พังงา

พังงา

🏔🌌ภูตาจอ … หลังคาพังงา🌌🏔

ว่ากันว่าผืนป่าทางภาคใต้ของไทยเป็นป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ จะดีสักเพียงใดถ้าครั้งหนึ่งในชีวิต ได้พาตัวเองไปสัมผัสธรรมชาติป่าเขาอย่างใกล้ชิด ได้นอนดูดาว ได้ชมทะเลหมอก และอาบสายลมเย็น “ภูตาจอ” ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับป่าเขาสก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดพังงา ที่ระดับความสูง 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณนี้แต่เดิมเคยเป็นเหมืองแร่ดีบุกเก่าแก่มีชื่อว่า “เหมืองตาจอ” คนท้องถิ่นจึงเรียกยอดภูแห่งนี้ว่า “ภูตาจอ” ที่ตั้ง : ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงาพิกัดภูตาจอ : https://maps.app.goo.gl/rCMf762e1aQw7PMP9 การเดินทาง : เนื่องจากเส้นทางสู่ยอดภูตาจอเป็นทางวิบาก ต้องอาศัยความชำนาญในเส้นทางและระมัดระวังในการขับรถ แนะนำให้ใช้บริการรถขับเคลื่อนสี่ล้อนำเที่ยวของชาวบ้านในพื้นที่ มีจุดให้บริการอยู่ที่บ้านช้างเชื่อ ตำบลเหล อำเภอกะปง อยู่ห่างจากยอดภูตาจอ 14 กิโลเมตร พิกัดจุดให้บริการรถขับเคลื่อนสี่ล้อ : https://maps.app.goo.gl/MiHdaSzs44TcHo958 เส้นทางในช่วงแรกจากบ้านช้างเชื่อ ผ่านสวนยางและสวนปาล์มของชาวบ้าน จนถึงบ้านนกฮูก จากนั้นเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต เมื่อเริ่มเข้าสู่แนวป่าเส้นทางจะวิบากมากขึ้น บางช่วงรถต้องลุยข้ามธารน้ำ บางช่วงเป็นทางขึ้นลงเขาสูงชัน นักท่องเที่ยวต้องชำระค่าธรรมเนียมขึ้นลงภูตาจอ คนละ 30 บาท เมื่อถึงภูตาจอจะเห็นว่าพื้นดินบริเวณนั้นเป็นดินปนทรายสีขาว มีร่องรอยการปรับพื้นที่เพื่อทำเหมืองเมื่อครั้งอดีตหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวภูตาจอได้ทั้งแบบเช้าไปเย็นกลับและแบบค้างคืน สามารถนำเต็นท์และอุปกรณ์มาประกอบอาหารมาพักค้างแรมได้บริเวณพื้นราบก่อนถึงยอดภู ตรงจุดนั้นมีห้องน้ำให้บริการ แต่ต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะน้ำที่ใช้ต่อท่อมาจากการถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ที่ทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ สำรองไว้ จากลานกางเต็นท์ต้องเดินเท้าขึ้นเขาระยะทางประมาณ 200 เมตร ถึงยอดภูตาจอ ซึ่งมีลักษณะเป็นลานหินโล่ง ต้นไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก เช่น เฟิร์น บนยอดภูตาจอสามารถชมทัศนียภาพได้รอบทิศ 360 องศา ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ทะเลหมอกยามเช้าหรือหลังฝนตก ทะเลดาวและทางช้างเผือกยามค่ำคืน ทางทิศตะวันตกของยอดภูตาจอในวันที่ทัศนวิสัยเปิดโล่ง สามารถมองเห็นได้ไกลถึงทะเลอันดามัน และด้วยความที่ภูตาจอมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวกันอย่างต่อเนื่อง สอบถามข้อมูลการเดินทางและนัดหมายจองรถขับเคลื่อนสี่ล้อล่วงหน้าโทร. 08 1084 8843 (โกอุ่น บ้านช้างเชื่อ)โทร. 09 1321 6126 (คุณกิตติพงศ์ บ้านช้างเชื่อ)โทร. 0 7641 3400-2 (ททท. สำนักงานพังงา)

🏔🌌ภูตาจอ … หลังคาพังงา🌌🏔 อ่านเพิ่มเติม

พลับพลึงธาร…ราชินีแห่งสายน้ำ ✨

พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของโลกพบได้ที่ระนองและพังงาเท่านั้น “พลับพลึงธาร” เป็นพืชน้ำอยู่ในวงศ์พลับพลึง Amaryllidaceae ชื่อสามัญคือ Water Onion, Water lily, Thai Water Onion, Onion Plant, Yellowish leaves lily. และมีชื่อที่เรียกในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน เช่น ช้องนางคลี่ หอมน้ำ เป็นต้น เป็นพืชเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบได้ในจังหวัดระนองและจังหวัดพังงาของประเทศไทยเท่านั้น โดยที่จังหวัดระนองพบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่อำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ ส่วนจังหวัดพังงาพบที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง ฤดูกาลออกดอกของพลับพลึงธาร ตั้งแต่เดือนกันยายน – เดือนธันวาคม ของทุกปี ตามมาทำความรู้จักและชมความสวยงามของพลับพลึงธาร … ราชินีแห่งสายน้ำ ด้วยกันในรีวิวค่ะ พลับพลึงธารได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ” เนื่องจากเป็นไม้น้ำที่มีดอกชูช่อสวยงาม มีสีขาวเนียนคล้ายดอกพลับพลึง แต่อยู่ในน้ำเป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของโลกพบได้ที่ระนองและพังงาเท่านั้น ได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี พ.ศ. 2554 พลึบพลึงธารพบมีการขึ้นกระจายพันธุ์อยู่ในระบบนิเวศเฉพาะ คือ บริเวณลำธารที่มีน้ำสะอาดไหลตลอดเวลา มีพื้นท้องน้ำที่ไม่ลาดชันมาก และพบว่าไม่มีการกระจายพันธุ์บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง ลักษณะลำต้นเป็นลำต้นใต้ดิน ความสูงเตี้ยของลำต้นขึ้นอยู่กับความตื้นลึกของน้ำ ใบมีสีเขียวอ่อน มีลักษณะแถบยาวปลายใบเรียวแหลมลอยพริ้วตามสายน้ำ ดอกเป็นประเภทดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 7-9 ดอก กลีบดอกมีสีขาวลักษณะรูปหอก มีเกสรสีแดง อับเรณูสีเหลืองอ่อน ตามวัฏจักรของพลับพลึงธาร หลังจากงอกเป็นลำต้น จะใช้ระยะเวลาเติบโตราว 3 ปี จึงเริ่มออกดอก เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมเย็นอบอวล การขยายพันธุ์ของพลับพลึงธาร ตามธรรมชาติพลับพลึงธารจะขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดสีเขียวอ่อนที่อยู่ในผลซึ่งมีลักษณะคล้ายหัวหอมแดง (ตามภาพ) เมื่อผลแก่จะแตกออกมาเองและเมล็ดสีเขียวอ่อนภายในผลจะไหลไปตามลำคลอง ยึดเกาะตามพื้นดินใต้น้ำหรือกองหินใต้น้ำ จากนั้นงอกเป็นต้นพลับพลึงธารต่อไป พลับพลึงธารจะออกดอกทุกปี คือระหว่างเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม ช่วงเวลาที่พบว่าดอกพลับพลึงธารบานพร้อมกันเต็มที่ คือ ราวต้นเดือนพฤศจิกายน จุดชมพลับพลึงธารจุดแรกที่จะพาไปชม คือ บ้านไร่ใน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พิกัด : https://maps.app.goo.gl/J66S3ntAbegH9R9e9  การเดินทาง : จากตัวเมืองระนอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-พังงา) จนถึงสามแยกตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ (กิโลเมตรที่ 677 ของถนนเพชรเกษม) ให้เลี้ยวซ้ายและตรงไป 8 กิโลเมตร ถึงศูนย์อนุรักษ์พลับพลึงธาร บ้านไร่ใน แนะนำให้โทรไปสอบถามช่วงเวลาการบานของพลับพลึงธารและการเดินทางไปชม ได้ที่  โทร. 08 2808 7548 (คุณอัมรินทร์ ผู้ประสานงานศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้พลับพลึงธารบ้านไร่ใน) หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร (ดูแลพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง) โทร. 0 7750 2775-6, 0 7750 1831 โดยที่ศูนย์อนุรักษ์พลับพลึงธาร บ้านไร่ใน จะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในชุมชนพาเที่ยวชมพลับพลึงธารที่ขึ้นกระจายอยู่ตามลำธารในหมู่บ้าน ที่บ้านไร่ในมีการเตรียมกิจกรรม “จิบกาแฟ แลพลับพลึงธาร” ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมพลับพลึงธารในหมู่บ้าน เนื่องจากบ้านไร่ในมีการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นของหมู่บ้าน จึงมีการต่อยอดโดยการเปิดเป็นร้านกาแฟวิสาหกิจชุมชนบ้านไร่ใน ให้นักท่องเที่ยวได้มาจิบกาแฟคั่วหอมอร่อยท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น และจากนั้นจะพาไปชมพลับพลึงธารตามจุดต่าง ๆ นอกจากนี้ที่บ้านไร่ใน ยังมีกิจกรรม “พายคายัก คลองนาคา” รองรับนักท่องเที่ยว เป็นการพายคายักระยะ 2 – 4 กิโลเมตร ภายในคลองนาคา ซึ่งเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านในหมู่บ้าน บรรยากาศสองฝั่งของลำคลองแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ เป็นพื้นที่ป่าชุมชนสลับกับสวนปาล์มของชาวบ้าน สอบถามข้อมูลกิจกรรม “จิบกาแฟ แลพลับพลึงธาร” และกิจกรรม “พายคายัก คลองนาคา” ได้ที่  โทร. 08 2808 7548 (คุณอัมรินทร์ ผู้ประสานงานศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้พลับพลึงธารบ้านไร่ใน) จุดที่สองในการแนะนำ คือ คลองตาเลื่อน เลขที่ 117 หมู่ที่ 1 บ้านบางซอย ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา พิกัด : https://maps.app.goo.gl/QpiocV6ckxVNL2vp7  การเดินทาง : จากตัวเมืองพังงา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม (พังงา-ระนอง) จนถึงสามแยกอำเภอคุระบุรี ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสายรองข้างโรงเรียนคุระบุรี ตรงเข้าไปประมาณ 5.5 กิโลเมตร ถึงจุดชมพลับพลึงธารคลองตาเลื่อน คุณตาเลื่อน มีแสง อายุ 87 ปี (เมื่อปี พ.ศ. 2566) ได้รับฉายาว่าเป็น “องครักษ์ผู้พิทักษ์พลับพลึงธาร” สืบเนื่องจากในลำคลองเล็ก ๆ ช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่บ้านและสวนของคุณตาเลื่อน มีต้นพลับพลึงธารขึ้นกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก จากคำบอกเล่าอย่างภาคภูมิใจของคุณตาเลื่อน ทำให้ทราบว่าพลับพลึงธารที่ขึ้นอยู่ในลำคลองข้างบ้านมีให้เห็นมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ของคุณตาแล้ว และคุณตาได้ดูแลอนุรักษ์พลับพลึงธารเหล่านี้ด้วยความรักและผูกพันเสมอมา เมื่อเดินทางไปถึงบ้านคุณตาเลื่อน จะพบคุณตานั่งรอคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณหน้าบ้านเป็นประจำ คุณตาจะพาเดินชมพลับพลึงธารในลำคลองเล็ก ๆ ข้างบ้าน พร้อมบอกเล่าความเป็นมาของพลับพลึงธารที่ตนดูแลด้วยสีหน้าที่มีความสุข การมาเที่ยวชมพลับพลึงธารคลองตาเลื่อน ไม่เสียค่าเข้าชม แต่จะมีกล่องรับบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์พลับพลึงธารตั้งอยู่บริเวณส่วนรับแขกหน้าบ้าน ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้แทนค่าเข้าชม แนะนำให้โทรไปสอบถามช่วงเวลาการบานของพลับพลึงธารและการเดินทางไปชมได้ที่ บ้านคุณตาเลื่อน  โทร. 06 1180 8438 หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพังงา โทร. 0 7641 3400-2 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอนุรักษ์พลับพลึงธาร” ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมขึ้น ณ คลองตาเลื่อน โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การเปิดให้ชมดอกพลับพลึงธารที่กำลังชูช่อดอกบานสะพรั่งในลำคลอง ร่วมเรียนรู้การเพาะปลูกพลับพลึงธาร การหว่านเมล็ดปลูกพลับพลึงธาร การเสวนาเรื่องการร่วมอนุรักษ์พลับพลึงธาร ชมนิทรรศการจากองค์กรภาคีเครือข่าย การมอบรางวัลการประกวดวาดภาพดอกพลับพลึงธาร การวาดภาพระบายสีบนกระเป๋าผ้า ร่วมชิมอาหารพื้นเมือง สินค้าโอทอป และดนตรีโฟล์คซอง  ข้อแนะนำที่ควรให้ความสำคัญในการเที่ยวชมดอกพลับพลึงธาร ได้แก่– ไม่ควรเดินเหยียบย่ำทุกส่วนของต้นพลับพลึงธาร– ไม่ควรเด็ดหรือสัมผัสดอกพลับพลึงธารแรง ๆ– ไม่ควรทิ้งขยะหรือทำความสกปรกให้กับลำคลองที่มีต้นพลับพลึงธารขึ้นอยู่– ควรเคารพกฎ กติกาที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้กำหนดไว้ ในการท่องเที่ยวและชมพลับพลึงธาร

พลับพลึงธาร…ราชินีแห่งสายน้ำ ✨ อ่านเพิ่มเติม

มัดรวมฟาร์มสเตย์ 🐓ท่องเที่ยวแนวใหม่ใกล้ชิดธรรมชาติ 🏨

หากใครกำลังเล็งหาสถานที่ท่องเที่ยวแนวรักษ์โลก บัดดี้อยากให้ลองเปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยว ฟาร์มสเตย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกิจกรรมที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด 🍃 บัดดี้ขอชี้พิกัด 6 ฟาร์มสเตย์ น่าเที่ยวทั่วไทย หัวใจสีเขียว📌 บ้านเกอลิโกล จ.เชียงใหม่📌 บ้านโคกไคร จ.พังงา📌บ้านสวนเส จ.ชัยภูมิ📌 ไออุ่นขุนเขา จ.ราชบุรี📌 Bamboo Pink House บ้านผาหมอน จ.เชียงใหม่📌 MEKIN FARM จ.ขอนแก่น การไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ นอนโฮมสเตย์ ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด เพราะมีกิจกรรมดี ๆ น่าทำแตกต่างกันไปในแต่ละที่ รวมถึงมีข้อดี ที่ดีต่อใจมาก ๆ อีกด้วย เช่น 📌 บ้านเกอลิโกล จ.เชียงใหม่ – ชวนสัมผัสอากาศหนาวกับบ้านไม้ไผ่กลางหุบเขา โอบล้อมไปด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น ทานอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย พอตกเย็นอากาศหนาวหมอกลง ชวนนั่งปิกนิกข้างกองไฟ ในยามเช้านั่งชมบรรยากาศสดชื่นของธรรมชาติ ที่หน้าระเบียงบ้าน 📌 บ้านโคกไคร จ.พังงา – หมู่บ้านริมทะเลที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ชิมอาหารทะเลที่ชาวประมงหามาเอง เช่น ปลาตัวใหญ่ ๆ นำมาปรุงอาหารอร่อย ๆ ให้เราได้ชิม มีกิจกรรมสปาโคลนแสนผ่อนคลายกับน้ำทะเลอุ่น ทรายร้อน บรรยากาศเงียบสงบ มองออกไปไกล ๆ ขอบทะเลมีภูเขาลูกเล็ก ๆ มากมายเรียงรายสลับกันอยู่ 📌บ้านสวนเส จ.ชัยภูมิ – ฟาร์มสเตย์สวนผักแบบผสมผสาน สนุกกับกิจกรรมปั่นจักรยานชมสวน เก็บไข่ในเล้ามาทำอาหาร ลงนาปลูกข้าว ใช้ชีวิตแบบพอเพียง 📌 ไออุ่นขุนเขา จ.ราชบุรี – มาสร้างสุขภาพดีที่ฟาร์มออร์แกนิก มีผักแทบทุกชนิดไม่ต้องซื้อ สามารถเก็บในสวนมาทำกินได้เลย บรรยากาศเงียบสงบ จำลองการเป็นชาวสวนย่อม ๆ ปลูกผัก เก็บไข่ และได้รับออกซิเจนจากภูเขารอบข้าง 📌 Bamboo Pink House บ้านผาหมอน จ.เชียงใหม่ – ขึ้นดอยชมนาขั้นบันไดสีเขียว เต็มไปด้วยความงามของต้นกล้า เรียนรู้วิถีชาวบ้าน แนะนำให้นอนโฮมสเตย์บนดอย เปิดหน้าต่างรับแสงอาทิตย์หลังเขาสุดโรแมนติก 📌 MEKIN FARM จ.ขอนแก่น – สวนเล็กแสนธรรมดากับความสุขในการทำเกษตรอินทรีย์ ลองนอนกระท่อมปลายนา ท่ามกลางธรรมชาติที่น่าพักผ่อน ชิมอาหารพื้นบ้านที่อร่อยอย่าบอกใคร

มัดรวมฟาร์มสเตย์ 🐓ท่องเที่ยวแนวใหม่ใกล้ชิดธรรมชาติ 🏨 อ่านเพิ่มเติม

✨ ผจญภัยครั้งใหม่…ในดินแดนเกาะพระทอง : พังงา ✨

คุณรู้หรือไม่ว่า เพียงแค่เราคิดว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน ความสุขก็เกิดขึ้นในหัวใจไม่น้อย แล้วถ้าได้ออกเดินทางไปเที่ยวจริง ๆ จะสนุกแค่ไหน วันนี้ บัดดี้จะมาแนะนำเกาะพระทอง ผจญภัยครั้งใหม่ ในดินแดนธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งหาดทราย ชายทะเล ภูเขา ป่าโกงกาง มีทุ่งหญ้าสีทองกับป่าเสม็ดขาวที่กว้างใหญ่ จนได้รับสมญานามว่า “สะวันนาเมืองไทย” บัดดี้อยากให้ทุกคนไปเยือนเกาะพระทอง สักครั้ง พื้นที่กว่า 60,000 ไร่ บนเกาะพระทอง อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร ในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีระบบนิเวศที่หลากหลายสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนกันอย่างไม่ขาดสาย เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลีกหนีความวุ่นวายได้เป็นอย่างดี ยกให้เป็น Unseen Thailand อีกที่ของเมืองไทย วันนี้บัดดี้จึงขอมาแนะนำกิจกรรมไฮไลต์ ดังนี้ กิจกรรมแรกที่บัดดี้อยากแนะนำ ยามเช้า ๆ ออกไปผจญภัยโดยการขึ้นรถสุดเท่ ผจญภัยในเส้นทางธรรมชาติไปยังกลางเกาะ ชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทุ่งหญ้าสีทองอร่าม (ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) แต่ถ้าไปช่วงเวลานี้อาจจะเป็นสีเขียวมากหน่อย หากโชคดีจะได้พบกับสัตว์ป่าหายาก ได้แก่ กวางป่าหรือกวางม้า นกตะกรุม เหยี่ยวขาว นกแก๊ก นกกระแต แย้ ได้เก็บภาพและบรรยากาศสวย ๆ ชมวิวได้ตามสบาย ไม่ต้องเร่งรีบใด ๆ ถัดจากทุ่งหญ้าสีทอง ก็ไปที่ป่าเสม็ดแคระ ที่เรียงรายกันอย่างสวยงาม ราวกับอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ ต้นที่มีเปลือกหนา ๆ อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี หากสังเกตต้นไม้เล็ก ๆ ที่อยู่ตามพื้นบริเวณนั้น จะพบกับต้นหยาดน้ำค้าง พืชกินสัตว์ ที่น่าทึ่ง สามารถใช้ความหวานของตนเอง ล่อจับและย่อยแมลงได้ กิจกรรมที่สองต้องห้ามพลาด คือการพายคายัก ณ คลองน้ำใส หรือ คลองสีคราม ที่แวดล้อมไปด้วยป่าโกงกาง มีสัตว์น้ำหลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลาตีนคอยแอบเราอยู่ตลอดทาง ได้ออกกำลังกายไปในตัว และยังได้กำลังใจกลับมาอีกมากเลย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการเดินชิล ๆ หรือจะนอน เอนกาย ฟังเสียงคลื่น ปิกนิกริมหาด ชมพระอาทิตย์ตกดิน ชิมอาหารซีฟู้ดจุใจ กลางคืน ชมปูไก่ ปูเสฉวน ออกมาเดินเฉิดฉาย หากมีเวลาอีกวัน แนะนำให้ไปดำน้ำดูปะการัง กัลปังหา สวย ๆ ที่เกาะไข่ เกาะร่ม อยู่ไม่ไกลจากเกาะพระทอง การเดินทาง ลงเรือได้ที่ท่าเรือคุระบุรี ใช้เวลาเดินทางไปเกาะพระทองอีก 1 ชั่วโมง ค่าเรือเที่ยวละ 2,000 บาท ในกรณีที่จองที่พักบนเกาะไว้แล้ว แนะนำให้ทางที่พักช่วยติดต่อจองเรือรับ-ส่งให้ด้วย บน #เกาะพระทอง มีที่พักให้เลือกไม่มาก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมหาด สร้างแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่มีแอร์ มี WI-FI และมีคลื่นโทรศัพท์ในบางจุดช่วงเวลาที่สวยที่สุดจะเป็นช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน ช่วงนี้ถ้าฟ้าฝน ลมพายุ ไม่มี ก็สามารถไปได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ไกด์ดำ โทร. 08 9867 6829 เมื่อจบทริปแล้ว บัดดี้ ได้แรงบันดาลใจอย่างมาก เปิดโอกาสให้ตัวเองเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ สูดอากาศได้เต็มปอด อยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง เก็บภาพประทับใจ นึกถึงความทรงจำที่ดี ผู้คนที่ใจดี อาหารอร่อย ๆ วิวสวย ๆ และคิดว่ามีโอกาส จะกลับไปที่ #เกาะพระทอง อีกสักครั้ง เพราะแต่ละฤดู ความสวยงามก็แตกต่างกัน บัดดี้เชื่อว่า #เกาะพระทอง จะเป็น 1 ในทริปผจญภัยถัดไปที่คุณจะวางแผนมาที่นี่ให้ได้อย่างแน่นอน

✨ ผจญภัยครั้งใหม่…ในดินแดนเกาะพระทอง : พังงา ✨ อ่านเพิ่มเติม

นกเงือก…สัญลักษณ์แห่งรักแท้ 🥰🦅

“นกเงือก” หรือ “Hornbills” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และถือเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่สำคัญ เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่แต่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง หากพูดถึงสัญลักษณ์แห่งรักแท้…เมื่อนกเงือกจับคู่แล้ว จะใช้ชีวิตแบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต ไม่ว่าคู่เดิมจะตายหรือหายไปก็จะไม่หาคู่ใหม่โดยนกเงือกจะเริ่มหาคู่ในช่วงปลายปี และเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน❣️ 📣ด้วยพฤติกรรมการครองรักและผสมพันธุ์กับคู่เดิมนี้ จึงยกให้นกเงือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” (Love Hornbills Day) ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด และหลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์นกเงือกมีลักษณะที่เป็นจุดเด่นของตัวเองคือ ตัวนกจะมีทั้งที่มีขนสีดำ สีขาว บางชนิดอาจจะมีสีอื่น ๆ เช่น สีน้ำตาลหรือสีเทา ส่วนที่ถือว่าฉูดฉาดที่สุดบนตัวนกเงือกจะอยู่ที่บริเวณหนังคอ ไม่ก็ขอบตา มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่มาก นอกจากนี้ นกเงือกยังมีความสำคัญกับระบบนิเวศป่าอีกด้วย ตามธรรมชาติการหาอาหารของนกเงือกจะกินทั้งผลไม้และสัตว์เล็ก ๆ แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่จะเลือกกินผลไม้สุกและทิ้งเมล็ดไปในพื้นที่ต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหมือนตัวช่วยปลูกป่า ซึ่งเมื่อป่าเติบโตก็จะเป็นแหล่งอาหารต่อไป🌱 🔎แหล่งที่เราสามารถพบเห็นนกเงือกในประเทศไทยมีหลายแห่งมากค่ะ วันนี้เรามีสถานที่ที่พบเห็นนกเงือกมาฝากเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ ได้ไปชมกันด้วย-เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา-อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส-เกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต-ป่าพรุโต๊ะแดง ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร จังหวัดนราธิวาส

นกเงือก…สัญลักษณ์แห่งรักแท้ 🥰🦅 อ่านเพิ่มเติม

✨ น้ำชุบหยำ น้ำพริกพื้นเมืองกับเรื่องเล่าพื้นบ้าน ✨

“น้ำชุบหยำ” ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “น้ำพริกขยำ” หรือ “น้ำพริกโจร” ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะเคยได้ยินหรือเรียกไม่เหมือนกัน แต่ที่เห็นอยู่นี้ คือน้ำพริกพื้นเมืองที่นิยมรับประทานกันในภาคใต้ วัตถุดิบมีลักษณะคล้ายกับน้ำพริกกะปิของภาคกลาง แต่มีส่วนผสมเพิ่มเติม ได้แก่ กุ้ง กับน้ำกุ้งต้มเพื่อเพิ่มรสหวาน และจะทำน้ำพริกโดยวิธีการขยำ ๆ จนเข้ากัน น้ำชุบหยำ เป็นอาหารที่มีเรื่องเล่ากันว่า “ครั้งหนึ่ง โจรกำลังปล้นบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งในขณะที่กำลังปล้นก็เริ่มรู้สึกหิว จึงหาอะไรกิน และเห็นว่ามีเครื่องทำน้ำพริกอยู่ แต่ถ้าเกิดตำน้ำพริกโดยใช้ครก ก็กลัวว่าเจ้าของบ้านจะตื่น จึงใช้มือขยำ ๆ วัตถุดิบต่าง ๆ แทน” ซึ่งกลายเป็นที่มาของน้ำชุบหยำนั่นเอง ในปัจจุบัน มีสูตรและวิธีทำมากมายตามสื่อออนไลน์ ซึ่งถ้าหากใครที่อยากลองทำดู ก็สามารถทำได้ไม่ยาก หรือถ้าใครที่มีโอกาสเดินทาไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หรือพังงา แนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหารับประทานดูสักครั้งแล้วจะติดใจ

✨ น้ำชุบหยำ น้ำพริกพื้นเมืองกับเรื่องเล่าพื้นบ้าน ✨ อ่านเพิ่มเติม

คลองสังเน่ห์ : Little AMAZON: พังงา

คลองสังเน่ห์ ตั้งอยู่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สามารถล่องเรือพายหรือเรือยนต์ขนาดเล็กเที่ยวชมทัศนียภาพ ระหว่างทางจะพบอุโมงค์ต้นไทรอายุนับร้อยปีที่แผ่กิ่งก้านสาขาสองฝั่งคลอง บางช่วงกิ่งก้านจะห้อยระย้าลงมาเหนือลำคลองเหมือนม่านอุโมงค์ต้นไทร ทัศนียภาพโดยรวมคล้ายลุ่มน้ำอะเมซอน จึงถูกขนานนามว่า “ ลิตเติ้ลอะเมซอน (The Little Amazon) ”

คลองสังเน่ห์ : Little AMAZON: พังงา อ่านเพิ่มเติม

เปิดแล้ว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา

หมู่เกาะสุรินทร์ แบ่งออกเป็น เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ ขึ้นชื่อเรื่องจุดดำน้ำตื้นที่สวยแห่งหนึ่งของไทย ไม่ว่าจะสายฟรีไดฟ์ หรือ สนอคเกิ้ล ก็ต้องมาสัมผัสบรรยากาศซักครั้งหนึ่ง บอกเลยว่าที่นี่น้ำใส สีเขียวมรกต สวยมาก ๆ จุดเด่นของที่นี่คือแนวปะการังที่ยังมีความสมบูรณ์หลากหลายชนิด เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังโขด ฯลฯ รวมถึงฝูงปลาหลายชนิด เช่น ปลามง ปลานีโม่ ปักเป้า บางจุดสามารถเจอน้องเต่า หรือฉลามครีบดำ ที่บริเวณเกาะตอรินลาได้ด้วย ทะเลที่นี่ถือว่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เลย กิจกรรมท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ ดำน้ำตื้นตามจุดต่าง ๆ มากมาย เช่น หาดไม้งาม อ่าวช่องขาด อ่าวสุเทพ และอ่าวแม่ยาย ฯลฯ เยี่ยมชมหมู่บ้านมอแกน ตั้งอยู่บนเกาะสุรินทร์ใต้ พร้อมเลือกซื้อสินค้าชุมชน เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กระเป๋าสาน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์ตก อุทยานเปิดเกาะให้ท่องเที่ยวตั้งแต่ 15 ตุลาคม -15 พฤษภาคม ของทุกปี สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แบบไปกลับ one day tour มีบริษัททัวร์นำเที่ยวให้บริการหลายเจ้า หรือจะพักค้างคืนบนเกาะก็ได้ อุทยาน ฯ มีบ้านพักและเต็นท์ให้เช่า หรือ ถ้าใครจะพกเต็นท์มาเอง ทางอุทยานฯ มีจุดกางเต็นท์ ให้บริการด้วยนะ ค่าสถานที่กางเต็นท์คืนละ 80 บาท/คน/คืน

เปิดแล้ว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อ่านเพิ่มเติม

✨รวมอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 16 แห่ง ✨

ทะเลไทยขึ้นชื่อว่าสวยงามไม่แพ้ใคร วันนี้แอดจะมาแนะนำ อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 16 แห่ง ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก หากใครมีโอกาสได้ไปรับรองประทับใจแน่นอน ลองตามแอดมาดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง 👉 สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลก่อนการเดินทางได้ที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2579 5269 จังหวัดพังงา 1. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่งและอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีชายหาดและเกาะสวยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญที่นี่ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จากการค้นพบหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่า เคยมีกลุ่มชนอาศัยอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพเขียนสี เศษภาชนะดินเผา ขวานหิน ฯลฯ 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังน้ำตื้นของเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ ที่นี่จึงถือเป็นแหล่งดำน้ำระดับแถวหน้าของเมืองไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จนได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ส่วนอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น 3. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งนี้ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เทือกเขาลำปี มีลักษณะเป็นภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีที่อายุราว ๆ 60–140 ล้านปี มีป่าดงดิบปกคลุม และอีกส่วนคือ ชายหาดท้ายเหมือง ที่มีลักษณะเป็นหาดทรายขาวสะอาดกว้างและยาว มีความเงียบสงบ เป็น่จุดวางไข่ของเต่าทะเลและที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก 4.อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพังงา ได้แก่ อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง และ อำเภอเมือง ลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญในจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำพังงาและแม่น้ำตะกั่วป่า ภายในมีชายหาดที่ซ่อนตัวอยู่ในเขา 2 แห่ง คือชายหาดเขาหลัก เป็นหาดหินสวยงาม มีต้นสนตลอดแนวริมหาด ส่วนอีกหาดคือ หาดเล็ก แต่อาจจะไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก เหมาะการเล่นน้ำทะเลหรือพักผ่อนริมชายหาด มีบรรยากาศเงียบสงบเหมือนเป็นชายหาดส่วนตัว 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน สิมิลัน มาจากภาษายาวี แปลว่า “เก้า” ซึ่งมาจากจำนวนของเกาะน้อยใหญ่ทั้งหมดที่รวมกันเป็นหมู่เกาะสิมิลัน อีกหนึ่งสวรรค์ของนักดำน้ำในไทยนั่นเองอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันประกอบไปด้วย 9 เกาะ เรียงกันจากเหนือลงมาใต้ ดังนี้-เกาะหูยง-เกาะปายัง-เกาะปาหยัน-เกาะเมี่ยง เป็นสองเกาะติดกัน เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีปูไก่และนกชาปีไหน สัตว์ที่หาชมได้ยาก-เกาะปายู-เกาะหัวกะโหลก เป็นเกาะที่มีลักษณะคล้ายหัวกะโหลก มีปะกะรัง ปลากระเบนราหูและหุบเขาใต้น้ำ-เกาะสิมิลัน มีขนาดใหญ่สุด เป็นแหล่งดำน้ำ ชมปะการังและสัตว์ทะเล มีจุดชมวิวหินเรือใบ-เกาะบางู จุดดำน้ำชมกองหินใต้น้ำ กองหินคริสต์มาสพอยต์ ต่อมาได้มีการรวมเอาเกาะตาชัยมาอยู่ในหมู่เกาะสิมิลันด้วย * พื้นที่บริเวณโดยรอบของเกาะหูยง เกาะปายัง และเกาะปาหยัน ได้ถูกสงวนให้เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะโดยเด็ดขาด จังหวัดสตูล 6. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา “ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามลายูคำว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า มีอ่าวมาก เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ทางด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของเมืองไทย อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยถึง 51 เกาะ โดยมีเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะ คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี โดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี  7. อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ที่ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ติดกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางหุบเขาจีนและเขามดแดง เกิดขึ้นจากการยุบตัวของพื้นดิน โดยน้ำในบึงมาจากต้นน้ำที่ออกมาจากผนังภูเขา บริเวณรอบ ๆ ของอุทยาน มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีภูเขา น้ำตก ถ้ำ เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หายากอย่าง เขียดว้าก (หมาน้ำ) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรูปร่างคล้ายกบที่ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเผ่าซาไกหรือเงาะป่าอีกด้วย โดยคำว่า ทะเลบัน เพี้ยนมาจาก ภาษามลายูว่า เลิดเรอบัน ที่มีความหมายว่า แผ่นดินยุบ นั่นเอง 8. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ประกอบด้วยเกาะ 22 เกาะ วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ รูปร่างแปลกตา มีลักษณะเป็นเกาะหินปูนที่มีความลาดชันมีโพรง ถํ้า หลุมยุบ หน้าผาสูงชัน จากการกัดเซาะของน้ำและลม ที่ราบบนเกาะส่วนมากเป็นหาดทรายแคบ ๆ สั้น ๆ อยู่ตามหัวแหลมของเกาะและอ่าว จังหวัดภูเก็ต 9. อุทยานแห่งชาติเขาสิรินาถเดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติหาดในยาง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดภูเก็ต ภายในบริเวณอุทยานมีป่าสนทะเล หาดทราย แนวปะการัง ที่วางไข่ของเต่าทะเล จักจั่นทะเลและเป็นที่อยู่อาศัยหอยทะเลที่หายากหลายชนิด จังหวัดตรัง 10. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา ภายในประกอบด้วยชายหาดและเกาะ 7 แห่ง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้– ส่วนชายหาด ได้แก่ หาดปากเมง หาดฉางหลาง หาดยาว หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม– ส่วนเกาะ ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะปลิง

✨รวมอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 16 แห่ง ✨ อ่านเพิ่มเติม

📌 ปักหมุด … พังงา

พังงา … ไม่ได้มีแค่ภูเขาและป่าไม้เท่านั้น แต่ยังมีทะเลและเกาะสวย ๆ ที่รอให้นักท่องเที่ยวออกไปสัมผัสประสบการณ์อันน่าหลงใหล รีวิวนี้เราจะพาคุณไปรู้จักแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั้งในตัวเมืองพังงาและอำเภอต่าง ๆ กันค่ะ บ้านบางพัฒน์ ตั้งอยู่ตำบลบางเตย อำเภอเมืองพังงา เดิมชื่อบ้านบางลิง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีป่าโกงกางและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารทะเล ถือเป็นจุดเด่นของชุมชนที่นี่ มีโฮมสเตย์และร้านอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พายเรือแคนู ล่องเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นต้น ถ้ำพุงช้าง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดประพาสประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัดพังงา เป็นถ้ำใหญ่อยู่กลางภูเขาช้างเรียกว่า “พุงช้าง” การเข้าชมถ้ำต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะต้องเดินลุยน้ำ ถ่อแพ และพายเรือแคนูเข้าไป ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยรูปแบบแปลกตา เช่น หินงอกหินย้อยรูปช้างร้อยเชือกเดินตามกันเป็นวงรอบ หินงอกรูปช้างนั่งอยู่ใต้ฉัตรภายในถ้ำ อากาศภายในถ้ำเย็นสบาย ใช้เวลาเดินชมประมาณ 1.30 ชั่วโมง Memories Beach ตั้งอยู่เขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า ชายหาดซึ่งเป็นที่นิยมของนักเล่นกระดานโต้คลื่น เขาหลักถูกเรียกว่าเป็น Surftown เพราะมีจุดให้เล่นกระดานโต้คลื่นหลายแห่ง สามารถโต้คลื่นได้ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนตุลาคม และหลังจากนั้นสามารถทำกิจกรรม SUP (Stand up paddle Board) ได้ ส่วนในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่ทะเลสวยที่สุด สำหรับใครที่ไม่มีกระดานโต้คลื่น ที่ Memories Beach มีให้เช่าทั้งแบบรายวันและรายชั่วโมง น้ำตกสายรุ้ง ตั้งอยู่ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จากลานจอดรถเดินเท้าเพียง 300 เมตร จะพบน้ำตกที่สายน้ำไหลลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 60 เมตร สู่แอ่งน้ำเบื้องล่างท่ามกลางผืนป่าสมบูรณ์ เหมาะสำหรับลงเล่นน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จะมีน้ำตกไหลลงมาเต็มหน้าผา เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คลองสังเน่ห์ ตั้งอยู่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า สามารถล่องเรือพายหรือเรือยนต์ขนาดเล็กเที่ยวชมทัศนียภาพของตลอง ระหว่างทางจะพบอุโมงค์ต้นไทรอายุนับร้อยปีที่แผ่กิ่งก้านสาขาสองฝั่งคลอง บางช่วงกิ่งก้านจะห้อยระย้าลงมาเหนือลำคลองเหมือนม่านอุโมงค์ต้นไทร และด้วยมีทัศนียภาพโดยรวมคล้ายลุ่มน้ำอะเมซอน จึงถูกขนานนามว่า “ลิตเติ้ลอะเมซอน (The Little Amazon)” เขาหน้ายักษ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง เป็นชายหาดที่มีความเงียบสงบ บริเวณโดยรอบมีโขดหินขนาดใหญ่รูปร่างแปลกตา น้ำทะเลใส หาดทรายขาวละเอียด การเดินทางมายังเข้าหน้ายักษ์ ต้องใช้รถโฟล์วิลเท่านั้น เนื่องจากเป็นถนนลูกรัง ระยะทางจากที่ทำการอุทยานฯ มายังเขาหน้ายักษ์ ประมาณ 15 กิโลเมตร ล่องแพไม้ไผ่วังเคียงคู่ ตั้งอยู่ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง เป็นลำห้วยเล็ก ๆ ต้นน้ำไหลมาจากอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ระยะทางล่องแพ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ระหว่างทางบรรยากาศร่มรื่นและมีจุดสำหรับเล่นน้ำได้ หาดท้ายเหมือง ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นชายหาดที่มีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร มีทิวสนต้นใหญ่เรียงรายตลอดแนวหาด ชายหาดกว้างและทอดตัวเข้าไปตัดกับน้ำทะเลใสบริเวณชายหาดมีร้านอาหารและพี่พักบริการ ในทุก ๆ ปี ช่วงเดือนมีนาคม ณ หาดท้ายเหมือง จะมีการจัดงานประเพณีอนุรักษ์เต่าทะเล โดยการปล่อยเต่าลงสู่ทะเล น้ำตกหินลาด ตั้งอยู่ตำบลกะปง อำเภอกะปง เกิดจากสายน้ำ 3 สาย คือ คลองบางใหญ่ คลองเขาไม้แก้ว และคลองมะละกอ ไหลมาบรรจบกัน และไหลไปตามก้อนหินน้อยใหญ่ตลอดเส้นทาง หินที่ถูกสายน้ำเซาะผ่านถูกขัดเกลาจนกลมมนมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ปะปนกันไปดูสวยงาม มีจุดเล่นน้ำทั้งที่เป็นน้ำตกและจุดที่เป็นธารน้ำไหล นอกจากนี้ยังมีฝูงผีเสื้อหลายสีสวยงามมาเกาะตามโขดหินที่มีน้ำไหลผ่าน นักท่องสามารถชื่นชมธรรมชาติและเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี น้ำพุร้อนปลายพู่ ตั้งอยู่ตำบลท่านา อำเภอกะปง เป็นบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของลำคลองปลายพู่ มีบ่อขนาดใหญ่ 1 บ่อ และบ่อขนาดเล็ก 4-6 บ่อ เรียงรายอยู่ตามลำคลอง น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 75 องศาเซลเซียส ความพิเศษของบ่อน้ำพุร้อนที่นี่ คือ น้ำพุร้อนจะไหลมารวมในลำธารเดียวกันกับสายน้ำเย็นที่ไหลมาจากบนเขา ทำให้น้ำในลำธารมีอุณหภูมิที่ไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป สามารถลงไปแช่หรือเล่นน้ำได้ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเชื่อกันว่า การแช่น้ำในลำธารนี้ซึ่งมีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย จะช่วยบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ และโรคอัมพฤกษ์ ทำให้มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างแวะเวียนมาเข้ามาแช่น้ำร้อนตลอดทั้งวัน หาดนางทอง ตั้งอยู่เขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกยกให้เป็นอันซีนพังงา เนื่องจากชายหาดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษต่างไปจากชายหาดอื่น เพราะทรายบนชายหาดนางทองเป็นสีดำละเอียด ซึ่งพบเพียงไม่กี่แห่งในโลก จนได้รับขนานนามว่า “หาดทรายสีดำ” ทรายสีดำดังกล่าวแท้จริงแล้วคือ “แร่ดีบุก” ที่มีอยู่มากในบริเวณนี้และยาวต่อเนื่องไปตลอดแนวชายหาดของอำเภอตะกั่วป่า เนื่องจากในอดีตอำเภอตะกั่วป่าเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำเหมืองแร่ริมชายฝั่งสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย โดยสมัยนั้นคลื่นทะเลจะซัดแร่ดีบุกขึ้นมาบนชายหาดบริเวณนี้ จากนั้นชาวบ้านจะตักมากองรวมกัน ก่อนจะนำใส่รางและล้างน้ำเพื่อแยกเอาทรายทะเลที่มีน้ำหนักเบากว่าออกให้เหลือเพียงแต่สีดำ และนำไปแยกเอาแร่ดีบุกไปขาย ดังปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดพังงาว่า “แร่หมื่นล้าน” ประภาคารเขาหลัก ตั้งอยู่หาดนางทอง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า ถือเป็นแลนด์มาร์คอีกจุดในพื้นที่เขาหลัก เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม ใครที่แวะมาดูทรายดำที่หาดนางทอง ก็จะต้องแวะมาชมประภาคารแห่งนี้ด้วย สองสิ่งนี้เหมือนเป็นไฮไลต์ที่อยู่คู่กัน หากมาเที่ยวชมในช่วงเย็น จะเป็นช่วงเวลาที่น้ำลง ทำให้เกิดเป็นชายหาดเชื่อมระหว่างฝั่งและเกาะบนประภาคาร สามารถเดินไปที่ประภาคารเพื่อไปถ่ายรูปและชมวิวพระอาทิตย์ตกได้ เมืองเก่าตะกั่วป่า เมื่อครั้งอดีตในยุคที่กิจการเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู ทำให้ตะกั่วป่ากลายเมืองท่าที่สำคัญของภาคใต้ในการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งจากจีน อินเดีย และอาหรับ เอกลักษณ์เฉพาะตัวและเสน่ห์ของเมืองเก่าตะกั่วป่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบันคือ อาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

📌 ปักหมุด … พังงา อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top