เที่ยว ท่อง ล่อง แพร่ แลประตูสุ่ล้านนา

จังหวัดแพร่ เมืองเก่าที่เงียบสงบ เป็นมิตร และมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันล้ำค่ามาอย่างยาวนาน ได้ชื่อว่าเป็น “ประตูสู่ล้านนา” เนื่องจากเดิมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสำคัญที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ภายในภูมิภาค ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอยู่มากมาย สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนได้ตลอดทั้งปี

“อุทยานลิลิตพระลอ” คือสถานที่แห่งแรกที่อยากให้นักเดินทางแวะมาเยี่ยมชม จากตำนานเจ้าเมืองผู้ปกครองนครแมนสรวงกับความรักอมตะ แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศร่มรื่นในอุทยาน 

จุดแรกที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ได้แก่ พระลอ พระเพื่อน และพระแพง ในฉากที่ทั้งสามยืนอิงพิงกันตาย มีไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายใช้หลอกล่อพระลอให้รีบมาหาพระเพื่อนและพระแพง 

ถัดมาเป็นถ้ำจำลองของปู่เจ้าสมิงพราย ภายในถ้ำได้จัดแสดง ภาพประติมากรรมฝาผนัง เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีลิลิตพระลอ ด้านนอกมีอาคารจัดแสดงประวัติ และวัตถุโบราณที่ขุดพบในบริเวณอุทยาน 

ไม่ไกลจากอุทยานนักจะเป็นวัดพระธาตุพระลอ ซึ่งเชื่อกันว่าซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงนั่นเอง

“คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่” ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย (เจ้าหลวงเทพวงศ์ฯหรือพระยาพิริยวิไชย) 

ตัวอาคารอิฐโอ่โถง ประณีตงดงามด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ จนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่น ผู้มาเยือนสามารถเดินศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของเมืองแพร่ได้เป็นอย่างดี

“บ้านวงศ์บุรี” ก่อสร้างในสมัยของแม่เจ้าบัวถามหายศปัญญา ภรรยาคนแรกของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย เป็นบ้านไม้สักเรือนมะนิลาขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีรูปทรงไทยผสมยุโรป ตกแต่งลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง 

เหตุที่เรียกว่าเรือนขนมปังขิง นั่นก็เพราะมีการประดับตกแต่งลวดลายฉลุละเมียดละไมเหมือนขนมปังขิง ที่มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งเหมือนขิงนั่นเอง ภายในตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ตกทอดสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน รวมถึงเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น สัญญาบัตรที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 5 เอกสารซื้อขายทาสอายุกว่า 100ปี เป็นต้น เรือนหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง รวมทั้งได้รับการลงตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ อย่างมากมาย

“อุทยานแห่งชาติแม่ยม” เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าสักธรรมชาติที่มีอยู่อย่างหนาแน่น 

ภายในอุทยานประกอบด้วย แก่งเสือเต้น เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม เหมาะสำหรับกางเต็นท์พักแรมและล่องแก่งเพื่อสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม จุดชมทะเลหมอกมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน 

ในช่วงฤดูหนาวจะได้ดื่มด่ำกับทะเลหมอกยามเช้าและการโล้ชิงช้าของเผ่าอาข่าอันเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจ

“น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง” อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นน้ำตกที่สวยงามและมีขนาดใหญ่ที่สุด ไหลลดหลั่นลงมารวม 7 ชั้น ระยะทางประมาณ 213 เมตร คล้ายบันได ลงมาจากยอดดอยแม่เกิ๋ง ซึ่งคำว่า “แม่เกิ๋ง” เป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึงขั้นบันได 

ชั้นที่ 1 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำมากที่สุด เพราะมีแอ่งน้ำกว้าง น้ำตกสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านสบเกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 900 เมตร 

ด้วยสายน้ำตกที่ชุ่มฉ่ำและมีความสวยงาม ทำให้น้ำตกแม่เกิ๋งหลวงเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดแพร่ที่ไม่ควรพลาด

“แพะเมืองผี” เป็นสถานที่มีความสวยงามด้านธรณีวิทยา เกิดจากกรวด หิน ดิน ทราย อายุกว่า 10,000-30,000 ปี บนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ที่จับตัวกันอย่างไม่แน่นหนาโดยหินทรายที่มีความละเอียดต่างกัน ทนการผุพังได้ไม่เท่ากัน สบโอกาสให้สายน้ำได้แทรกซึมกัดเซาะเป็นเวลานาน กัดกร่อนจนกลายเป็นหน้าผาสูงต่ำ บ้างก่อให้เกิดแท่งเสาดินกระจัดกระจาย เห็นเป็นรูปร่างสวยแปลกตาตามแต่จินตนาการของผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นรูปปราสาทโรมันโบราณ หน้าผาตระหง่าน จอมปลวกอันศักดิ์สิทธิ์ ดอกเห็ดยักษ์แสนสวย หรือยอดเจดีย์แห่งศรัทธา 

ที่มาของชื่อแพะเมืองผีมาจากคำว่า “แพะ” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ป่าละเมาะ “เมืองผี” หมายถึงความเงียบเหงาวังเวง สื่อถึงสภาพป่าขนาดใหญ่ มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใช้ทำพิธีขอฝนในสมัยโบราณ 

ในปัจจุบันมีการจัดเส้นทางธรรมชาติไว้ให้ศึกษาสภาพป่าและลักษณะทางธรณีวิทยา เพื่อเป็นการส่งเสริม ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพพื้นที่วนอุทยานมากยิ่งขึ้น

“วัดพระธาตุจอมแจ้ง” เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองแพร่ เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระหัตถ์เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุสีทองอร่าม สูงกว่า 29 เมตร นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1331 มีรูปทรงคล้ายพระธาตุช่อแฮ โดยเป็นเจดีย์ทรงพุ่มศิลปะผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปะเวียงโกศัยที่ยังอยู่ในลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ 

เดิมเรียกกันว่าพระธาตุจวนแจ้งเนื่องมาจากคำว่า “จอม” หมายถึงยอดที่สูงสุดของยอดเขาตามภาษาถิ่นภาคเหนือ กล่าวกันว่าสมัยที่พระพุทธองค์เสด็จมาถึงสถานที่นี้จวนสว่างพอดี และต่อมาเพี้ยนเป็นจอมแจ้งจนถึงปัจจุบัน 

ภายในวัดประมีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ปางนาคปรกประดิษฐานอยู่คู่กับองค์พระธาตุ มีพระนอนปางไสยาสน์องค์ใหญ่ในลานปฏิบัติธรรม ภายในวิหารมีหลวงพ่อจอมแจ้งซึ่งมีอายุประมาณ 600 กว่าปีเป็นพระประธาน 

ในเขตวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของโบราณของวัด มีรูปปั้นแสดงรูปสวรรค์ นรก จำลองเพื่อเตือนให้คนทำดีละเว้นความชั่ว ภายในวัดมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ 

บริเวณรอบวัดทั้ง 4 ทิศล้อมรอบด้วยป่าไม้มีทั้งไม้ยืนต้นและยาสมุนไพรหลากหลายสายพันธุ์ เหมาะกับการปฏิบัติธรรมควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติได้อีกด้วย

“วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี” เป็นวัดที่มีความสวยงามและอลังการแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาแบบผสมผสาน รวมระยะเวลาในการสร้างกว่า 17 ปี โดยฝีมือของหลวงพ่อมนตรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าครูบาน้อยที่อายุเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น 

หลวงพ่อมนตรีได้จำลองรูปแบบมาจากวัดสำคัญๆ ของภาคเหนือ และจากประเทศอื่นได้แก่ พม่า จีน และลาว โดยเลือกเอาจุดเด่นของแต่ละแห่งมารวบรวมไว้ที่วัดนี้ เป็นการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้มีลักษณะต่างจากวัดทั่วไป บ่อยครั้งที่มีผู้พบเห็นหลวงพ่อกำลังทำงานบนนั่งร้านหลังคาโบสถ์ หรือกำลังปั้นโครงพระพุทธรูปก่อนที่จะให้ช่างฝีมือดำเนินการต่อ 

ความสามารถในงานพุทธศิลป์ของท่านได้รับการกล่าวขานจากผู้พบเห็นเป็นอันมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรก็เคยมาเห็น และต่างทึ่งในฝีมือ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความโดดเด่นของวัดนี้ จะดึงดูดพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ให้หยุดรถ เพื่อมาถ่ายรูป และร่วมนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดได้เป็นอย่างดี

“วัดพระธาตุดอยเล็ง” นับเป็นปูชนียสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ที่อยู่คู่กับพระธาตุช่อแฮและพระธาตุจอมแจ้งมายาวนาน 

ตามตำนานกล่าวว่า ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่ดอยลูกหนึ่ง ครั้นเสด็จมาถึงก็จวนแจ้งหรือใกล้สว่างแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็คือ “พระธาตุจอมแจ้ง” หลังจากนั้นได้เสด็จมาทางทิศเหนือถึงธชัคคะบรรพตแล้วได้ประทับอยู่ที่นั่น ระหว่างนั้นมีขุนลัวะอ้ายก้อมเป็นผู้อุปฎฐากซึ่งได้มอบพระเกศาธาตุ นั่นก็คือ “พระธาตุช่อแฮ” ในปัจจุบัน ต่อจากนั้นได้เสด็จขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และประทับอยู่ดอยลูกหนึ่งที่สูงกว่าดอยลูกอื่นในเมืองโกศัยซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับแลดู ที่ภาษาเหนือเรียกกันว่า “เล็งผ่อ” จึงได้กลายเป็น ที่มาของชื่อดอยเล็งในปัจจุบัน 

ด้วยตัววัดตั้งอยู่บนภูเขาสูง ทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองแพร่ที่โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาและผืนป่าเขียวชอุ่มทางจังหวัดแพร่จึงได้จัดทำระเบียงชมวิวไว้บริเวณทางขึ้นวัด ทำให้นักเดินทางสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าและสายหมอกได้อย่างงดงาม ก่อนจะเดินขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุเพื่อเป็นศิริมงคลสืบต่อไป

Scroll to Top
Send this to a friend