนกลายเป็น “วัดภูมินทร์” มาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ “พระอุโบสถจตุรมุข” เป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยรวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ในอาคารเดียวกัน เป็นการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อแห่งพุทธศาสนา มีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐานอยู่ภายใน และมีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ที่เปรียบเสมือนการอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป เชื่อกันว่า หากใครจะไปกราบขอพรพระจตุรทิศ ให้พยายามสังเกตหน้าองค์พระ 1 ในทั้งสี่ทิศ ซึ่งจะมีอยู่เพียงทิศเดียวเท่านั้น ที่หน้าองค์พระประธานจะมีลักษณะยิ้มแย้มมากกว่าทั้ง 3 ทิศที่เหลือ ให้กราบขอพรยังทิศนั้นแล้วจะได้สมปรารถนา วัดนี้เคยได้พิมพ์อยู่บนธนบัตรราคา 1 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรในแบบ 5 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2485 ด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 และมีโบสถ์วัดภูมินทร์อยู่ทางด้านซ้ายของธนบัตร
ภาพจิตกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) ในวัดภูมินทร์ที่โด่งดังมากคือ ภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” หรือ ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน ภาพนี้ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่
ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน
ภาพการค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง
ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกเรือนมีชานเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน
วัดภูมินทร์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. มีสถานที่น่าสนใจใกล้เคียงคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านและวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
GPS : 18°46’28.8″N 100°46’17.7″E