พิษณุโลก-สุโขทัย 3 วัน 2 คืน

พิษณุโลก-สุโขทัย 3 วัน 2 คืน

วันที่ 1
กรุงเทพมหานคร – จ.พิษณุโลก
– บ้านมุง อ.เนินมะปราง
.
วันที่ 2
จ.พิษณุโลก- จ.สุโขทัย
– บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์
– อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
.
วันที่ 3
จ.สุโขทัย – จ.พิษณุโลก – กรุงเทพมหานคร
– อุษาสังคโลก

วันที่ 1

ทริปนี้ แอดเดินทางด้วยรถไฟ เพราะอยากรู้ว่าการเดินทางด้วยรถไฟในแบบ New Normal จะเป็นยังไง บอกได้เลยว่า แทบไม่มีอะไรที่เพื่อน ๆ ต้องกังวลเลย ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ต่างดูแลตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์กันแทบทุกคนเลย ที่สำคัญระหว่างเดินทาง วิวสวยมากเลยทีเดียว

รถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงตอน 07.00 น. ถึงสถานีพิษณุโลกประมาณ 15.30 น. ล่าช้ากว่ากำหนดนิดหน่อย จุดหมายแรกของแอดคือ ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองไปประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หมู่บ้านนี้ ล้อมรอบไปด้วยภูเขาหินขนาดใหญ่ อายุ 300 ล้านปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
.

แอดนัดกับคุณตุ่น แอดมินกลุ่มคนรักเนินมะปรางซึ่งจะมาเป็นไกด์นำเที่ยวไว้บริเวณ “ถนนแลนด์มาร์ค” ของบ้านมุงไว้เวลา 16.30 น. โดยการนั่งรถอีแต๊กชมหมู่บ้านจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อน ๆ คนไหนอยากนั่งรถชมหมู่บ้านตอนเย็นแบบแอด อย่าลืมดูเวลาดี ๆ นะ เพราะตอนเย็นจะมีไฮไลท์คือ การชมฝูงค้างคาวออกหากินด้วย
.
ค่าบริการรถนำเที่ยว 800 บาท นั่งได้ 10-12 คนต่อ 1 คัน
.
บ้านมุงเหนือ หมู่ 1 ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
โทร 085 400 1727 (คุณตุ่น แอดมินเพจ คนรักเนินมะปราง)
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.

หลังจากขึ้นรถอีแต๊กแล้ว คุณตุ่นก็พาแอดไปเที่ยวตามถ้ำต่าง ๆ เช่น ถ้ำวัดหลวงพ่อบุญมี ถ้ำค้างคาว ถ้ำเดือนถ้ำดาว ซึ่งส่วนมากจะมีค้างคาวอาศัยอยู่ ไฮไลท์ของที่นี่คือ ถ้ำนางสิบสอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ถ้ำนี้เคยเป็นทะเลเมื่อ 300 ล้านกว่าปีก่อน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อตามตำนานพื้นบ้านของไทยว่า เป็นที่ ๆ นางทั้งสิบสองถูกยักษ์นำมาขังไว้และควักลูกตาออก

จากนั้น คุณตุ่นก็พาแอดนั่งรถอีแต๊กไปชมแคมป์หมาบ้าใจดี ที่พักที่นำรายได้ไปช่วยเหลือสุนัขจรจัด และไปชมเส้นทางภูเขาหินรอบเนินมะปราง ซึ่งมีภูเขาหินเรียงกันเป็นระยะทางราว ๆ 13.5 กิโลเมตร

ใครที่สนใจกิจกรรมเเนวเเอดเวนเจอร์ อย่างการพิชิตยอดเขาหินปูน สามารถสอบถามข้อมูลและจองล่วงหน้าที่คุณตุ่นได้เลย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง เส้นทางเป็นดินเเดงและร่องหิน ต้องเดินด้วยความระมัดระวัง

ปิดท้ายด้วยการกลับมาตรงถนนแลนด์มาร์คเพื่อชมค้างคาว ทุกเย็นจะมีค้างคาวมากกว่าล้านตัวออกมาหากินประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนวันที่แอดไป ค้างคาวออกมาหากินประมาณ 6 โมงเย็น โดยใน 15-20 นาทีแรกจะเห็นค้างคาวบินออกมาเยอะ จนแอดอดไม่ได้ที่จะเอากล้องออกมาถ่ายรูปเก็บไว้รัว ๆ เลยล่ะ
.
การเดินทางไปบ้านมุงที่แอดแนะนำคือ การเช่ารถ หรือถ้าเพื่อน ๆ เป็นสายลุย ก็สามารถนั่งรถโดยสารสายพิษณุโลก – เนินมะปราง จากสถานี บขส.เก่ามาได้ ค่ารถ 70 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
เวลาเดินรถมีดังนี้

พิษณุโลก-เนินมะปราง
06.45 / 07.45 / 10.15 / 12.15 / 13.40 / 15.50 / 17.20 น.
เนินมะปราง-พิษณุโลก
05.45 / 06.50 / 09.00 / 11.00 / 13.30 / 15.40 / 17.00 น.

วันที่ 2
แอดเดินทางมาเที่ยวต่อที่จังหวัดสุโขทัย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเดินทาง หากเพื่อน ๆ ไม่มีรถส่วนตัว สามารถขึ้นรถตู้ หรือรถทัวร์จากจังหวัดพิษณุโลกมาลงที่ตัวเมืองสุโขทัยได้ ในตัวเมืองสุโขทัยมีรถสองแถวให้บริการทั้งวัน
.
สถานที่ต่อไป แอดจะพาเพื่อน ๆ ไปที่บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์เป็นผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) เพราะฉะนั้น เที่ยวที่นี่ได้อย่างปลอดภัย หายห่วงแน่นอน
.
ค่ากิจกรรมทำพระพิมพ์ คนละ 250 บาท
.
ที่ตั้ง 51/7 ม.8 บ้านเชตุพน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
โทร. 089 643 6219, 081 197 0535

เมื่อแอดเดินเข้ามาด้านใน ก็เจอกับพี่กบ ผู้ก่อตั้งบ้านพระพิมพ์และเป็นผู้สอนการทำพระพิมพ์ แอดขอบอกเลยว่า พี่กบคุยสนุกมาก มีการให้เกร็ดความรู้ต่าง ๆ ด้านพุทธศิลป์และประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน แอดฟังเพลินจนเกือบลืมเวลาทำพระพิมพ์ไปเลย ก่อนทำ Workshop อย่าลืมชิมน้ำใบเตยหอม ๆ และขนมสอดไส้ฝีมือคนท้องถิ่นที่พี่กบเตรียมไว้ให้นะ อร่อยมาก ๆ ซึ่งเมนูของว่างที่เตรียมไว้ จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล ได้เวลาทำ workshop กันแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพระพิมพ์ ก็คือ ดิน และแม่พิมพ์

วิธีการทำพระพิมพ์มีง่าย ๆ ดังนี้
.
1. ปั้นดินให้มีลักษณะเป็นแท่งเรียว ๆ คล้ายนิ้วมือ
2. กดดินลงไปในพิมพ์ให้แน่นด้วยนิ้วโป้งทั้ง 2 มือ ปาดดินส่วนที่เกินออก
3. ปั้นดินอีกก้อนเป็นก้อนเล็ก ๆ กดลงไประหว่างเนื้อดินกับแม่พิมพ์
4. ค่อย ๆ ดึงออกมา แล้วตกแต่งขอบที่เกินมาให้เรียบร้อย
5. เขียนชื่อที่ด้านหลังพระ เพื่อน ๆ สามารถขอให้พรานกบเขียนชื่อเพื่อน ๆ เป็นภาษาเขมร หรือลายสือไทยก็ได้
6. นำไปตากจนแห้ง เพื่อรอเข้าเตาเผา

แอดใช้เวลาในการทำพระพิมพ์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งพี่กบบอกว่า หลังจากทำเสร็จแล้วต้องนำพระพิมพ์ไปตากให้แห้งเพื่อรอการเผาซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน ถ้าเพื่อน ๆ ไม่มีเวลา สามารถให้พี่กบจัดส่งไปให้ที่บ้านได้ โดยมีค่าจัดส่ง 150 บาท

สำหรับเพื่อน ๆ ที่นับถือศาสนาอื่น ก็สามารถปั้นช้างหรือดอกไม้แทนการทำพระพิมพ์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นให้เพื่อน ๆ ลองทำอีก เช่น ยิงธนู หรือการลองจุดไฟแบบโบราณ

ที่สำคัญพี่กบแอบกระซิบแอดมาว่า วิชาที่ได้เรียนรู้มา ทั้งการทำพระพิมพ์ วาดภาพ รวมถึงความรู้ต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่มีการบันทึกเอาไว้ ต้องไปขอเป็นลูกศิษย์จากผู้รู้ด้วยการยกพานเอาเอง…เจ๋งสุด ๆ ไปเลย ว่าไหม ?
 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีสัชนาลัย ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง ภายในอุทยานฯ มีโบราณสถานต่าง ๆ มากมาย และบรรยากาศค่อนข้างร่มรื่น
ในอดีต เมืองศรีสัชนาลัยเดิมชื่อ “เมืองเชลียง” มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ต่อมาได้มีการขยายเมืองไปทางทิศตะวันตก และย้ายศูนย์กลางไปอยู่บริเวณวัดช้างล้อมและเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย
.
ที่ตั้ง ต.เมืองเก่า อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
โทร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทร. 0 5595 0714 / ททท. สำนักงานสุโขทัย (สสท.) โทร. 0 5561 6228 – 9

ปัจจุบันได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ภายในอุทยานฯ ให้เป็นพื้นที่โลว์คาร์บอน ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโดยการเดินเท้า ปั่นจักรยาน หรือนั่งรถรางไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์ ส่วนตัวแอดคิดว่า การเช่าจักรยานหรือเดินเที่ยวก็น่าสนุกดี ตอนที่แอดไป ก็เห็นหลายครอบครัวพากันเช่าจักรยานปั่นเที่ยวด้วยกัน
.
อัตราค่าบริการ
– ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท
– ชาวต่างชาติ 100 บาท
– ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท
– ค่ารถรางนำชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาทหรือเหมาคันละ 300 บาท นั่งได้ 15 คน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จาก UNESCO เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร
.
เมื่อเข้ามาข้างในแล้ว เพื่อน ๆ สามารถปั่นจักรยาน หรือนั่งรถรางชมโบราณสถานได้ในระยะทางรวม 2.8 กิโลเมตร แต่ถ้าใครมีเวลาไม่มากพอ ก็สามารถเลือกเดินชมวัดไฮไลท์ของที่นี่คือ วัดนางพญา วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดช้างล้อม ได้ในระยะทาง 800 เมตร ซึ่งแอดใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการเดินชมที่นี่ ขอเตือนไว้เลยว่า อย่าชมวัดเพลินจนลืมเผื่อเวลาเดินทางกลับกันด้วยล่ะ

วัดนางพญา

วัดเจดีย์เจ็ดแถว

วัดช้างล้อม

วันที่ 3
อุษาสังคโลก
.
ที่สุดท้ายของทริปนี้ เป็นสถานที่ผลิตเครื่องสังคโลก ที่เปิดมานานกว่า 20 ปี ที่นี่มีกิจกรรมเด่นให้เพื่อน ๆ ได้ทำคือ การวาดลายเครื่องสังคโลก โดยลายที่เป็นที่นิยมก็คือ ปลา กงจักร และดอกบัว ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนสุโขทัย โดยพี่อุษาเจ้าของกิจการจะเป็นผู้แนะนำในทุกขั้นตอน
.
หากเพื่อน ๆ คนไหนอยากปั้นเครื่องสังคโลกเอง สามารถให้พี่อุษาสอนให้ได้เลย ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องสังโลกและจำนวนคนที่ร่วมทำ Workshop เพื่อน ๆ สามารถนัดเวลาเข้าทำกิจกรรมได้ตามสะดวก ที่นี่สามารถรองรับการทำ Workshop ได้สูงสุดถึง 60 คน ราคาเริ่มต้นที่ 300 บาท ใช้เวลาในการทำประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่รวมการปั้นชิ้นงาน 
.
ที่ตั้ง 357/1 หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
โทร. 086 446 5076

หลังจากทำเสร็จแล้ว ต้องใช้เวลาในการเผาชิ้นงานที่เราทำอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง โดยในการเผาแต่ละครั้ง จะต้องรอเผาพร้อมกันหลายชิ้น จึงต้องใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งพี่อุษาจะจัดส่งไปให้ถึงบ้านในภายหลัง โดยราคาจัดส่งอยู่ที่ 200 บาท

นอกจาก Workshop เครื่องสังคโลกแล้ว ที่นี่ยังมีบริการอื่น ๆ อีก เช่น
– ที่พัก 5 ห้อง ราคา 1,200 – 1,400 บาท (รวมอาหารเช้า)
– ลานกางเตนท์ คนละ 200 บาท (รวมอาหารเช้า)
– จักรยานให้เช่า วันละ 30 บาท
– รถจักรยานยนต์ให้เช่า 300 บาท
– รถรับส่งสนามบินเที่ยวละ 300 – 1,000 บาท

เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 5 สิงหาคม 2563

Scroll to Top
Send this to a friend