เมื่อสตูล ไม่ได้มีแค่หลีเป๊ะ..

สตูล เป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคใต้ที่น่าสนใจ มีความสวยงามทั้งทางธรรมชาติและวิถีชีวิตมากมาย  อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และวันนี้เราจะพามาเปิดหูเปิดตากันดูว่าสตูลไม่ดีมีดีแค่หลีเป๊ะ ยังไง…!!

และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อทาง UNESCO ได้ประกาศให้….อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แหล่งอุทยานธรณีโลก

สำหรับพื้นที่อุทยานธรณีสตูล อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู อำเภอมะนัง ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และบางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และแหล่งท่องท่องเที่ยวภายใต้พื้นที่อุทยานธรณีสตูลที่เราได้ไปสัมผัสมาและจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ปราสาทหินพันยอด(เกาะเขาใหญ่) และนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกหลายสถานที่เลย

สถานที่แรกเมื่อเรามาถึงสตูล..

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากในจังหวัดสตูล ที่นี่มีบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “บึงทะเลบัน” เป็นไฮไลท์ ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินกลางหุบเขาของเทือกเขาจีนและเขาวังประ

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จะเปิดเวลาประมาณ 08.00 – 17.00 น. โทร. 083 533 1710

บรรยากาศโดยรอบมีต้นไม้ และพืชพรรณต่างๆ ขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่เป็นอย่างดี ภายในบึงก็จะมีปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำอื่นๆ อาศัยอยู่ อากาศที่นี่จะเย็นสบาย ร่มรื่น เหมาะแก่การมาพักผ่อน และมาสูดอาการบริสุทธิ์

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเส้นทางสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะมีรอยสัตว์ต่างๆ ให้เห็น เช่น หมูป่า เลียงผา ลิง ฯลฯ มีเส้นทางเดินป่าระยะไกล และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในอุทยานฯ อีกด้วย 

“ศาลาทรงแปดเหลี่ยม” เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เพื่อให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับฟังเสียงของเจ้าถิ่นที่จะคอยส่งเสียงเจื้อยแจ้วมาเป็นระยะ และเจ้าถิ่นที่ว่านั้น ก็คือ “เขียดว้าก” หรือ “หมาน้ำ” ที่อาศัยอยู่กับต้นบากงบริเวณรอบๆ บึง ซึ่งบอกได้เลยว่าใครมาที่นี่แล้วไม่ได้ยินเสียงของเขียดว้ากถือว่ามาไม่ถึงทะเลบัน

น้ำตกปาหนัน ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอตวนกาหลง จังหวัดสตูลอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกัวกาหมิง และเขตอนุรักษ์ป่าโตนงาช้าง น้ำตกปาหนันยังเป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้าแรงดันน้ำขนาดเล็กของจังหวัดสตูลอีกด้วย

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวสตูลจะมานั่งพักผ่อน เล่นน้ำให้คลายร้อน เพราะจะมีน้ำไหลตลอดสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และมีแอ่งน้ำที่สามารถลงเล่นน้ำได้ด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ซอย 5 ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล

อาคารคฤหาสน์กูเด็น สร้างขึ้นโดยพระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกู บาฮารุดดิน บินตำมะหงง เจ้าเมืองสตูล อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งมาเยือนเมืองสตูล แต่พระองค์มิได้ประทับแรมที่อาคารหลังนี้ ต่อมาจึงไว้ใช้สำหรับว่าราชการและสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองเมื่อมาสตูล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล เปิดทำการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท

ต่อมาอาคารหลังนี้ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองสตูล เป็นที่เก็บรวบรวมข้อมูล และจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตชาวสตูล

บริเวณชั้นหนึ่งของตัวอาคาร จะจัดแสดงเรื่องราวภูมิหลังของเมืองสตูล และจำลองวิถีชีวิตชาวสตูลในอดีต

ส่วนบริเวณชั้น 2 จะมีห้องบ้านเจ้าเมืองสตูล และจัดแสดงห้องชุดรับแขก

นอกจากนั้นยังมีจัดแสดงแบบบ้านจำลองของชาวบ้านสตูล มีห้องนอน ห้องครัว และข้าวของเครื่องใช้โบราณต่างๆ ในอดีตไว้ให้ชมอีกด้วย

สันหลังมังกร ตันหยงโป ตั้งอยู่ที่ตำบลตันหยงโป อำเภอเมืองสตูล โดยที่จังหวัดสตูลจะพบ “สันหลังมังกร” หรือ “ทะเลแหวก” ถึง 7 แห่ง แต่ที่ตันหยงโป จะเป็นมังกรตัวที่ใหญ่ที่สุดในสตูล

การไปชมสันหลังมังกร ตันหยงโป ต้องนั่งเรือไปยังกลางทะเล สามารถติดต่อกับทางชุมชนบากันเคย ซึ่งจะมีไกด์ท้องถิ่นพานั่งเรือไป ในราคา 2,000 บาท เรือจะสามารถนั่งได้ประมาณ 10 คน ไกด์จะพาไปเที่ยวด้วยกัน 3 ที่ คือ เกาะหินเหล็ก สันหลังมังกร และหาดทรายดำ

ชุมชนบากันเคย โทร. 082 434 4295 หรือ 087 477 9793 

จากท่าเรือนั่งเรือมาประมาณ 15 – 20 นาที จะถึง “เกาะหินเหล็ก”

ไกด์พาเราเดินไปชมยังจุดต่างๆ บนเกาะ และเล่าเรื่องราว ความหมายแต่ละจุดให้ฟัง โดยบริเวณนี้ไกด์บอกกับเราว่า.. นี่คือรอยเท้าคนในสมัยก่อน (น่าจะเป็นยักษ์)

และหลายๆ ที่บนเกาะแห่งนี้ มีหินจำนวนมากที่มีลักษณะกลายเป็นเหล็ก จนเป็นที่มาของชื่อ “เกาะหินเหล็ก”

บริเวณนี้มีลักษณะหินที่นูนขึ้นมา มีรูปร่างคล้ายตัวอักษร ที่อ่านว่า “อัลลอฮฺ” 

นอกจากนี้บนเกาะยังมีจุดชมวิว ซึ่งสามารถชมวิวได้ 360 องศา มองเห็นน้ำทะเลสีฟ้าครามที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา แถมบนนี้ยังมีลมทะเลพัดมาทำให้รู้สึกเย็นสบาย และบริเวณจุดชมวิวนี้ถูกเรียกว่า “ผานางคอย” มีตำนานเรื่องราวของหญิงสาวที่นั่งรอคอยคนรักกลับมา..

นอกจากจะมีจุดชมวิว ที่นี่ยังมีเนินทรายที่โผล่พ้นขึ้นมาเป็นสันหลังมังกรหรือทะเลแหวกด้วยแต่จะมีขนาดที่เล็ก ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงที่น้ำกำลังจะลด ทำให้เริ่มเห็นเนินทรายบ้างแล้ว..

จากเกาะหินเหล็กนั่งเรือประมาณ 10 – 20 นาที ก็ถึงบริเวณสันหลังมังกร ตันหยงโปแล้ว

เนินทรายที่ทอดตัวยาวกลางทะเลจะโผล่ในช่วงที่น้ำลด มีลักษณะที่คดเคี้ยวและยาวประมาณกว่า 4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเกาะหัวมันและเกาะสามในตันหยงโป บนเนินทรายมีเปลือกหอยเล็กๆ มากมายที่ทับถมกันอยู่ยิ่งเวลาที่แสงแดดตกกระทบยิ่งคล้ายกับเกล็ดของมังกร จึงเป็นที่มาของชื่อ “สันหลังมังกร” หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกับชื่อ “ทะเลแหวก”

บนเนินทรายนอกจากจะมีเปลือกหอยต่างๆ แล้ว เรายังเจอ “พี่เสฉวน” ขี้อาย

ไม่นานนักแสงอาทิตย์ก็เริ่มเปลี่ยนสีเป็นแสงสีส้มยามเย็น และตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้าตกลงไปในน้ำทะเลแล้ว

แล้วเช้าวันใหม่ก็เริ่มขึ้น..

เช้านี้เรามีนัดไป “ปราสาทหินพันยอด(เกาะเขาใหญ่)” 

เราติดต่อกับทางท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ในทริปเกาะเขาใหญ่ ปราสาทหินพันยอด เป็นโปรแกรมทริปแบบครึ่งวัน ซึ่งราคาจะอยู่ที่ 800 บาท/คน และถ้าเป็นโปรแกรมทั้งวัน จะราคา 1,500 บาท/คน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 081 542 0071 

จากท่าเรือนั่งมาประมาณ 30 นาที เราพบกับมังกรอีกตัวของสตูล เนินทรายที่โผล่พ้นกลางทะเลนี้จะมีลักษณะเป็นเกลียวลอนคลื่นบนพื้นทราย คล้ายกับเกล็ดบนสันหลังมังกร และตัวเนินทรายเองจะไม่มีเปลือกหอยเหมือนกับที่ตันหยงโป

จากสันหลังมังกรนั่งเรือประมาณ 15 – 20 นาที มาถึงที่อ่าวหินงาม2  บริเวณนี้ไกด์จะให้เราฝึกพายเรือเพื่อความพร้อมในการพายเรือสำหรับลอดช่องหิน เข้าไปชมความงามของปราสาทหินพันยอด

พอเริ่มคุ้น เริ่มชินกับการพายเรือ ก็พร้อมที่จะพายไปยังปราสาทหินพันยอดกัน ระหว่างทางเจอเกาะเล็กเกาะน้อย มีลอดช่องหินบ้าง ส่วนพี่ไกด์เองก็จะพายเรือขนาบข้างเราไปเรื่อยๆ และจะคอยบอกตรงไหนน้ำแรงจะไม่ให้พายเข้าไปใกล้จุดนั้น

และแล้วเราก็พายมาถึงทางเข้าปราสาทหินพันยอดแล้ว ต้องค่อยๆ พายเรือลอดช่องหินนี้เข้าไป

ปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู อยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

การเข้าไปชมปราสาทหินพันยอดต้องรอเวลาที่น้ำลด เพราะต้องลอดช่องหินเข้าไป ปราสาทหินพันยอดแห่งนี้เกิดจากการกัดเซาะหินของน้ำฝน จนกลายเป็นแท่งหินแหลมที่มีรูปร่างแปลกตาสวยงาม อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกไปอย่างเป็นทางการ เพราะมีการพบฟอสซิลที่มีอายุมากกว่า 480 ล้านปี

ช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่น้ำกำลังลดจะอยู่ช่วงประมาณเอว และน้ำจะลดลงเรื่อยๆ จนเผยให้เห็นพื้นทรายเบื้องล่าง คาดว่าน่าจะประมาณช่วงบ่ายสามน้ำคงจะลดจนเห็นพื้นทรายทั้งหมด 

ถ้ำเล-สเตโกดอน  อยู่ที่หมู่บ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า ถ้ำแห่งนี้ถูกพบฟอสซิลจำนวนมาก โดยเฉพาะฟอสซิลของช้างสเตโกดอน(ช้างแมมมอธดึกดำบรรพ์) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ และการค้นพบซากฟอสซิลช้างสเตโกดอนนี้นำมาถึงการสำรวจถ้ำและค้นพบซากฟอสซิลอื่นๆ ทั้งฟอสซิลซากพืช และฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ และยังเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ถ้ำเลสเตโกดอน มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำลอดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จะมีน้ำไหลตลอดลอดทะลุไปถึงทะเล ซึ่งระหว่างปากถ้ำเลฯ จะเชื่อมกับป่าชายเลนก่อนที่จะออกสู่ทะเล และบริเวณทางออกตรงปากถ้ำจะมีลักษณะคล้ายกับรูป “หัวใจ” จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของการลอดถ้ำแห่งนี้ที่ว่า “ตามหาหัวใจที่ปลายอุโมงค์”

หากต้องการนั่งเรือลอดถ้ำเลสเตโกดอน จะมีค่าบริการคนละ 300 บาท อย่างต่ำ 8 คน ต่อหนึ่งกลุ่ม ถ้าหากไม่ถึง 8 คน จะคิดราคาเหมา 2,400 บาท (สามารถรวมกับกลุ่มอื่นได้)

สามารถติดต่อได้ที่ อบต.ทุ่งหว้า โทร. 084 858 5100

การเข้าไปในถ้ำต้องนั่งเรือเข้าไป โดยจะมีเจ้าหน้าพายเรือให้ ในเรือ 1 ลำ สามารถนั่งได้ 2 คน รวมเจ้าหน้าที่เป็น 3 คน มีไฟฉายและชูชีพให้ พร้อมกับหมวกเพื่อความปลอดภัยขณะล่องเรือ และจะใช้เวลาในการล่องเรือชมถ้ำประมาณ 2 ชั่วโมง

ภายในถ้ำจะมืด โล่ง และค่อนข้างเงียบมาก แทบจะได้ยินเสียงของลมหายใจ ที่สำคัญถ้ำแห่งนี้อากาศจะถ่ายเทได้ดี ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นอัปเลย ภายในถ้ำจะพบหินงอกหินย้อยทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็กทรงแปลกตามากมาย ที่ห้อยย้อยลงมาจากเพดาน ซึ่งหินงอกหินย้อยบางก้อนมีสีเหลือง สีขาวแต่ต่างกันออกไป และบางก้อนก็มีประกายแวววาวคล้ายมีกากเพชรเกาะอยู่ ตลอดที่เรานั่งเรือจะมีพี่ไกด์ค่อยเล่าและอธิบายให้ฟังอยู่ตลอด

ภายในถ้ำจะพบ “ม่านน้ำตก” ค่อนข้างหลายที่ ซึ่งตรงบริเวณผนังถ้ำจะมีรอยแยกเล็กๆ ให้น้ำซึมผ่านพอตกตะกอนกลายเป็นหินย้อยที่มีรูปร่างเหมือนน้ำตกไหลออกมาจากผนังถ้ำ

หินย้อยบริเวณนี้มีลักษณะเรียวเล็กเรียงติดกันบนเพดานถ้ำย้อยลงมาเป็นจำนวนมาก เรียกว่า “ลานพิรุณ” หรือ “หินย้อยหลอดกาแฟ” 

ระหว่างที่ล่องเรือภายในถ้ำ เราจะเจอหินย้อยขนาดใหญ่ ที่มีสีเหลืองส้ม อยู่ตรงกลางถ้ำ คล้ายกับหัวใจ

ก่อนถึงปากถ้ำ(ทางออก) จะมีโพรงขึ้นไปด้านบน พอให้มีแสงส่องลอดผ่านลงมา บริเวณนี้เรียกว่า “หน้าต่าง” ของถ้ำ

พบซากฟอสซิลปลาหมึกอยู่ก่อนถึงทางออกของปากถ้ำ

เราใช้เวลาล่องเรือภายในถ้ำประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เดินทางมาถึง “หัวใจที่ปลายอุโมงค์” 

น้ำตกวังสายทอง อยู่ริมถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพงประมาณ 28 กิโลเมตร

น้ำตกวังสายทอง เป็นน้ำตกหินปูน สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ลักษณะเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงมา บริเวณพื้นน้ำตกเป็นพื้นดินหินปนทราย ทำให้บริเวณก้อนหินไม่เกิดตะไคร่น้ำจับ สามารถเดินข้ามไปมาได้สะดวก ไม่ลื่น และบริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น 

ถ้ำภูผาเพชร อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญเป็นอันดับต้นๆ ของไทยและยังติดอันดับต้นๆ ของโลก มีเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่(ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาการออกมาฟันธงแน่นอนถึงขนาดของถ้ำว่าอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ บ้างก็บอก อันดับ1 ของไทย และอันดับ 3 ของโลก) อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

ในอดีตถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นแหล่งพักพิงของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐานกระดูกมนุษย์โบราณ ส่วนกะโหลกศีรษะ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบ และกระดูกสัตว์ต่างๆ  

ถ้ำภูผาเพชรถูกค้นพบโดยพระธุดงค์ชื่อว่า “หลวงตาแผลง” และชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด, ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาวมีลักษณะคดเคี้ยว และภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ที่เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำจะมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำเพชร”

ก่อนถึงทางเข้าถ้ำจะต้องเสียเหงื่อกันนิดหน่อย เพราะต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 300 ขั้น ประมาณ 50 เมตรได้  ส่วนภายในถ้ำจะโล่งกว้าง และอากาศถ่ายเทได้ดี แต่ค่อนข้างจะมืดมีไฟให้ไม่มีกี่จุด จำเป็นต้องมีไฟฉายเข้าไปด้วย (ก่อนเดินขึ้นไปมีจุดให้เช่าไฟฉาย ราคา 20 บาท)

ถ้ำภูผาเพชร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 น. – 15.30 น. โดยมีค่าเข้าชม คนละ 30 บาท

การเข้าไปชมต้องมีเจ้าหน้านำ ซึ่งจะมีไกด์ท้องถิ่นอยู่บริเวณหน้าถ้ำ ค่าบริการคนละ 50 บาท

ทางเข้า-ออก ของถ้ำภูผาเพชร เป็นช่องที่เล็กมาก เรียกว่าทางเข้าขนาดพอดีตัว แต่ข้างในถ้ำกลับมีขนาดที่ใหญ่และกว้าง 

ทางเดินภายในถ้ำจะมีสะพานไม้ให้สำหรับเดินชม เดินสำรวจหินงอกหินย้อย ที่มีทั้งแบบตายและแบบเป็น ซึ่งมีรูปร่าง และลักษณะที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดที่ใหญ่มาก 

บริเวณนี้ถูกเรียกว่า “ห้องม่านเพชร” ลักษณะจะคล้ายซุ้มประตู เมื่อกระทบกับแสงไฟจะเกิดประกายแววาวเหมือนมีเพชรเกาะอยู่

บริเวณนี้เรียกว่า “ห้องปะการัง” หรืออาจจะมองว่าคล้ายกับ “ป๊อปคอร์น” 

ตรงนี้มีรูปร่างคล้ายกับ “แมงกะพรุน” และเวลาที่โดนแสงไฟจะมีประกายแวววาวคล้ายกับมีเพชรเกาะอยู่

เมื่อเดินมาถึงห้องโถงใหญ่ตรงกลางถ้ำ จะเจอกับ “โดมศิลาเพชร” ที่ตั้งเด่นหราอยู่ ลักษณะโดมมีสีส้มอ่อนๆ เป็นโดมที่มีน้ำไหลออกมาตลอด และเมื่อกระทบแสงไฟจะประกายแวววาว บริเวณนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของถ้ำนั่นเอง

ข้างๆ โดมศิลาเพชรจะมีแท่นเสาหินปูน มองเห็นเงาด้านบนคล้ายกับ “เจ้าแม่กวนอิม”

ระหว่างทางที่เดินไปยังลานแสงมรกต เจ้าหน้าที่ส่องไฟให้เห็นรูปภาพบนก้อนหินที่อยู่ด้านบน เห็นเป็นภาพของ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ลักษณะกำลังถือแผนที่อยู่ในพระหัตถ์

เมื่อเดินมาจนสุดทางของสะพานไม้ จะพบกับ “ลานแสงมรกต” เป็นจุดไฮเลท์ของถ้ำภูผาเพชร บริเวณนี้เป็นจุดเดียวภายในถ้ำที่มีช่องทำให้แสงสามารถลอดส่องผ่านลงมาได้ และช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ เป็นช่วงที่แสงจากดวงอาทิตย์จะลงมาทำมุมกับหินรูปพญาครุฑ ทำให้เกิดแสงสวยๆ บริเวณนี้ (ภาพนี้เราถ่ายช่วงเวลาประมาณเที่ยงๆ ทำให้แสงที่ส่องลงมาน้อย)

ถัดจากลานแสงมรกต ทางด้านซ้ายมือจะมีทางเดินเข้าไป บริเวณนี้เป็นจุดที่มืดมากที่สุดในถ้ำ และตรงผนังถ้ำจะมีรอยเป็นสันนูนโดยรอบ คล้ายกับหลังพญานาค ซึ่งเกิดจากถูกน้ำท่วมขังภายในห้องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดตะกอนหินปูนจับตัวกันและจึงเป็นที่มาของ “ห้องพญานาค”

เราเดินย้อนกลับมาทางเดิมเพื่อเดินกลับ โดยเดินขึ้นทางด้านบนของโดมศิลาเพชร จะเจอหินงอกที่มีลักษณะสีทอง มองดูจะคล้ายกับเส้นผมที่ยาวสลวยบนศีรษะของผู้หญิง หรือจะคล้ายกับ “สิงโตเมอร์ไลออน” 

เมื่อเดินมาถึงทางออกตรงปากถ้ำ ก็ได้เวลาที่เดินทางกลับกรุงเทพฯ กันแล้ว..

จริงๆ แล้วจังหวัดสตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย ที่รอให้ทุกคนไปสัมผัส ไปท่องเที่ยว สตูลไม่ได้มีแค่ทะเล สตูลไม่ได้ไปยากอย่างที่คิด และสตูลไม่ได้มีเพียงแค่หลีเป๊ะเท่านั้น แล้วอย่าลืมมาตามรอยเที่ยวเมืองสตูลกันนะ^^

Scroll to Top
Send this to a friend