ตำนานพญานาคแห่งลุ่มน้ำโขง

ตำนานพญานาคแห่งลุ่มน้ำโขง
.
ความเชื่อเรื่องพญานาคอยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน เห็นได้จากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่กล่าวถึงพญานาค หรือตามวัดวาอารามที่มีรูปปั้นพญานาคปรากฎให้เราเห็น โดยเฉพาะภาคอีสานที่ผูกพันกับพญานาคเป็นอย่างมาก พบเห็นได้ในวิถีชีวิตหลายเรื่อง
.
ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคนั้นมีหลายแง่มุม หนึ่งในแง่มุมที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนคือ ความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียทางตอนใต้ โดยในสมัยที่ยังไม่นับถือศาสนา และภูมิประเทศแถบนั้นเป็นป่ารกทึบ มีสัตว์มีพิษอาศัยอยู่เยอะ ผู้คนเกรงกลัว จึงเกิดลัทธิบูชางูเป็นเทพเจ้าขึ้น
.

ต่อมา ความเชื่อเรื่องพญานาคแผ่ขยายไปในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะภาคอีสานที่อยู่ติดแม่น้ำโขง เชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์กึ่งเทพ มีอิทฤทธิ์มาก เป็นสัญลักษณ์แห่งสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าแม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองมนุษย์และเมืองบาดาลของพญานาค เราจะเห็นได้ว่ามีการสร้างรูปปั้นพญานาคอยู่ริมน้ำโขงหลายแห่ง เช่น รูปปั้นพญาศรีสัตตนาคราช 7 เศียร จังหวัดนครพนม ศาลพ่อปู่พญาอนันตนาคราช ใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จังหวัดมุกดาหาร รูปปั้นพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช ที่แก่งกะเบา จังหวัดมุกดาหาร รูปปั้นนาคชัยยัญ ที่วัดไทย จังหวัดหนองคาย เป็นต้น
.

นอกจากนี้ พญานาคยังเกี่ยวข้องกับการทำนาอีกด้วย ตามตำราโบราณจะกล่าวถึง “นาคให้น้ำ” เพราะเชื่อว่าพญานาคมีอิทฤทธิ์ดลบันดาลให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล จึงนำมาเป็นหน่วยวัดว่าแต่ละปีฝนจะตกมากน้อยแค่ไหน โดยมีนาคให้น้ำ 1 – 7 ตัว บางตำราจะระบุจำนวนนาคให้น้ำตามปีนักษัตรอย่างชัดเจน เช่น ปีฉลู นาคให้น้ำ 5 ตัว ฝนต้น กลาง ปลาย เสมอกัน เป็นต้น นอกจากดูจำนวนนาคให้น้ำแล้ว ก็ยังดูด้วยว่านาคให้น้ำหันหัวไปทางทิศไหน เพราะ เวลาทำพิธีแรกนา จะได้เริ่มไถจากหัวนาคไปถึงหางนาค ไม่ไถทวนเกล็ดพญานาค เพราะเชื่อว่าจะเป็นอัปมงคลนั่นเอง

Scroll to Top
Send this to a friend