เพื่อนร่วมทางพา Go Local : แม่กำปอง ลองแล้วจะรัก

Spread the love

เพื่อนร่วมทาง พา Go Local : แม่กำปอง ลองแล้วจะรัก

แม่กำปองเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนหุบเขา ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ สามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี (ภาพนี้ถ่ายจากจุดชมวิวหมู่บ้านแม่กำปอง)

การเดินทาง
– จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1141 ตรงต่อไปยังทางหลวงหมายเลข 1317 จากนั้นวิ่งเข้าทางหลวงหมายเลข 3005 ไปทางตำบลห้วยแก้ว ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จนถึงหมู่บ้านแม่กำปอง ระยะทางรวม 55 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

– จากตัวเมืองเชียงใหม่ ทางฝั่งถนนช้างเผือกและตลาดวโรรส ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด) แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3005 ก็ได้เช่นกัน

ใครๆ ก็มาเที่ยวแม่กำปอง แต่หลายคนมาไม่ถึงที่นี่ “วัดคันธาพฤกษา” (วัดแม่กำปอง) แหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen 

วัดคันธาพฤกษาเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นอยู่ที่อุโบสถซึ่งตั้งอยู่กลางลำธารธรรมชาติของสายน้ำแม่กำปองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน โดยอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นตามดำริของเจ้าอาวาสรูปแรกที่ต้องการให้มีอุโบสถกลางน้ำตามคติของลังกา ซึ่งใช้น้ำเป็นขอบเขตของการทำสังฆกรรมเช่นเดียวกับการปักใบเสมารอบอุโบสถนั่นเอง

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ วิหารที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง แกะสลักลวดลายงดงามตามแบบล้านนา หลังคาวิหารปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำและมอสสีเขียวเต็มไปหมด เนื่องจากสภาพความชื้นและอากาศที่เย็นตลอดทั้งปีของบ้านแม่กำปองนั่นเอง ดูสวยงามและมีมนต์ขลังมากๆ

มาเที่ยวแม่กำปองช่วง Green Season ทั้งที ต้องไม่พลาดมาเล่น มาแช่ และมาถ่ายภาพสวยๆ กันที่ “น้ำตกแม่กำปอง” แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน น้ำตกน้ำจะไหลลงมาเป็นสายต่อเนื่องไปเป็นลำธารให้ชาวบ้านได้ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตรกันด้วย

น้ำตกแม่กำปองมีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกัน แต่น้ำตกชั้นบนๆ มีความลาดชันมากจึงไม่สามารถเล่นน้ำได้ ใครอยากเล่นน้ำชิลล์ๆ แนะนำให้เล่นได้ที่แอ่งน้ำของน้ำตกชั้นล่างๆ เลย บรรยากาศร่มรื่นมาก

บ้านแม่กำปอง มีชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันกว่า 100 ปีแล้ว ส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด เพื่อเข้ามาทำสวนเมี่ยงเป็นอาชีพ 

ใบเมี่ยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่กำปองนั้นแยกออกจากกันไม่ได้จริงๆ เพราะนอกจากการทำสวนเมี่ยงจะเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของที่นี่แล้ว ชาวบ้านก็ยังชอบกินเมี่ยงคู่กับชากาแฟอีกด้วย จนเป็นที่มาของคำว่า “จิบชา ชิมเมี่ยง” ซึ่งชาของบ้านแม่กำปองนั้นจะมีมีรสชาติหวานหอมละมุนลิ้น เมื่อทานคู่กับเมี่ยงหมักจะทำให้กลมกล่อมมากขึ้น

นอกจากนี้คนเก่าคนแก่ของหมู่บ้านยังเล่าให้เราฟังอีกด้วยว่า เมื่อก่อนในบริเวณหมู่บ้านจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลืองแดงขึ้นอยู่ตามริมลำธาร เรียกว่า “ดอกกำปอง” หมู่บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “บ้านแม่กำปอง” ตามชื่อของดอกไม้นั่นเอง

พามาดูผลิตภัณฑ์ของชุมชนกันบ้าง…ที่บ้านแม่กำปองมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กาแฟสดอราบิก้า ชาเขียวใบเมี่ยง สมุนไพรพื้นบ้าน น้ำผึ้งธรรมชาติ เครื่องจักสาน เครื่องเรือนไม้ไผ่ และหมอนสมุนไพรใบชา

แต่ที่แอดภูมิใจนำเสนอก็คือ “หมอนสมุนไพรใบชา”

หมอนสมุนไพรใบชา ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขายดิบขายดี ใครมาก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไปเป็นของฝากกันทั้งนั้น 

หมอนใบชาเกิดจากภูมิปัญญาของกลุ่มแม่บ้านแม่กำปอง ที่นำเอาใบชาแก่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วมาเพิ่มมูลค่า โดยขั้นตอนเริ่มจากนำใบชาแก่มาตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปอบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น และนำมาเย็บใส่เป็นไส้หมอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอนอิง หมอนข้าง หมอนรองคอ หรือเย็บเป็นถุงดับกลิ่นอับชื้นในรถหรือในตู้เสื้อผ้าได้อีกด้วย 

ลักษณะเด่นของหมอนใบชาก็คือจะมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย และทำให้หลับสบายอีกด้วย

Scroll to Top