แพร่

แพร่

🌳 บ้านนาคูหา หมู่บ้านเล็กกลางหุบเขา : แพร่🌿

“บ้านนาคูหา” หมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่สลับซับซ้อน ใครจะไปคิดว่าจังหวัดแพร่ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมและผู้คนน่ารัก และมีสถานที่แห่งนี้ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ต้องมาเช็กอินเลยล่ะ🫶 บ้านนาคูหา มีสิ่งที่โดดเด่นคือ วัดนาคูหา วัดแห่งนี้มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ คือ พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางทุ่งนา พระหัตถ์ซ้ายถือลูกสมอ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในหมู่บ้าน มีความเชื่อว่าลูกสมอเป็นยารักษาโรคได้สารพัด หากมาขอพรด้วยลูกสมอจะสมปรารถนาในเรื่องของสุขภาพ 🥰 🌳ความสวยงามอีกอย่างคงจะไม่พ้น สะพานไม้ไผ่ หรือ ขัวแตะ เป็นภาษาพื้นเมืองทางเหนือ ที่ทอดยาวจากองค์พระผ่านท้องทุ่งนายาวไปจนถึงอีกฝั่ง เดินชมธรรมชาติ รับลมเย็น ๆ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดนาคูหา ✨ ช่วงเวลามาเที่ยวที่นี่จะแตกต่างกันไป หากมาในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน จะได้เห็นทุ่งนาสีเขียว สบายตา หากมาในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะได้สัมผัสกับรวงข้าวสีเหลืองทองเต็มท้องทุ่ง มีลมพัดเย็น ๆ เข้าใกล้ฤดูหนาว ได้บรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ ใครอยากได้แสงสวย ๆ แนะนำให้มาช่วงเช้า อาจได้เห็นหมอกบาง ๆ หรือช่วงเย็นก็ได้บรรยากาศพระอาทิตย์ตกค่ะ ⛅️ นอกจากนี้ หมู่บ้านนาคูหายังเป็นแหล่งต้นน้ำในการปลูกห้อม เพื่อนำไปสกัดเป็นสีย้อมผ้าหม้อห้อม และการช้อนเตาหรือสาหร่ายน้ำจืด พืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านนาคูหานำเตาสด ๆ มาจำหน่ายและยังมีสินค้าแปรรูปจากเตาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเกรียบเตา กาละแม วุ้น ทองม้วนและสบู่ด้วยค่ะ ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้เลย🍃 👉หากเพื่อน ๆ มีโอกาสไปแอ่วเมืองแพร่ครั้งหน้า แวะไปเที่ยววัดนาคูหาและบ้านนาคูหากันนะคะ เอารูปสวย ๆ มาอวดบัดดี้ด้วยนะคะ 😊 📌บ้านนาคูหา ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่🌐https://goo.gl/maps/nhgQFbMqXxW5yXi66

🌳 บ้านนาคูหา หมู่บ้านเล็กกลางหุบเขา : แพร่🌿 อ่านเพิ่มเติม

✨ แนะนำเทศกาลเดือนมีนาคม ✨

เดือนที่ 3 ของปี เริ่มก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว หลายคนคงมีแผนเดินทางไปเที่ยวทะเล น้ำตก เพื่อเล่นน้ำคลายร้อน หรือขึ้นเขาเพื่อมองหาความสดชื่นของสีเขียวจากยอดดอย แต่นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มอบความเย็นทางใจให้แล้ว เดือนมีนาคมก็เป็นช่วงเวลาที่มีเทศกาลพิเศษและสนุก ๆ ถูกจัดขึ้นเหมือนกัน… เอาล่ะ หากใครกำลังมองหาเทศกาลประเพณีพิเศษ ๆ ที่จัดขึ้นเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม นอกเหนือจากการเที่ยวตามธรรมชาติล่ะก็ ลองตามมาอ่านคอนเทนต์นี้ดู ว่า 5 เทศกาลเดือนมีนาคมที่นำมาแนะนำวันนี้ จะมีที่ไหนบ้าง 1.ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จ.ยโสธร เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนบ้านฟ้าหยาด จ.ยโสธร เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ได้เห็นถึงความสำคัญของข้าว จึงคัดข้าวเปลือกที่ดีที่สุดมาคั่วเป็นข้าวตอก แล้วนำมาร้อยเป็นมาลัยสายยาวแทน “ดอกมณฑารพ” ดอกไม้ทิพย์บนสวรรค์ ที่เชื่อว่ามีความสวยงามและมีกลิ่นหอม ซึ่งจะหล่นลงมาบนโลกในเหตุการณ์สำคัญ เช่นครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ดอกมณฑารพก็ร่วงหล่นลงมาบนโลกทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนการแสดงความเสียใจในเหตุการณ์นี้ เหล่าพระภิกษุ ข้าราชการบริพารและประชาชนทั้งหลาย จึงพากันเก็บมาสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์นี้ ชาวบ้านฟ้าหยาด จึงประดิษฐ์และจัดงานแห่มาลัยข้าวตอกขึ้นก่อนวันมาฆบูชา ปัจจุบันจะมีการจัดงาน 5 วัน มีการแห่เป็นขบวนรอบตัวอำเภอ ก่อนจะนำไปถวายที่วัดหอก่อง ซึ่งภายในวัดมี พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมความงามหลังจากแห่ขบวนได้ ในปี พ.ศ. 2566 ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย ใครที่สนใจสามารถไปชม ชิม ชอปปิง สินค้าโอทอป ของกิน ของฝาก ที่ถนนคนเดินของงานได้เลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. สำนักงานอุบลราชธานี (ดูแลพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ) โทร. 0 4524 3770 2.งานพระนครคีรี-เมืองเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จ.เพชรบุรี งานต่อมาที่อยากแนะนำ ก็คือ งานพระนครคีรี-เมืองเพชร ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “เยือนถิ่นเมืองพริบพรี สดุดีจอมราชัน แดนสร้างสรรค์อาหารไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 17 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) ภายในงาน จะมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีจากสกุลช่างเมืองเพชร รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ชมพลุบนเขาวัง ชิมอาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นถิ่น สินค้าพื้นเมืองเพชรบุรี สินค้า OTOP รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มา ชม ชิม ชอปปิง และถ่ายรูปกันได้อย่างจุใจ : ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาทนักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า ค่าบริการไป-กลับ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี) 15 บาท : ถ.คีรีรัถยา ต.คลองกระแชง อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี: เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.: สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0 3247 1006 3. ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ อีกหนึ่งเทศกาลและงานประจำปีของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ในปีนี้ จะมีในช่วงวันที่ 5-7 มีนาคม พ.ศ. 2566 ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของปราสาทหินพนมรุ้ง หนึ่งในอารยธรรมโบราณ ที่สร้างจากหินทรายสีชมพูและศิลาแลง ในทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน ของปราสาทหิน จำนวน 4 ครั้งต่อปี ซึ่งปีนี้มีรายละเอียดดังนี้ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง– ครั้งที่ 1 พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-7 มีนาคม เวลาประมาณ 18.15 น.– ครั้งที่ 2 พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3-5 เมษายน เวลาประมาณ 06.03 น.– ครั้งที่ 3 พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 8-10 กันยายน เวลาประมาณ 05.57 น.– ครั้งที่ 4 พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-7 ตุลาคม เวลาประมาณ 17.55 น. ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2566 ปราสาทหินพนมรุ้ง ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของ จ.บุรีรัมย์ ด้วยลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ บนยอดเขาพนมรุ้ง โดยคำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาอันกว้างใหญ่” ภายในมีการออกแบบที่ประณีต มีอาคารเรียงรายไปจนถึงปราสาทประธาน ทับหลังที่บอกเล่าเรืองราวของวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของฮินดู อย่างเรื่องรามเกียรติ์

✨ แนะนำเทศกาลเดือนมีนาคม ✨ อ่านเพิ่มเติม

✨พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ ✨

สวัสดีทุกคน วันนี้แอดจะพาเพื่อน ๆ มาเที่ยว จ.แพร่ หนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าของภาคเหนือ โดยสถานที่ที่แอดจะพาเพื่อน ๆ มาในวันนี้ก็คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ ตามแอดมาดูรายละเอียดกัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ ก่อตั้งโดย อ.โกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณ ที่ได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลองและชุมชนใกล้เคียง รวมไปถึงของเก่าต่าง ๆ ก่อนจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพื้นบ้านสาขาสิ่งทอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ก่อนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณให้บุคคลทั่วไปชมในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ตัวอาคารเป็นสีเหลือง มี 2 ชั้น ลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟบ้านปิน ภายในแบ่งโซนการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 ห้องจิตรกรรมเวียงต้า งานจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้ประกอบเป็นฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน เดิมอยู่ที่วัดต้าม่อน อ.ลอง จ.แพร่ แสดงถึงการแต่งกายของสตรี “เมืองลอง” ในสมัยอดีต ส่วนที่ 2 ผ้าโบราณเมืองลอง จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก ลวดลายเหมือนภาพเขียนจิตรกรรมเวียงต้า มีหูกทอผ้าและอุปกรณ์หลายอย่างตั้งไว้ให้ชม ส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่มาชมได้รู้และเห็นถึงความแตกต่างของผ้าตีนจกจากหลายแหล่งที่มา เช่น ตีนจกแม่แจ่ม, ตีนจกไหล่หิน, ตีนจกนาน้อย, ตีนจกหาดเสี้ยว, ตีนจกราชบุรี, ตีนจกลาวครั่ง เป็นต้น ส่วนที่ 4 แสดงการเก็บผ้าโบราณ โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนโบราณที่ทำให้ผ้าสามารถอยู่ได้นานกว่า 200 ปี และยังคงสวยงามอยู่ ส่วนที่ 5 ร้านค้า จำหน่ายผ้าทอมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่นคนเมืองลอง ส่วนใหญ่เป็นผ้าซิ่นตีนจก ผ้าโบราณทำใหม่และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทันสมัย นอกจากนี้ คุณโกมลได้ส่งผ้าซิ่นตีนจกจากเมืองลองเข้าประกวดงานผ้า ได้รับรางวัลในประเทศกว่า 60 รางวัล และได้รับรางวัลถึง 5 รางวัลจากการส่งไปประกวดงานผ้าจากอาเซียน ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพของผ้าซิ่นเมืองลองได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ: 157/2 หมู่ 6 (ตรงข้ามโรงเรียนลองวิทยา) ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ 54150: 08 1807 9960 (ติดต่อล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมผู้บรรยาย): เปิดทุกวัน 09.30-17.00 น. เข้าชมฟรี

✨พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ ✨ อ่านเพิ่มเติม

✨ ความเชื่อเรื่องชุธาตุของชาวล้านนา ✨

หลายคนอาจพอได้ยินเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด และเคยไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองมาแล้ว แต่เคยสงสัยไหมว่า พระธาตุประจำปีเกิดถูกกำหนดขึ้นอย่างไร แอดสงสัยค่ะ จึงไปหาความรู้มาฝาก ชุธาตุ หรือพระธาตุประจำปีเกิด เป็นความเชื่อของชาวล้านนาในเรื่องการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนา ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดในครรภ์มารดา ดวงจิตได้เคยสถิตอยู่กับต้นไม้ ซึ่งมีภูตผีหรือสัตว์รักษาอยู่ แต่ด้วยความไม่เหมาะสม ที่ดวงจิตของมนุษย์จะอยู่กับอมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย ดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิด จึงได้ลาไปจากต้นไม้ดังกล่าว เพื่อไปสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไป ตามที่สัตว์ประจำนักษัตรพาไปพัก เพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตน และเชื่อว่าการได้ไปสักการะจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต โดยพระธาตุประจำปีเกิดอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้ 🌟 คนเกิดปีชวด สักการะ พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 🌟 คนเกิดปีฉลู สักการะ พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง 🌟 คนเกิดปีขาล สักการะ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ 🌟 คนเกิดปีเถาะ สักการะ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน 🌟 คนเกิดปีมะโรง สักการะพระธาตุวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ 🌟 คนเกิดปีมะเส็ง สักการะ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธยาประเทศอินเดีย หรือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่ แทน 🌟 คนเกิดปีมะเมีย สักการะ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า หรือ พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดตาก แทน 🌟 คนเกิดปีมะแม สักการะ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 🌟 คนเกิดปีวอก สักการะ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม 🌟 คนเกิดปีระกา สักการะ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน 🌟 คนเกิดปีจอ ให้ปล่อยโคมเพื่อสักการะพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ สักการะพระธาตุวัดเกต จังหวัดเชียงใหม่ 🌟 คนเกิดปีกุน สักการะ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตน ไม่สะดวกเดินทาง ก็สามารถหารูปภาพพระธาตุประจำปีเกิดมากราบไหว้ที่บ้านได้ และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เมื่อเดินทางไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตกันแล้ว ก็อย่าลืมแวะท่องเที่ยวระหว่างทาง เสาะหาอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ และซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับมาด้วยนะคะ

✨ ความเชื่อเรื่องชุธาตุของชาวล้านนา ✨ อ่านเพิ่มเติม

หม้อห้อมบ้านป้าเหงี่ยม จ.แพร่

บ้านป้าเหงี่ยม หรือศูนย์เรียนรู้หม้อห้อมป้าเหงี่ยม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้าหม้อห้อม ซึ่งเป็นการย้อมสีจากธรรมชาติ โดยสีที่ใช้ทำมาจากต้นห้อมและต้นคราม ที่บ้านป้าเหงี่ยมเราจะได้ทำความรู้จักกับพืชที่นำมาย้อมผ้า นั่นคือ ต้นห้อมและต้นคราม วิธีการปลูก วิธีการเตรียมน้ำหม้อห้อม ไปจนถึงขั้นตอนการย้อมผ้าให้เป็นลวดลายสวยงาม ใครชอบทำกิจกรรมสนุก ๆ แบบนี้ ทริปเที่ยวครั้งต่อไปหลังโควิด 19 ต้องแวะไปที่บ้านป้าเหงี่ยมให้ได้เลยค่ะ ส่วนตอนนี้ อาจจะยังไม่สะดวกเดินทาง แต่ก็สามารถสั่งสินค้าจากบ้านป้าเหงี่ยมมาใช้ได้ เขามีทั้ง เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า พวกกุญแจ ผ้าพันคอ และผ้าคาดผมจำหน่าย จะเอามาใส่อยู่บ้านเก๋ ๆ หรือใส่อวดเพื่อนตอนประชุมออนไลน์ก็ไม่ว่ากัน ขอบคุณภาพจาก ศูนย์เรียนรู้หม้อห้อมป้าเหงี่ยม อุดหนุนสินค้าได้ที่Facebook : https://www.facebook.com/indigobypangiam/?ref=page_internalโทร. 089 851 3048

หม้อห้อมบ้านป้าเหงี่ยม จ.แพร่ อ่านเพิ่มเติม

ชวนครอบครัวเที่ยวสงกรานต์ กับ 5 สถานที่เที่ยวเมืองรอง

วันสงกรานต์ ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญของคนไทย หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้เทศกาลนี้มาถึงไว ๆ เพราะนอกจากจะได้หยุดยาวพักผ่อนแล้ว ช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีกิจกรรมมากมายให้ได้ทำ โดยสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเป็นอันดับแรกคือการละเล่นน้ำ ประแป้ง คลายร้อน การร่วมกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ หรือเข้าวัด ไหว้พระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี ยังถือเป็นวันครอบครัวอีกด้วย เราเลยอยากชวนทุกครอบครัวไปเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวสงกรานต์ในรูปแบบใหม่ สไตล์เมืองรอง ที่ถึงแม้จะงดเล่นน้ำ งดประแป้ง แต่ก็ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ของ 5 สถานที่เมืองรอง ที่มีครบทุกสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสายบุญ สายออกกำลังกาย หรือว่าจะสายกิน ที่รับรองว่าได้ลองแล้วจะติดใจจนต้องชวนครอบครัวออกไปเที่ยวซ้ำอีกแน่นอน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ .วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณ เป็นการเปลี่ยนปีจุลศักราช ซึ่งปัจจุบันถึงแม้จะกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามหลักสากล แต่ชาวไทยพุทธศาสนา ยังถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ไหน ๆ ก็หยุดยาวปีใหม่ไทยทั้งที ถือเป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่ไม่ควรพลาดในการพาครอบครัวเข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญ เสริมความสิริมงคลให้แก่ครอบครัว โดยวัดที่เราจะพาทุกครอบครัวไปไหว้พระเริ่มต้นปีกันนั้นก็คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี จุดเด่นของวัดอยู่ตรงองค์พระปรางค์ที่ถือเป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีอันโด่งดัง มาที่นี่นอกจากจะได้พาครอบครัวมาสรงน้ำพระวันสงกรานต์เพื่อเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในปีใหม่ ที่คนไทยโบราณเชื่อว่าชีวิตก็จะราบรื่นมีความสุขไปตลอดปีแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสถานที่จริงอีกด้วย.สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง– อุทยานมังกรสวรรค์ 400 เมตร– วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร 2.9 กม.– หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา 3.8 กม..ที่ตั้ง ถนนสมภารคง ต.รั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีเปิดบริการทุกวัน ไร่ตามฟาร์มสุข.ขยับมาเที่ยวภาคตะวันออกกันบ้าง ที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดเมืองรองใกล้กรุง ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ การพาย Stand Up Paddle Board หรือที่เรามักจะเรียกกันเล่น ๆ ว่า SUP Board ในคลองบางกะจะ ด้วยเสน่ห์ความสวยงามคลองบางกะจะ ทำให้เราสามารถออกกำลังกาย และพักผ่อนไปได้ในคราวเดียวกัน ไม่ว่าจะอยากออกทริปพาย SUP ชมธรรมชาติช่วงเช้า ช่วงเย็น หรือจะเหมายาวๆทั้งวัน ที่นี่ก็มีบริการให้เลือกหลายช่วงเวลาตามความต้องการ.นอกจากนี้ยังมีบริการ Private Portrait SUP ทุกโปรแกรมของที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ภาพสวย ๆ จากช่างภาพมืออาชีพที่มาถ่ายให้ โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้ที่นี่ยังมีกิจกรรมขี่ม้า โดยที่ฟาร์มจะมีสนามฝึกขี่ม้า และมีคุณครูฝึกผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ตลอดการเรียน เริ่มเรียนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก 3 ขวบขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ท่านไหนสนใจที่นี่ก็ยินดีต้อนรับเสมอ อัตราค่าบริการ SUP– แพคเกจเริ่มต้น ราคา 800บาท/คน รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 7 ท่าน ต่อทริป ยกเว้น แพคเกจส่วนตัว จำนวนไม่เกิน 2 ท่าน หรือ ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก * กรณีมีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ขออนุญาตรับเฉพาะกลุ่ม ไม่รับแจมกรุ๊ปกับท่านอื่น * กรณี ลูกค้ามี บอร์ดมาเอง ขอร่วมแจมทริป มีค่าบริการ 300 บาท : 1 บอร์ด (พร้อมอาหาร เพิ่ม 150 บาท รวมค่าบริการ 450 บาท : 1 ท่าน) (อัตรานี้รวม ค่าบริการเจ้าหน้าที่,ค่าบำรุงสถานที่ ,น้ำดื่ม- ของว่าง ).อัตราค่าบริการขี่ม้า– ครึ่งชั่วโมง 200 บาท– 1 ชั่วโมง 400 บาท– คอร์สเรียน 4,000 บาท (เรียน 10 ชั่วโมง แถมฟรีอีก 1 ชั่วโมง).สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง– ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 2.4 กม.– ชุมชนริมน้ำจันทบูร 8.6 กม.– ชุมชนขนมแปลก 12 กม..ที่ตั้ง 68/3 หมู่ 4 ถนนชาติอนุสรณ์ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีเปิดบริการทุกวัน (กรุณานัดหมายจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง)โทร. 09 4696 6263 cr. รูปขี่ม้า จากไร่ตามฟาร์มสุข https://www.facebook.com/raitamfarmsuk ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุ่งเจริญ.สถานที่ต่อไป ขอเอาใจครอบครัวสายคราฟท์กันบ้าง หากพูดถึงงานคราฟท์ งานผ้า จังหวัดที่โดดเด่นในเรื่องนี้คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดแพร่ เราเลยจะพาทุกคนไปเรียนรู้กระบวนการวิธีทำผ้าหม้อห้อม ผ้าพื้นเมืองที่สำคัญของจังหวัดแพร่ ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุ่งเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ หรือชาวบ้านจะรู้จักกันในนาม บ้านป้าเหงี่ยม แรกเริ่มที่นี่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รวมกลุ่มกันทำผ้าหม้อห้อมที่ย้อมจากสีธรรมชาติ จนพัฒนาพื้นที่มาเป็นแหล่งเรียนรู้ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุ่งเจริญ” ในปัจจุบัน ผ้าหม้อห้อมถือว่าเป็นผ้าที่ทนทาน สวมใส่สบายไม่ร้อน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมวก ผ้าพันคอ มาเที่ยวที่นี่นอกจากคุณพ่อ คุณแม่จะได้ความรู้เผื่อนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้แล้ว เด็กๆยังได้สนุกสนานไปกับการทำกิจกรรมการย้อมผ้าหม้อฮ้อม งานศิลปะฝีมือเราที่มีชิ้นเดียวในโลกอีกด้วย.สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง– วนอุทยานแพะเมืองผี 6.2 กม.– พิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรี 4.8 กม.– คุ้มเจ้าหลวง 4.3 กม..ที่ตั้ง 291 หมู่ 5 ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่เปิดบริการทุกวัน

ชวนครอบครัวเที่ยวสงกรานต์ กับ 5 สถานที่เที่ยวเมืองรอง อ่านเพิ่มเติม

ไหว้ ๑๒ พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตร

“พระบรมธาตุเจดีย์” เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ คือ อัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า โดยมีการอัญเชิญและสร้างเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ และจัดพิธีสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา เชื่อว่าการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเสมือนการได้ “ชุธาตุ” หรือกราบไหว้บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีคติความเชื่อว่า “นามเปิ้ง” คือนามของสัตว์ที่เป็นพาหนะในการนำมาเกิดตามราศี จึงกำหนดพระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนักษัตร เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลในการสักการบูชา พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนักษัตรส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเหนือ และมีหนึ่งแห่งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑. พระธาตุประจำปีเกิด ปีชวด (ปีหนู) ธาตุน้ำ“พระธาตุศรีจอมทอง” วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุศรีจอมทอง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า โดยพระบรมสารีริกธาตุนี้มิได้ถูกบรรจุฝังไว้ใต้ดินเช่นที่อื่น แต่ถูกบรรจุไว้ในพระโกศห้าชั้น ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงซึ่งอยู่ด้านหลังองค์พระธาตุเจดีย์ศรีจอมทอง และในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (เหนือ) หรือก็คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ของทุกปี ที่วัดจะมีการจัดงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุศรีจอมทอง.การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ เส้นทางเชียงใหม่-ฮอด จนถึงตัวอำเภอจอมทอง จะพบวัดตั้งอยู่ซ้ายมือ มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถเมล์และรถสองแถว สายเชียงใหม่-จอมทอง วิ่งผ่านหน้าวัด สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งช้างเผือกในตัวเมืองเชียงใหม่ ๒. พระธาตุประจำปีเกิด ปีฉลู (ปีวัว) ธาตุดิน“พระธาตุลำปางหลวง” วัดพระธาตุลำปางหลวง ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย จากตำนานกล่าวว่า วัดอยู่บนซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร พระนางจามเทวีได้เสด็จมาโปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ มีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาบุทองเหลืองฉลุลาย ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้แก่ พระเกศาธาตุ (ผม) พระนลาฏ (หน้าผาก) ข้างขวา และส่วนพระศอด้านหน้าและด้านหลังของพระพุทธเจ้า การสักการบูชามักจัดให้มีขึ้นในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา.การเดินทาง : จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ลำปาง-เถิน) จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอเกาะคา และข้ามแม่น้ำวัง จะพบที่ว่าการอำเภอเกาะคา ให้เลี้ยวขวาและตรงไป ๓ กิโลเมตร ถึงวัด ๓. พระธาตุประจำปีเกิด ปีขาล (ปีเสือ) ธาตุไม้“พระธาตุช่อแฮ” วัดพระธาตุช่อแฮ ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ (ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม) ของทุกปี ทางวัดจะจัด “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง” มีริ้วขบวนเครื่องสักการะ ผ้าห่มพระธาตุ ๑๒ ราศี ตุง ๑๒ ราศี และเทศน์มหาชาติ.การเดินทาง : จากสี่แยกบ้านทุ่งในตัวเมืองแพร่ ไปตามถนนช่อแฮ รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ ๙ กิโลเมตร ๔. พระธาตุประจำปีเกิด ปีเถาะ (ปีกระต่าย) ธาตุน้ำ“พระธาตุแช่แห้ง” วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงติ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนข้อมือซ้ายของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๑-๑๕ ค่ำ และ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม) จะมีการจัด “งานนมัสพระธาตุแช่แห้ง” โดยมีการแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และจุดบอกไฟ (ลักษณะเดียวกับบั้งไฟ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ) ถวายเป็นพุทธบูชา.การเดินทาง : จากตัวเมืองน่าน ข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๖๘ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ๕. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะโรง (ปีงูใหญ่) ธาตุดิน“พระมหาธาตุเจดีย์ หรือ พระธาตุหลวง” วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของพระวิหารลายคำ ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระสิงห์” (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปคู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระวิหารลายคำนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เพราะมีลวดลายปิดทองล่องชาด เทคนิคการฉลุลายปรากฏบนฝาผนังหลังพระประธานและเสากลางพระวิหาร เสาระเบียงด้านหน้าพระวิหาร ตลอดถึงบางส่วนของโครงไม้ บนฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สังข์ทองและสุวรรณหงส์ เขียนด้วยสีฝุ่นมีความงดงามมาก.การเดินทาง : วัดพระสิงห์อยู่ใกล้บริเวณคูเมืองด้านใน ตรงบริเวณจุดบรรจบระหว่างถนนสามล้าน ถนนสิงหราช และถนนราชดำเนิน หรือใช้บริการรถโดยสารสองแถวแดงที่ให้บริการในตัวเมืองเชียงใหม่ ๖. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก) ธาตุน้ำ“พระเจดีย์เจ็ดยอด” วัดโพธารามมหาวิหาร ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระเจดีย์เจ็ดยอด จำลองแบบจากมหาวิหารเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงให้แบ่งหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่พระสงฆ์สิงหลนิกายลังกาวงศ์นำมาจากลังกาแล้วปลูกไว้ที่เชิงดอยสุเทพ ให้นำมาปลูกไว้ใกล้กับพระเจดีย์เจ็ดยอดด้วย จึงมีสองสิ่งสำคัญในการเป็นที่สักการะประจำปีเกิดปีมะเส็ง คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระมหาเจดีย์เจ็ดยอด.การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนห้วยแก้วจนถึงสี่แยกรินคำ ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำพูน) ตรงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร จะพบวัดตั้งอยู่ซ้ายมือ ๗. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเมีย (ธาตุไฟ)พระบรมธาตุ วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก มีตำนานกล่าวถึงสถานที่ตั้งของพระบรมธาตุเจดีย์ว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่แห่งนี้ และตรัสว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วให้นำพระเกศาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ต่อมาจึงมีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น โดยภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน) ของทุกปี

ไหว้ ๑๒ พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตร อ่านเพิ่มเติม

คำมี สตูดิโอ : KUMMEE STUDIO

คำมี KUMMEE STUDIO : Ceramics pottery ที่ตั้ง : 1 ม.11 ต.แม่คำมี อ.เมือง จ.แพร่เปิดวันวันพฤหัสบดี-จันทร์ เวลา 10.00-16.00 น. (ปิดวันอังคาร-พุธ)โทร.085 867 9358พิกัด : https://goo.gl/maps/j5XBU5YH3GDdr1V3A คำมี สตูดิโอ เป็นสถานที่ที่รวบรวมผลงานการปั้นเซรามิกหลากหลายรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ รูปร่างแปลกตาไม่เหมือนใคร และยังเป็นสตูดิโอสอนปั้นเซรามิกแห่งแรกของเมืองแพร่ ที่ให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้การปั้นดินและเพนท์งานเซรามิก ภายในคำมี เราจะเห็นเซรามิกรูปแบบต่างๆ ทั้งแก้ว ชาม จาน ตุ๊กตา เป็นต้น แบ่งเป็นโซนปั้นและโซนจำหน่ายเซรามิกสวยๆ ให้เราเลือกซื้อกลับบ้านได้ด้วย กิจกรรม Workshop สามารถเข้าไปทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ค่าบริการ– Workshop ปั้นดินดินดำ ก้อนละ 180 บาทดินขาว ก้อนละ 150 บาท – Workshop งานเพนท์มีภาชนะสำเร็จรูป เช่น แก้ว จาน ชาม ให้เลือกลงลาย ลงสี เพนท์เองได้ ราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท ราคารวมค่าเคลือบและเผาเรียบร้อยแล้ว นอกจากจะได้เรียนรู้การปั้นเซรามิกแล้ว ที่คำมียังมีโซนคาเฟ่ด้วยนะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ปั้นดินกินพิซซ่า ที่ห้ามพลาดเลยก็คือ พิซซ่าโฮมเมดจากเตาร้อนๆ และเมนูเครื่องดื่มที่ต้องมาลอง ปั้นดินไปกินพิซซ่าไป เพลินสุดๆ เลยค่ะ พิซซ่ารสชาติอร่อยถูกใจทุกเพศทุกวัยเลยล่ะ แป้งหนานุ่ม มีให้เลือกหลายหน้า ไม่ว่าจะเป็นฮาวายเอี้ยน ผักโขมชีส ครีมเห็ดคาโบนาร่า ฯลฯ ราคาเริ่มต้นถาดละ 200 บาทเท่านั้น ใครอยากได้สองหน้าใน 1 ถาดก็สามารถสั่งได้ด้วยนะ ใครชอบชีสเยอะๆ ก็สั่งเพิ่มชีสได้ ดีงามไปอีก workshop เพนท์จาน เราสามารถวาดลายและลงสีได้เองเลยนะ บอกเลยว่าสนุกมากๆ หากใครอยากหาสถานที่ทำกิจกรรมแบบนี้ ที่นี่ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562

คำมี สตูดิโอ : KUMMEE STUDIO อ่านเพิ่มเติม

เส้นทางท่องเที่ยวน่าน-แพร่ 3 วัน 2 คืน

เส้นทางท่องเที่ยวน่าน-แพร่ 3 วัน 2 คืน วันที่ 1วัดภูมินทร์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่านซุ้มลีลาวดีวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วันที่ 2วัดพระธาตุแช่แห้งวัดหนองบัวกาแฟบ้านไทลื้อฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ วันที่ 3พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวงคุ้มวงศ์บุรีวัดพระธาตุช่อแฮวัดพระธาตุดอยเล็ง วันที่ 1 สำหรับวันแรกเราเริ่มต้นกันที่จังหวัดน่าน ชวนมาอิ่มบุญ ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตกันก่อน.เริ่มที่ “วัดภูมินทร์” วัดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนี่งของจังหวัดน่าน วัดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่เป็นอาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยรวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ไว้ในอาคารเดียวกัน เป็นการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อทางพุทธศาสนา  ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกัน เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศแล้ว จะเป็นสิริมงคล บุญกุศลจะส่งให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและแคล้วคลาดปลอดภัย ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ซึ่งเป็นภาพของปู่ม่านย่าม่านหรือสามีภรรยาชาวพม่ากำลังกระซิบสนทนากัน นับเป็นจิตรกรรมที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงที่สุดของวัดภูมินทร์ ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรชาวไทลื้อ.ที่ตั้ง : ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เปิดทุกวัน เวลา 08.00-19.00 น.  ถัดไปไม่ไกลเราแวะชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน” ซึ่งเดิมเป็นหอคำ ที่ประทับและออกว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2446 ถ้าเพื่อน ๆ ยังจำได้ เมื่อก่อนตัวอาคารจะเป็นสีขาว มุงด้วยกระเบื้องสีเขียว แต่ภายหลังได้รับการบูรณะใหม่ ให้ใกล้เคียงกับในสมัยก่อนมากที่สุด ซึ่งจะสังเกตได้ว่านอกจากจะทาสีใหม่แล้ว ส่วนประดับตกแต่งอาคารหลายส่วนก็ยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จัดแสดงเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน นอกจากนี้ที่นี่ยังมีมุมยอดฮิตที่ไม่ว่าใครก็ต้องมาแวะถ่ายรูปให้ได้นั่นก็คือ “ซุ้มลีลาวดี” นั่นเอง ซึ่งแอดก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพมาอวดเพื่อน ๆ ด้วย  จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ข้ามถนนมาก็จะเจอกับ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมเรียกว่า “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” เป็นวัดซึ่งเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ  ภายในวัดมีพระวิหารขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน สกุลช่างน่าน  วัดพระธาตุช้างค้ำ ยังมีสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย นั่นก็คือเจดีย์ช้างล้อม มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีช้างปูนปั้นครึ่งตัวประดับอยู่รอบฐาน ซึ่งคำว่า “ช้างค้ำ” ก็หมายถึงการค้ำจุนพุทธศาสนานั่นเอง.ที่ตั้ง : ถนนสุริยพงษ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่านเปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.  วันที่ 2 วันนี้เราจะไปสักการะพระธาตุแช่แห้ง ออกเดินทางไปชมภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัว และไปชมวิวทุ่งนาสีเขียวที่อำเภอปัวกัน “วัดพระธาตุแช่แห้ง” เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นบริเวณศูนย์กลางเมืองน่านเดิม ภายในวัดมีพระธาตุแช่แห้งซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเถาะอีกด้วย เชื่อกันว่าผู้ที่ได้บูชาพระธาตุแช่แห้ง จะได้รับการอุดหนุนค้ำชู มีชื่อเสียง ลาภยศ สรรเสริญ.ที่ตั้ง : ตำบลม่วงตื้ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่านเปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.โทร. 054 601 146  ที่ต่อไปเราไปกันที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา อีกหนึ่งวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว โดดเด่นด้วยวิหารแบบไทลื้อที่ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวนั้น สันนิษฐานว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานก็คือ หนานบัวผัน เจ้าของภาพปู่ม่านย่าม่านอันเลื่องชื่อที่วัดภูมินทร์นั่นเอง นอกจากความสวยงามของวัดและภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังมีเรือนไทลื้ออายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน” บริเวณใต้ถุนบ้านจะมีคุณยายมานั่งปั่นฝ้ายและสาธิตการทอผ้าให้ชม เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น เพื่อน ๆ สามารถมาลองรีดเมล็ดฝ้ายและปั่นฝ้ายได้ด้วยนะคะ มีคุณยายคอยช่วยสอนอยู่อย่างใกล้ชิดเลย.ที่ตั้ง : บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านเปิดทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.  จากวัดหนองบัวเราเดินทางไปต่อกันที่ “ร้านกาแฟบ้านไทลื้อ” ซึ่งบริการทั้งอาหารพื้นเมืองและเครื่องดื่มเย็น ๆ ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดธรรมชาติสุด ๆ เพราะโดยรอบจะเป็นวิวภูเขาและทุ่งนาสีเขียว ถ่ายรูปมุมไหนก็สวย  มีทางเดินไม้ทอดยาวให้เดินเล่นชมวิวได้รอบเลยแนะนำว่าให้มาตอนเช้าหรือไม่ก็ตอนเย็น ๆ เพราะอากาศจะได้ไม่ร้อนเกินไป.ที่ตั้ง : ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เปิดทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น. หากใครแวะมาอำเภอปัวต้องมาลิ้มลองรสชาติเมนูสารพัดเห็ดที่ “ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ” ที่นี่เป็นทั้งฟาร์มเห็ดและร้านอาหาร มีที่นั่งให้เลือก 2 โซน โซนร้านอาหารมี 2 ชั้น จะนั่งชั้นล่างหรือชั้นบนก็บอกเลยว่าวิวสวยไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีโซนที่เป็นห้องส่วนตัวด้วย โดยรอบจะเป็นทุ่งนาสีเขียวมีภูเขาล้อมรอบและยังมีหมอกจาง ๆ เรียกว่าบรรยากาศดี๊ดีเลยละ   นอกจากจะได้ชมวิวสวย ๆ แล้วในเรื่องของอาหารก็ห้ามพลาด เพราะเมนูของที่นี่จะนำเห็ดชนิดต่าง ๆ มาเป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่าเห็ด ยำเห็ด ไข่ป่ามเห็ด เป็นต้น ได้ทั้งความอร่อยแถมยังดีต่อสุขภาพด้วยนะ   ยำเห็ด.ทานอาหารเสร็จเราก็เดินทางไปยังจังหวัดแพร่และพักค้างคืนกัน เพื่อที่พรุ่งนี้จะได้เริ่มเที่ยวตั้งแต่เช้าเลยค่ะ ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำที่ตั้ง : 129 บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่านโทร. 081 005 1533เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.  วันที่ 3 วันสุดท้ายเราเริ่มกันที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง” ที่นี่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมยุโรป มีการประดับส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วยไม้ฉลุงดงาม  ตัวอาคารมี 3 ชั้น โดย 2 ชั้นบนจำลองเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องจัดเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งแต่ละห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ ส่วนชั้นล่างสุดหรือที่เรียกกันว่าชั้นใต้ดินนั้นแบ่งเป็น 3 ห้อง ได้แก่ ห้องขังผู้ที่ถูกจับกุมเพื่อรอการไต่สวนและลงอาญา ห้องบ่าวไพร่ และห้องเก็บของ

เส้นทางท่องเที่ยวน่าน-แพร่ 3 วัน 2 คืน อ่านเพิ่มเติม

วัดนาคูหา แพร่

วัดนาคูหา จุดเช็คอินใหม่ของเมืองแพร่.ที่ตั้ง : บ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมืองแพร่ จ.แพร่พิกัด : https://goo.gl/maps/nhgQFbMqXxW5yXi66 วัดนาคูหา วัดเล็ก ๆ ประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่กลางทุ่งนาล้อมรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ด้วยเพราะมีภูมิประเทศที่สวยงาม ท่ามกลางธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ อีกทั้งระยะทางที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ทำให้ทั้งวัดนาคูหาและบ้านนาคูหา เป็นจุดหมายปลายทางที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว สะพานไม้ไผ่ หรือเรียกตามภาษาพื้นเมืองทางเหนือว่า “ขัวแตะ” เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดนาคูหา ตัวสะพานเริ่มจากลานด้านหน้าองค์พระเจ้าตนหลวงทอดยาวข้ามท้องทุ่งไปยังชายเขาอึกจุดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัด  . การเดินทาง : จากตัวเมืองแพร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (แพร่-น่าน) ผ่านบ้านทุ่งโฮ้ง และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1101 ผ่าน ต.ร่องฟอง จนถึงสามแยก ต.สวนเขื่อน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1024 ตรงไปประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงวัดนาคูหา รวมระยะทางจากตัวเมืองแพร่ 25 กิโลเมตร เอกลักษณ์เด่นของวัดนาคูหา คือ พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางทุ่งนา พระหัตถ์ซ้ายถือลูกสมอ มีความเชื่อกันว่าลูกสมอมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้สารพัด หากขอพรด้วยลูกสมอ (ซึ่งต้นสมอมีขึ้นทั่วไปในหมู่บ้าน) โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ จะได้พรสมดังปรารถนา พระอุโบสถของวัด มีสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายงดงามตามแบบพุทธศิลป์ท้องถิ่น หากมาเที่ยวในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน จะได้สัมผัสบรรยากาศท้องทุ่งนาสีเขียว สูดไอดินเคล้ากลิ่นไอฝน ถ้ามาในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก็จะได้เห็นรวงข้าวสีท้องเต็มท้องทุ่ง พร้อมลมหนาวที่เริ่มพัดมาเยือน ได้บรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ แนะนำให้มาเที่ยวและถ่ายภาพในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น เพราะแสงกำลังสวย และอากาศไม่ร้อนจนเกินไป นอกจากนี้ในหมู่บ้านนาคูหา ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงสาหร่ายน้ำจืด หรือที่เรียกว่า “เตา” ซึ่งต้องเลี้ยงในแหล่งน้ำจืดที่สะอาดและบริสุทธิ์เท่านั้น โดยจะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าของฝากต่าง ๆ เช่น สบู่เตา ข้าวเกรียบเตา กะละแมเตา ฯลฯ กะละแมเตา หนึ่งในของฝากยอดนิยมจากบ้านนาคูหา มีจำหน่ายบริเวณวัดนาคูหาและร้านขายของฝากตลอดแนวถนนในหมู่บ้าน มีโอกาสไปแอ่วเมืองแพร่ครั้งหน้า อย่าลืมแวะไปเที่ยววัดนาคูหาและบ้านนาคูหานะคะ

วัดนาคูหา แพร่ อ่านเพิ่มเติม

Scroll to Top