ปราสาทนครหลวง : พระนครศรีอยุธยา

ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในเขตตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างขึ้น เพื่อประทับพักผ่อนในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี และเป็นที่ประทับแรมในระหว่างทางเสด็จประพาสลพบุรี

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทในกรุงกัมพูชามาสร้างไว้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่มีชัยเหนือกัมพูชา แต่ยังสร้างไม่เสร็จและได้ถูกทิ้งร้างไป

จนกระทั่ง พ.ศ.2352 จึงมีผู้สร้างรอยพระพุทธบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ พร้อมๆ กับการสร้างวัดนครหลวง

ปราสาทนครหลวง เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ สร้างอยู่บนเนินเขาที่เกิดจากการถมดิน ด้านบนสุดเป็นมณฑปที่มีระเบียงคดล้อมรอบ 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา

ระเบียงคดชั้นที่ 1 และ 2 มีปรางค์ประจำมุมและประจำทิศ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่โดยรอบ ที่ผนังของระเบียงคดมีการทำซี่ลูกกรงที่เรียกว่า “ลูกมะหวด” ซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะขอม ลักษณะคล้ายกับที่วัดไชยวัฒนารามซึ่งสร้างในสมัยเดียวกันด้วย

มุมนี้ก็เป็นอีกมุมที่สวยสะกดแอดมากๆ เห็นแบบนี้แล้วอดคิดไม่ได้เลยว่าในอดีตจะสวยงามขนาดไหน

วันที่แอดไปคนค่อนข้างน้อย ซึ่งมีข้อดีคือเราจะได้รูปสวยๆ มุมดีๆ ตามใจเราเลย

เมื่อขึ้นมาถึงด้านบน ก็จะพบกับมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยการรื้ออุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยออก แล้วสร้างใหม่เป็นมณฑปจัตุรมุขอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

จะเห็นได้ว่าสิ่งก่อสร้างบนฐานชั้นบนสุด ไม่ว่าจะเป็นมณฑปหรือระเบียงคดนั้นดูแตกต่างจากส่วนฐานอย่างชัดเจน นั่นก็เพราะเป็นการสร้างเพิ่มเติมในสมัยหลังนั่นเอง

ปราสาทนครหลวง
ที่อยู่ : ริมแม่น้ำป่าสัก ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/LMrVeWFvCXacBJgi9

ก่อนกลับแอดแวะไปชม “ศาลาพระจันทร์ลอย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าก่อนถึงทางขึ้นปราสาทนครหลวง เชื่อกันว่าบริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับแรม

มีลักษณะเป็นอาคารจัตุรมุข ภายในประดิษฐานแผ่นหินพระจันทร์ลอย ซึ่งเป็นแผ่นหินรูปกลมคล้ายพระจันทร์ ด้านหน้าตอนบนแกะสลักภาพพระพุทธรูปนูนต่ำ 3 องค์ ขนาบข้างด้วยเจดีย์

แผ่นหินนี้มีตำนานเล่าขานกันว่า ลอยน้ำมาตามแม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านพยายามนำขึ้นจากน้ำแต่ไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งสมภารวัดเทพจันทร์ผู้มีอาคมได้นำสายสิญจน์ 3 เส้นมาคล้องที่แผ่นหิน จากนั้นจึงนำขึ้นมาได้โดยง่ายดาย และภายหลังได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาพระจันทร์ลอยแห่งนี้

เผยแพร่ใน Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง วันที่ 4 มิถุนายน 2562

Scroll to Top
Send this to a friend