ย่านสามแพร่ง เป็นชุมชนเก่าแก่ อดีตเป็นกลุ่มวังที่ประทับของเจ้านาย ได้แก่ วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ วังกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ และวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
.
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดทางผ่านกลางพื้นที่กลุ่มวังนี้ เพื่อเชื่อมถนนอัษฎางค์กับถนนตะนาว จนเกิดเป็นทางสามแพร่ง และตั้งชื่อถนนในย่านนี้ตามพระนามเจ้าของวัง คือ ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งภูธร
.
ในสมัยนั้น ย่านสามแพร่ง นับว่าเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ มีห้างร้านมากมาย โดยเฉพาะร้านจำหน่ายอุปกรณ์สนามของข้าราชการทหาร-ตำรวจ รวมทั้งร้านทอง ร้านอาหาร ห้างฝรั่ง และโรงละครปรีดาลัย โรงแสดงละครร้องแห่งแรกของไทย
ย่านสามแพร่งตั้งอยู่ที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ ในเขตพระนคร สามารถเดินทางมาได้หลายวิธี
.
รถส่วนตัว : ตั้ง GPS มุ่งหน้ามายังเขตพระนคร จากนั้นเลี้ยวตัดเข้าถนนตะนาว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
.
MRT : สถานีสามยอด ทางออกที่ 3 เดินมุ่งหน้ามาทางแยกสี่กั๊กพระยาศรี เดินเลี้ยวขวาเข้าถนนเฟื่องนครมาประมาณ 700 เมตรก็จะถึงย่านสามแพร่ง
.
MRT : สถานีสนามไชย ทางออกที่ 2 เดินไปทางสวนสราญรมย์ แล้วเข้าถนนอัษฎางค์
.
1 ศาลเจ้าพ่อเสือ
2 ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์
3 กุยช่ายคุณแม่
4 โรงเรียนตะละภัฏศึกษา (วังวรวรรณ)
5 ก๋วยเตี๋ยวนายมัก เจ้าเก่า แพร่งนรา
6 ร้านขนมหวานลุงแดง แพร่งนรา
7 ร้าน ก.พานิช ข้าวเหนียวมะม่วงและขนมไทย
8 ชิกัจฉา กาแฟสด แพร่งภูธร
9 1905 Heritage Corner & Café แพร่งภูธร
10 ขนมปังปิ้ง “ภูธรบาร์” แพร่งภูธร
ศาลเจ้าพ่อเสือ
.
มาถึงแขวงศาลเจ้าพ่อเสือ ก็ต้องเข้าไปสักการะกันสักหน่อย “ศาลเจ้าพ่อเสือ” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ รูปเจ้าพ่อเสือ รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม ผู้คนต่างมากราบไหว้ขอพร เสริมดวงบารมี รวมถึงสะเดาะเคราะห์แก้ปีชงต่าง ๆ
.
สำหรับผู้ที่เพิ่งเคยไปครั้งแรก หรือไม่คุ้นชินกับการไหว้ศาลเจ้าก็ไม่ต้องห่วงจ้า ด้านในมีเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าบอกขั้นตอนอย่างละเอียด
.
ด้านในห้ามถ่ายภาพนะ
.
เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น.
ที่ตั้ง 468 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์
.
เดินออกจากศาลเจ้าพ่อเสือ ก็มาถึงแพร่งที่ 1 คือ “แพร่งสรรพศาสตร์” ตรงปากทางเข้าแพร่งจะมี “ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์” ตั้งอยู่ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรป หน้าบันเจาะเป็นวงกลม ในช่องนั้นมีประติมากรรมรูปผู้หญิงในท่ายืนถือคบไฟ ซุ้มประตูนี้เป็นส่วนหนึ่งของวังสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
.
ต่อมาภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนหมด เหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ยังคงความสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ชม และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของย่านสามแพร่ง
จากซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ เดินเล่นดูร้านรวง คาเฟ่ สตูดิโอศิลปะแล้ว อย่าลืมแวะไปถ่ายรูปกับภาพวาดรูปซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ที่ฝาผนังด้านข้างโรงแรม Oyo Bright Minitel นะ
.
ที่ตั้ง ถนน แพร่งสรรพศาสตร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
กุ้ยช่ายคุณแม่
.
เดินย้อนกลับมาที่ปากทางเพื่อจะเดินต่อไปที่แพร่งนรา สายตาก็เหลือบไปเจอของน่ากินเข้าซะแล้ว
.
“กุ้ยช่ายคุณแม่” จุดเด่นก็คือ แป้งบางใสมองเห็นไส้ น่ากินมาก เข้ากันได้ดีกับน้ำจิ้มรสกลมกล่อม มีทั้งหมด 4 ไส้คือ กุ้ยช่าย เผือก มันแกว และหน่อไม้
.
ที่มาของกุ้ยช่ายคุณแม่ เกิดขึ้นจากที่คุณแม่ทำขนมกุ้ยช่ายให้ลูก ๆ กิน แล้วลูก ๆ บอกว่ารสชาติอร่อย เลยชวนแม่เปิดร้านขาย ซึ่งปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว มีลูกค้ารวมถึงเหล่าฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทุกสีมารอคิวซื้อกันไม่ขาดสาย
เปิดทุกวัน 05.00-17.00 น.
โทร. 081 303 0022
ที่ตั้ง 520 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โรงเรียนตะละภัฏศึกษา (วังวรวรรณ)
.
กลางแพร่งนรา มีอาคารเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ยังคงความสวยงามโดดเด่นออกมาจากอาคารอื่น ๆ นั่นก็คือ โรงเรียนตะละภัฏศึกษา บริเวณแพร่งนรานี้ ในอดีตคือวังวรวรรณ ที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งทรงปรีชาสามารถมากในด้านการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นิพนธ์บทละครร้อง และสร้างโรงละครปรีดาลัยซึ่งเป็นโรงละครร้องแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นภายในวังของพระองค์ท่าน ลักษณะอาคารเป็นปูนผสมไม้ มีระเบียงไม้ฉลุสวยงาม ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา และปิดทำการไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันเราสามารถชมอาคารนี้ได้แค่ภายนอกเท่านั้น
.
ที่ตั้ง ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศสองข้างทางของถนนแพร่งนรา เราจะได้เห็นอาคารตึกแถวที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปผสมจีนเรียงยาว
ก๋วยเตี๋ยวนายมัก เจ้าเก่า แพร่งนรา
.
เดินเล่นชมอาคารร้านรวงในแพร่งนราเพลิน ๆ ก็ได้กลิ่นหอมของน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ชวนท้องร้อง เงยหน้าดูก็เห็นร้านนายมัก เจ้าเก่า เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและเย็นตาโฟที่เปิดขายมานานกว่า 70 ปี ปัจจุบันมีหลายสาขา
จุดเด่นคือเกี๊ยวปลา เส้นปลาทำเอง และทำสดใหม่ทุกวัน ลูกค้าส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เหนียว นุ่ม อร่อย และไม่คาว
.
ถึงจะเป็นร้านที่ไม่ได้มีเมนูเยอะแยะ แต่แอดได้ชิมแล้วบอกเลยว่าอร่อยมาก ๆ ไปลองกันได้
.
เปิดทุกวัน 09.30-15.00 น.
โทร. 02 222 0093, 086 616 5340
ที่ตั้ง 62 ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ร้านขนมหวานลุงแดง แพร่งนรา
.
กินคาวแล้วจะพลาดของหวานได้ยังไง ในซอยแพร่งนรานี้มีร้านขนมหวานขึ้นชื่อแห่งหนึ่งคือ “ร้านลุงแดง” มีเมนูหลากหลายไม่ต่ำกว่า 10 อย่าง รสชาติหวานกำลังดี
.
ถึงจะดูเป็นขนมหวานหน้าตาธรรมดาแต่รสชาติไม่ธรรมดาเลย เปิดขายมา 50 ปีแล้วจ้า มีทั้งขาประจำและขาจรอย่างแอดเดินเข้าร้านกันอย่างต่อเนื่อง
มาดูเมนูที่แอดเลือกกัน น่ากินทั้งนั้นเลย แอดสั่งข้าวเหนียวดำเปียก ลำไยเปียก และสาคูเปียกข้าวโพดมาชิม รสหวานกำลังดี แถมหอมกลิ่นกะทิอ่อน ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังมีสังขยา ลูกชุบ ตะโก้ กล้วยเชื่อม เผือกกวน ฯลฯ ซื้อกลับบ้านไปฟินต่อกันได้
.
เปิดทุกวัน 09.00-15.00 น.
โทร. 02 622 0404
ที่ตั้ง 106 ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ก.พานิช ข้าวเหนียวมะม่วงและขนมไทย
.
มาถึงแพร่งภูธร เราจะพลาดข้าวเหนียวมะม่วงในตำนาน รสชาติอร่อยเด็ดอย่าง “ก.พานิช” ได้อย่างไร ข้าวเหนียวมูนนุ่มๆ เม็ดสวยไม่เละ ราดน้ำกะทิ รสหวานเค็มมันกำลังดี กินกับมะม่วงสุก อร่อยลืมอ้วนกันเลยทีเดียว นอกจากข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว ยังมีขายขนมไทยอื่น ๆ อย่างข้าวเหนียวแก้ว ขนมกล้วย ขนมใส่ไส้ ฯลฯ อีกด้วย อร่อยไม่แพ้ใครเหมือนกัน
.
ก.พานิช เปิดร้านมาตั้งแต่ พ.ศ.2485 ได้รับรางวัลการันตีความอร่อยมามากมาย รวมทั้งรางวัลบิบ กรูมองต์ ของมิชลิน ร้านอยู่บริเวณแพร่งภูธร ด้านถนนตะนาว สังเกตดู เห็นคนมุง ๆ อยู่นั่นล่ะ ใช่เลย
.
เปิดวันจันทร์-เสาร์ 07.00-18.00 น.
โทร. 02 221 3554
ที่ตั้ง 443 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
.
ขอบคุณรูปภาพจากเพจ ก.พานิช – Kor Panich
“ชิกัจฉา” กาแฟสด แพร่งภูธร
.
มาถึงแพร่งสุดท้าย ที่ “แพร่งภูธร” แอดจะพาไปนั่งชิลล์ ชมของเก่าย้อนยุคที่หาชมได้ยากที่ “ชิกัจฉา”
เป็นร้านกาแฟสดที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 80 ปี เริ่มแรกก็เปิดเป็นร้านกาแฟโบราณ ก่อนปรับไปเป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นร้านกาแฟแนวใหม่ในบ้านเก่าอีกครั้งในปัจจุบัน
ในตู้กระจกรอบ ๆ ร้าน เต็มไปด้วยของเก่าหายาก มีทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ภาชนะ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันบางยี่ห้อหรือบางรุ่นก็ได้เลิกผลิตไปแล้ว
เมนูมีหลากหลายให้เลือกสั่ง แถมราคาเป็นกันเองมาก บ่าย ๆ แบบนี้ได้เครื่องดื่มเย็น ๆ สักแก้ว ดับร้อนได้ดีเลยล่ะ
.
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น.
โทร. 081 559 9608
ที่ตั้ง 550 ถนนตะนาว(ปากซอยแพร่งภูธร) แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พอได้เครื่องดื่มเย็น ๆ แล้ว ก็ออกไปถ่ายรูปรอบ ๆ กันต่อ
.
แพร่งภูธร หรือในอดีตคือ “วังสะพานช้างโรงสี” ซึ่งเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ประทับที่วัง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งต่อมาเมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงโปรดเกล้าฯให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว และยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ ลักษณะคล้าย ๆ กับตึกแถวในถนนแพร่งนรา โดยอาคารที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวังที่ยังพอหลงเหลืออยู่ คือ ตึกอนุสรณ์สมเด็จพระปิตุจฉาสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งปัจจุบันเป็น “สุขุมาลอนามัย”
1905 Heritage Corner & Café
.
เป็นลักซูรี่เกสต์เฮาส์ขนาด 3 ห้อง ที่รีโนเวทมาจากตึกเก่าอย่างประณีต อยู่ใกล้ ๆ กับสุขุมาลอนามัย เพียงไม่กี่สิบก้าว จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ เจ้าของเกสต์เฮาส์พบว่าที่นี่เคยเป็นโรงน้ำชามาก่อน จึงรีโนเวทและตกแต่งที่พักแห่งนี้ในคอนเซ็ปท์โรงน้ำชา มีกลิ่นอายความเป็นจีนผสมกับความโคโลเนียลตามยุคสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างลงตัว ละมุนน่าดูไปทุกมุม
.
นอกจากนี้ 1905 Heritage ยังมีร้านกาแฟและร้านขายงานคราฟท์ท้องถิ่นให้เราได้ไปช้อปปิ้งเพลิน ๆ อีกด้วย
.
ขอบคุณรูปภาพจากเพจ 1905 Heritage Corner
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-21.00 น. และวันเสาร์ 10.00-21.00 น. (เวลาเฉพาะส่วนของคาเฟ่)
โทร. 02 041 0102
ที่ตั้ง 66,68 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
.
ขอบคุณรูปภาพจากเพจ 1905 Heritage Corner
ภูธรบาร์ ปังปิ้งโบราณลุงเฉื่อย แพร่งภูธร
.
ปิดท้ายกันที่ร้านขนมปังปิ้งโบราณ สูตรเฉพาะของลุงเฉื่อยที่ “ภูธรบาร์”
.
แอบสงสัยใช่ไหมว่าลุงเฉื่อยเป็นใครกัน “ลุงเฉื่อย” ไม่ใช่ชื่อของเจ้าของร้าน แต่เป็นสมญานามที่ลูกค้าตั้งให้ เพราะ “คุณหนึ่ง” เจ้าของร้านปิ้งช้านั่นเอง ถึงจะปิ้งช้าแต่ได้ชิมแล้ว แอดคิดว่าก็คุ้มกับการรอจริง ๆ
เมนูขนมปังปิ้งมีให้เลือกหลายไส้ เช่น แยม พริกเผาหมูหยอง เนยน้ำตาล พอปิ้งลงบนเตาถ่าน ขนมปังก็ส่งกลิ่นหอมชนิดที่ใครเดินผ่านเป็นต้องแวะ
นอกจากขนมปังปิ้งแล้วก็ยังมีเครื่องดื่มทั้งชา กาแฟ นม โซดา
รวมทั้งของกินเล่นอีกหลายเมนูอย่างเกี๊ยวทอด ไข่กระทะ ฯลฯ
.
เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 17.00-23.00 น.
โทร. 095 118 8554
ที่ตั้ง 124 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
งานเทศกาลศิลปะชุมชน สามแพร่ง facestreet
.
เป็นเทศกาลศิลปะประจำปีที่มีคนตั้งตารอมากที่สุดงานหนึ่ง เป็นงานเชื่อมชุมชน ชีวิต และงานศิลปะที่คึกคักมาก มีการจัดกิจกรรมกระจายไปทั่วทั้งชุมชนสามแพร่ง ทั้งออกร้าน เวิร์คช้อปการทำอาหารและขนม เวิร์คช้อปงานคราฟ์ แสดงดนตรี งานศิลปะ และการแสดงต่าง ๆ โดยปกติจะจัดในราวเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แต่ปีที่แล้วงดไปเพราะสถานการณ์โควิด 19 ส่วนปีนี้ก็คงต้องรอดูสถานการณ์กันอีกที ถ้ามีข้อสรุปว่างานได้กลับมาจัดอีกครั้ง เพื่อน ๆ อย่าพลาดนะคะ