✨ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จ.เชียงใหม่ ✨

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536

ที่นี่มีการอนุรักษ์และจัดแสดงเรือนล้านนาให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษากว่า 10 หลัง แถมมียุ้งข้าวอีก 4 หลัง ซึ่งแต่ละหลังมีที่มาและประวัติของตนเอง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนาในอดีต ที่ผ่านการดูแลให้คงสภาพเดิมที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจากที่นี่มีเรือนล้านนาโบราณหลายหลัง แถมแต่ละหลังมีรายละเอียดเยอะมาก แอดเลยขอแนะนำเรือนล้านนาและยุ้งข้าวส่วนหนึ่งให้กับเพื่อน ๆ โดยเริ่มที่

✨ เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) ✨

เรือนหม่อนตุด สร้างขึ้นจากการผสมผสานเรือนแบบไทลื้อผสมไทยวน โดยชาวไทลื้อจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ที่บ้านลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด เมื่อปี พ.ศ. 2460

ปลายปี 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ทราบเรื่องการประกาศขายเรือนหม่อนตุดจาก ทางมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ จึงตัดสินใจซื้อและมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ โดยเป็นเรือนที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้คนทั่วไปได้ศึกษา และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2537 ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกอบพิธีขึ้นเฮือนใหม่ โดยมีเจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวสิบสองปันนา เป็นผู้ทำพิธีเปิดเรือนและอุทิศส่วนกุศลไปให้หม่อนตุดเจ้าของเรือนผู้ล่วงลับ

ตัวเรือนหม่อนตุดเป็นเรือนไม้ขนาดกลางมุงหลังคา “แป้นเกล็ด” ลักษณะเป็น “เรือนสองหลังหน้าเปียง” (เรือนจั่วสองหลังวางต่อกันในระนาบเดียวกัน) ประกอบด้วยเรือน 2 หลังคือ “เฮือนนอน” และ “เฮือนไฟ” ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันทำเป็นรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่อมริน” ล้อมรอบตัวเรือนด้วยเติ๋น

✨ เรือนกาแล (พญาวงศ์) ✨

เรือนพญาวงศ์ เป็นชื่อที่ได้มาจากเจ้าของเรือน กำนันแห่งบ้านสบทา จาก จ.ลำพูน สร้างโดยลูกเขยของพญาวงศ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 แต่หลังจากพญาวงศ์เสียชีวิต ไม่มีผู้สืบทอดและอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ทางเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้าและเจ้าคณะ จึงได้ติดต่อขอซื้อเรือนแล้วทำการรื้อย้ายมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว

ต่อมามีชาวสิงคโปร์ได้ซื้อไว้และภายหลังเสียชีวิตลง มูลนิธิ ดร.วินิจ – คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้มอบเรือนหลังนี้และให้การสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2541

ตัวเรือนพญาวงศ์ เป็นหลังคาทรงจั่วแฝด ยอดจั่วมี “กาแล” เป็นไม้แกะสลักวางไขว้กันอยู่ มี “เติ๋น” (ชานเรือน) อยู่ด้านหน้าของเรือนพร้อมบันไดทางขึ้น ไม่มีหลังคาคลุม มี “เฮือนนอน” 2 หลังคู่กัน

✨ เรือนกาแล(อุ๊ยผัด) ✨

เรือนอุ๊ยผัด เป็นของ อุ๊ยผัด โพธิทา จาก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างในปี พ.ศ. 2456 โดยทาง มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ (มูลนิธิที่สนับสนุนสถาบันการหาความรู้ทางโบราณคดี เกษตรกรรม วัฒนธรรมและศิลปกรรมไทย) และ อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนนี้ จึงนำเรือนนี้มาปลูกไว้ในบริเวณที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2537

ตัวเรือนขนาดกระทัดรัดทำจากไม้ทั้งหลังยกพื้นสูง หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” (กระเบื้องทำจากไม้เนื้อแข็ง) นอกจากเรือนอุ๊ยผัดจะมี “เฮือนนอน” และ “เฮือนไฟ” แล้ว ยังมี “ชานฮ่อม” ที่เป็นเหมือนชั้นไม้สำหรับวางหม้อน้ำอยู่ทางเข้าตัวเรือน ไว้บริการแขกผู้มาเยือนและคนในเรือนอีกด้วย

มาต่อกันที่ยุ้งข้าวกันบ้าง ซึ่งภาคเหนือจะเรียกกันว่า “หลองข้าว” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้กินตลอดทั้งปี อีกทั้งหลองข้าวยังถือเป็นหน้าตาของเจ้าบ้าน ว่ากันว่า หลองข้าวบ้านใครใหญ่ เจ้าของบ้านจะมีฐานะ โดยวันนี้แอดจะพาเพื่อน ๆ มาเริ่มดูกันที่

✨ ยุ้งข้าวป่าซาง(นันทขว้าง) ✨

หลองข้าวขนาดใหญ่ของตระกูลนันทขว้าง เดิมอยู่ในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยมีคุณโสภา เมืองกระจ่าง (นันทขว้าง) เป็นเจ้าของ ต่อมามีการบริจาคให้อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2559

หลองข้าวป่าซาง(นันทขว้าง) สันนิษฐานจากสถาปัตยกรรมว่า สร้างมาแล้วประมาณอายุได้ 150-170 ปี บริเวณเสาช่วงกลางหลองข้าวมีร่องรอยบากไม้ เพื่อนำแผ่นไม้มาใส่กั้นเป็นห้องเก็บข้าว มีการแกะสลักรูปนกยูงหน้าจั่วทั้งสองด้านและดัดแปลงทางขึ้นเพิ่ม โดยการต่อเติมบันไดถาวรขึ้นลงทางด้านหน้า (หลองข้าวดั้งเดิมไม่มีทางขึ้นถาวร ต้องใช้บันไดไม้พาดเพื่อขึ้นลง)

✨ ยุ้งข้าวเปลือย ✨

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยใช้เสาหลองข้าวเก่าและไม้ที่เหลือจากการซ่อมแซมเรือนในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาสร้างตามต้นแบบหลองข้าวทรงแม่ไก่ในบ้าน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ เป็นหลองข้าวขนาดเล็ก มี 6 เสา ต่างจากหลองข้าวทั่วไปที่จะมีอย่างน้อย 8 เสา ใช้เก็บข้าวโดยใส่ข้าวเปลือกไว้ในเสวียน (เครื่องสานขนาดใหญ่ มักทำเป็นทรงกลมไม่มีฝา สานด้วยซีกไม้ไผ่) ที่พอกทับด้วยมูลวัวผสมยางไม้ 

✨ ยุ้งข้าวสารภี ✨

สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 โดยพ่อโต (เศรษฐี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 Professor Dr Hans-Jurgen Langholz และภรรยา Dr. Agnes Langholz ได้ให้การสนับสนุนในการย้ายหลองข้าวหลังนี้มาไว้ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลองข้าวสารภีเป็นอาคารไม้ขนาดกลาง ยกใต้ถุนสูงเพื่อเก็บอุปกรณทางการเกษตร ตัวเรือนตีไม้ปิดทึบเป็นห้องเอาไว้เก็บข้าว ล้อมรอบด้วยระเบียงชั้นนอก มีเสาไม้กลมจำนวน 8 ต้น 

หากสนใจเข้าชม สามารถติดต่อได้ที่อาคารสำนักงานของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทางด้านหน้าได้เลย รับรองการเยี่ยมชมเรือนโบราณล้านนา จะมอบประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้ซึมซับแบบจุใจมากแน่ ๆ

  • ✨ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ✨
  • 📌: 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
  • ⏰: 08.30 – 16.30 น.
  • 📞: 0 5394 3625, 0 5394 3626
  • 💵: เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ฟรี, นักเรียน/นักศึกษา 10 บาท, ผู้ใหญ่ 50 บาท
Scroll to Top
Send this to a friend