เพื่อนร่วมทาง พา Go Local : ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย

Spread the love

เพื่อนร่วมทาง พา Go Local : ชุมชนบ้านนาต้นจั่น สุโขทัย

Go Local กับสายฮิปแบบพวกเรา แน่นอนว่าจักรยานเป็นพร็อพถ่ายรูปที่เก๋ไก๋ และคล่องตัวที่สุดสำหรับการเที่ยวชมวิถีชีวิตในชุมชน

เรื่องเล่า…จากชายผ้าถุง
.
ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ เล่าต่อๆกันมาว่า สมัยก่อนตอนไปทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะนุ่งผ้าถุงและเดินลุยโคลนในท้องนา เมื่อกลับถึงบ้านและซักผ้าตากไว้ ปรากฏว่าชายผ้ามีความนุ่มนิ่มเป็นพิเศษ และมีสีที่ทึมลง ดูแปลกตา ชาวบ้านจึงได้ทดลองเอาผ้าทั้งผืนมาหมักโคลนไว้และพบว่าโคลนนี้เองทำให้ผ้านิ่ม จึงเป็นที่มาของ “ผ้าหมักโคลน” 
.
ส่วนสีสันต่างๆที่เราเห็นบนผ้าหมักโคลน ล้วนแล้วแต่มาจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในชุมชน อย่างเช่น สีเขียวอ่อนจากใบจั่น สีโอลด์โรสจากใบสะเดา สีเหลืองจากแก่นขนุน สีม่วงจากเปลือกมังคุด เป็นต้น

กว่าจะเป็นผ้าหมักโคลนอย่างที่เห็นทุกวันนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความเข้มแข็งของผู้คนในชุมชนบ้านนาต้นจั่น เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มกันทำผ้าหมักโคลน เพื่อหารายได้เป็นกองทุนจากการทำไร่ข้าวโพด จากนั้นก็เริ่มต้นการผลิตแบบจริงจัง พัฒนาและแปรรูปผ้าหมักโคลนในรูปแบบผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน ให้ร่วมสมัย เข้ากับชีวิตประจำวัน จนปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศอิตาลีและอเมริกาด้วย

แน่นอนว่าของดีต้องมีรางวัลการันตี
.
พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลชนะเลิศ PATA Gold Awards 2012 ประเภท Heritage and Culture ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
.
พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี 2556 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าจากหมักโคลน ขอบคุณภายถ่ายจากเฟสบุ๊คเพจ : ผ้าหมักโคลน บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย

ของเล่นสุดฮิปของเด็กๆ บ้านนาต้นจั่น “ตุ๊กตาบาร์โหน”

ของเล่นชิ้นนี้มีวิธีการเล่นไม่ยาก แค่ผู้เล่นบีบปลายด้านล่างของไม้ ตุ๊กตาก็จะโหนแกว่งราวกับคนกำลังโหนบาร์ในท่าทางต่างๆ มันเกิดจากความทรงจำวัยเด็กของคุณตาวงษ์ เสาปั้น ผู้ประดิษฐ์ของเล่นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึก เพราะว่าสมัยเด็กๆคุณตาชอบการโหนบาร์เล่นเป็นอย่างมาก 

อาหารถิ่นชื่อดัง ต้นตำหรับของอร่อยที่ทานได้ที่บ้านนาต้นจั่นที่เดียวเท่านั้น

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นของหายากราคาแพง กว่าจะหาซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ ชาวบ้านต้องขายถั่วขายงา และเดินทางเข้าตัวเมืองไปซื้อ ด้วยความยากลำบากนี้ คุณยายเครื่อง วงศ์สารสิน จึงคิดค้นสูตรที่จะมาใช้แทนเส้นก๋วยเตี๋ยว คือการทดลองนำเอาข้าวเจ้า มาโม่ด้วยโม่หินและกรองด้วยผ้าขาวบางจนเป็นครีมข้าวสีข้น นำมานึ่งเป็นแผ่นบางๆ บนผ้าขาวบางด้วยเตาฟืน คล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ จากนั้นใส่ผักกันตง ผักตำลึง ผัดหวานบ้าน แล้วพับแผ่นแป้งห่อเข้า และนึ่งต่อก่อนจะตักใส่ชามแล้วราดน้ำซุปกระดูกหมูร้อนๆ โปะไข่ดาวนึ่ง…ชนะเลิศ!!

อาหารประจำถิ่นที่แนะนำให้ลองอีกอย่าง “ก๋วยเตี๋ยวแบ” ที่ใช้ครีมข้าวสีขาวข้น เช่นเดียวกับข้าวเปิ๊บ แต่นำไปเกลี่ยเป็นวงกลมและนำไปตากแห้ง จากนั้นนำมาหั่นเป็นเส้นแล้วนำไปนึ่งกับผัก ใส่หมูแดง กระเทียมเจียว แคบหมู พร้อมมะนาวฝานวางเคียง ซดน้ำต้มกระดูกหมูร้อนๆ คล่องคออย่าบอกใคร

ผลไม้ที่บ้านนาตั้นจั้่นก็มีให้เลือกชิมเลือกช็อปอยู่หลายชนิดตามฤดูกาล เช่น กล้วย ลางสาด เงาะ ทุเรียน ฯลฯ

ที่สุดท้ายเราแนะนำที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ จุดชมวิวที่สามารถชมได้ทั้งภายพระอาทิตย์ขึ้นและตก โดยต้องเดินเท้าระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ทางเดินขึ้นค่อนชันต้องเตรียมน้ำดื่มและรองเท้ามาให้พร้อม จุดนี้เหนื่อยหน่อย แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน

Scroll to Top