รื่นรมย์บุรีรัมย์ 2 วัน 1 คืน

วันที่ 1
– ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
– เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง
– บุรีรัมย์ คาสเซิล
– วัดป่าเขาน้อย
.
วันที่ 2
– เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
– อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
– ปราสาทหินเมืองต่ำ

วันที่ 1
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
.
เป็นศาลหลักเมืองที่มีความโดดเด่นมาก มองครั้งแรกก็รู้ว่าที่นี่คือบุรีรัมย์ เป็นการออกแบบจากกรมศิลปากรโดยนำปราสาทหินพนมรุ้งมาเป็นต้นแบบ เพื่อเชิดชูเอกลักษณ์ของจังหวัด ศาลหลักเมืองที่เราเห็นปัจจุบันเป็นหลังใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมไป

ภายในประดิษฐานเสาหลักเมืองถึง 2 เสาด้วยกัน สันนิษฐานว่า เสาหลักเมืองต้นด้านหน้า (ต้นที่เอียง) เป็นเสาหลักเมืองต้นแรก ตั้งขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองแปะ ราวสมัยกรุงธนบุรี ส่วนเสาหลักเมืองต้นด้านหลัง เป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อครั้งถูกยกฐานะให้เป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงรัชกาลที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์
.
ทุกวัน จะมีชาวบุรีรัมย์และนักท่องเที่ยวต่างเมืองแวะเวียนมาสักการะบูชาศาลหลักเมืองกันอย่างต่อเนื่อง
.
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์

ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/QsDwU59xTqhHyLXh8

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง
.
จังหวัดบุรีรัมย์ มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว 8 ลูก หนึ่งในนั้นคือ “ภูเขาไฟกระโดง” นี่แหละ
.
ภูเขาไฟกระโดง สูงจากระดับน้ำทะเล 265 เมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว แต่ยังปรากฏปากปล่องภูเขาไฟที่เห็นได้ชัดเจน เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ปัจจุบันมีสภาพเป็นแอ่งน้ำ
.
เดิมเขาลูกนี้ชื่อว่า “พนมกระดอง” คำว่า “พนม” เป็นภาษาเขมร แปลว่า ภูเขา ส่วน “กระดอง” ก็คือ กระดองเต่า รวมแล้วก็แปลว่า ภูเขาที่คล้ายกระดองเต่า หรือ ภูเขากระดอง และเพี้ยนเป็น ภูเขากระโดง ในเวลาต่อมา

บนปากปล่องภูเขาไฟ มีสะพานชื่อว่า “สะพานแขวนลาวา” สามารถไปยืนถ่ายรูปสวย ๆ ด้านบน และยังสามารถชมปากปล่องภูเขาไฟได้อีกด้วย

นอกจากนี้ บนภูเขาไฟกระโดงยังมีความน่าสนใจอื่น ๆอีก อันได้แก่ พระสุภัทรบพิตร ปราสาทเขากระโดง พระพุทธบาทจำลอง ฯลฯ รวมทั้งเป็นจุดชมวิวเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูงที่สวยงามมาก ๆ จุดหนึ่งทีเดียว
.
ภูเขาไฟกระโดง สามารถขึ้นได้ 2 วิธีคือ โดยการเดินขึ้นบันได ที่เรียกว่า “บันไดนาคราช” จำนวน 297 ขั้น หรืออีกหนึ่งวิธีคือนำรถขึ้นไปจอดบริเวณจุดชมวิวด้านบนได้เลย
.
นอกจากนี้ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดงอีกด้วย
.
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง

ที่ตั้ง : ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม
โทร. 044 637 349
https://goo.gl/maps/WeKzup9CEDeq51eG6

บุรีรัมย์ คาสเซิล
.
บุรีรัมย์ คาสเซิล เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด ตั้งอยู่ระหว่าง สนามฟุตบอลช้างอารีนา และสนามแข่งรถช้าง อินเตอร์ เนชั่นแนล เซอร์กิต ภายในเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ ออกแบบโดยอิงรูปแบบจากหมูบ้านที่ตั้งอยู่รายรอบปราสาทหินในอดีต

กลางคอมมูนิตี้มอลล์ มีการสร้างปราสาทหินที่จำลองรูปแบบของปราสาทหินพนมรุ้งมาไว้ด้วย

โดยในช่วงเย็นถึงค่ำ จะมีการเปิดไฟส่องสว่างรอบปราสาท สวยงามมากเลยล่ะ
.
บุรีรัมย์ คาสเซิลแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ฯลฯ รวมทั้งตลาดนัด “อินดี้ มาร์เก็ต” ที่เปิดให้ชิมและช้อปเฉพาะในวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 15.00-21.00 น.
.
บุรีรัมย์ คาสเซิล

ที่ตั้ง : ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-21.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม
โทร. 093 559 5588
พิกัด : https://goo.gl/maps/WeKzup9CEDeq51eG6

วัดป่าเขาน้อย
.
วัดป่าเขาน้อย เป็นวัดป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พัฒนาขึ้นตามปณิธานของพระโพธิธรรมาจารย์เถร หรือหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ อดีตเจ้าอาวาสและวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน
.
เมื่อเข้ามาในบริเวณวัด สิ่งที่สะดุดตาที่สุดก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีสุวจนคุณานุสรณ์ เป็นเจดีย์ที่มีศิลปกรรมโดดเด่น งดงาม ใหญ่โต มีรูปทรงคล้ายปราสาทหิน ที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมของอีสานใต้
.
ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ศรีสุวจนคุณานุสรณ์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิธาตุของหลวงปู่สุวัจน์
.
ในวันสำคัญทางศาสนา และในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ประชาชน และผู้ที่มีจิตศรัทธานิยมเข้ามาบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน บำเพ็ญจิตตภาวนา ภายในวัดแห่งนี้อยู่เสมอ
.
วัดป่าเขาน้อย

ที่ตั้ง : ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/5N8MmZzicDB8sm4o6

วันที่ 2
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
.
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เดิมเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 มีการทำคันกั้น จึงทำให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

จากสภาพพื้นที่ที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีความร่มรื่นสมบูรณ์ ทำให้มีนกหลากหลายสายพันธุ์มาอาศัยอยู่ เช่น นกกระสา นกกระยาง เป็ดน้ำ ฯลฯ

และที่สำคัญคือ ที่นี่ยังเป็นศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยอีกด้วย
.
ในอดีตนกกระเรียนพันธุ์ไทยเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในประเทศไทย ต่อมาทางองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันนำพ่อแม่นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่หายาก มาเพาะในกรงเลี้ยง จากนั้นนำปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยปล่อยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554

จนปัจจุบัน ได้ปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติแล้วนับร้อยตัว จากการเฝ้าติดตาม พบว่าบางส่วนของนกกระเรียนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ รวมทั้งพบว่ามีลูกนกกระเรียนเกิดในธรรมชาติมากกว่าสิบตัว อันเป็นสัญญาณดีที่แสดงให้เห็นว่า นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้หวนคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งหลังจากที่เคยสูญพันธุ์ไปนานกว่า 50 ปีทีเดียว
.
ในบริเวณศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย จะมีจุดดูนก อุปกรณ์ดูนก และเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้ให้บริการ ซึ่งเวลาที่เหมาะกับการไปดูนกก็คือ 06.00 – 09.00 น. และ 15.00-18.00 น.
.
นอกจากนี้ ในทุกวันจะมีผู้คนทั้งจากบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง แวะเวียนมาปั่นจักรยาน เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากอยู่เสมอ
.
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

ที่ตั้ง : ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
โทร. 090 286 8327
พิกัด : https://goo.gl/maps/kCQAa6exrAxhA9F17

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
.
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่มีความงดงามและมีความสำคัญมากอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 350 เมตร

คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาอันกว้างใหญ่” โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทหินพนมรุ้งและยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” ซึ่งเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด
.
ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล และในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน

โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ สันนิษฐานว่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 สร้างด้วยศิลาทรายสีชมพู

ปราสาทประธาน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อเก็จ มีมุขยื่นออกมา 3 ด้าน ภายในมีห้องที่เรียกว่า “ครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์” ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ

มณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานยังมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อันงดงามและโด่งดังอีกด้วย
.
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ที่ตั้ง : ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
โทร. 044 666 251-2
พิกัด : https://goo.gl/maps/yWnKAEJdBiyfH5mA9

ปราสาทหินเมืองต่ำ
.
เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างแต่จากรูปแบบศิลปกรรมที่พบจัดอยู่ในศิลปะขอมแบบบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 และจากการค้นพบศิวลึงค์และประติมากรรมเทวสตรี (พระอุมา) จึงสันนิษฐานได้ว่า ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย

ลักษณะของปราสาทเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหลังกลางซึ่งเป็นปรางค์ประธานพังทลายเหลือเพียงฐาน
.
ส่วนปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้น ยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ

ระหว่างกำแพงชั้นใน และชั้นนอก เป็นลานกว้าง ปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม ขอบสระทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค ซึ่งชูคออยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียร ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ หาชมได้ยากในประเทศไทย
.
ปราสาทหินเมืองต่ำ

ที่ตั้ง : ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
โทร. 044 666 251-2
พิกัด : https://goo.gl/maps/92UhWwjtSuewZT8a9

Scroll to Top
Send this to a friend