✨ “เรือหัวโทง” ภูมิปัญญาแดนใต้ ✨

เรือหัวโทง เป็นเรือที่นิยมใช้ในทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรัง สตูล การต่อเรือหัวโทง แรกเริ่มเกิดขึ้นที่ “จังหวัดกระบี่” โดยใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน นอกจากจะใช้ออกหาปลา ก็ยังใช้สัญจรเดินทาง ที่สำคัญ เป็นเรือที่ถูกออกแบบมาอย่างมีเอกลักษณ์ และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เรือหัวโทง เป็นเรือขนาดเล็ก ถูกออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ ด้านหัวที่เป็นที่มาของชื่อเรียก มีลักษณะเชิดสูงขึ้น ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง สามารถฝ่าแรงลมจากคลื่นทะเลฝั่งอันดามันที่มีคลื่นลมแรง ใช้เป็นเข็มทิศในการนำทาง และป้องกันน้ำทะลักเข้าเรือได้

ปัจจุบัน เรือหัวโทงเข้ามามีบทบาทในด้านการท่องเที่ยวด้วย โดยมีการปรับใช้มาเป็นเรือท่องเที่ยว ล่องไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งยังมีการทำ “เรือหัวโทงจำลอง” จำหน่ายเป็นของที่ระลึก โดยกลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพต่อเรือหัวโทง สามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนได้อย่างมากเลยทีเดียว 😮

นอกจากนี้ เรือหัวโทงยังถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ โดยนำเรือหัวโทงมาเพิ่มสีสัน วาดลวดลายต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือสัตว์พื้นถิ่น ปัจจุบันมีเรือหัวโทงกว่า 30 ลำที่ปรับโฉมแล้วและให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ใน 4 ชุมชนของจังหวัดกระบี่ ได้แก่ บ้านเกาะกลาง ชุมชนบ้านแหลมสัก ชุมชนบ้านไหนหนัง และบ้านทุ่งหยีเพ็ง

Scroll to Top
Send this to a friend