✨ อดีต…อุดร ✨

📍 อุดรธานี 📍 เมืองที่ซ่อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลายเอาไว้ในพื้นที่มากมาย เหมือนกับแต่ละสถานที่ในจังหวัดต่อไปนี้ ที่น่าจะช่วยฉายภาพให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และตัวตนของคนอุดรฯ ที่กล่าวได้ว่า มีประวัติศาสตร์เป็นเอกลักษณ์ และน่าเดินทางไปเยี่ยมชมมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย

TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง ร่วมกับ The Cloud นำเสนอคอลัมน์ Take Me Out เที่ยวบ้านเพื่อน รอบนี้พาทัวร์อุดรธานีผ่านกลิ่นอายความเก่าแก่กับ 10 สถานที่ที่เราขอพาเช็กอินให้ชม เที่ยว ช้อปกันแบบจุใจ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่เคยล้ำสมัยที่สุดในโลก ศาลเจ้าสองวัฒนธรรม ไปจนถึงร้านส้มตำเจ้าเด็ด

📌 ใครพร้อมเที่ยวแล้ว เตรียมปักหมุดได้เลย

✳ ตรวจสอบมาตรการการเดินทางเข้าพื้นที่ได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี : https://www.facebook.com/udpho

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีบอกว่า แท้จริง “อุดรธานีไม่เคยมีอยู่”

ที่ตั้งของจังหวัดในปัจจุบันนี้ เป็นถิ่นฐานที่เดิมตั้งบนพื้นที่ชายขอบรกร้าง ในฐานะกองบัญชาการ ‘มณฑลลาวพวน’ หรือ ‘มณฑลฝ่ายเหนือ’ ในช่วงราว พ.ศ. 2436 ภายใต้เหตุพิพาทสำคัญกับฝรั่งเศสในยุคอาณานิคมอย่างเหตุการณ์ ร.ศ.112 มณฑลฝ่ายเหนือนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘มณฑลอุดร’ และเริ่มเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการค้า จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 มณฑลอุดรจึงถูกยกเลิก แล้วยกฐานะเป็น ‘จังหวัดอุดรธานี’

เรื่อยมาจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนมิตรภาพนำความเจริญมาสู่จังหวัดพร้อมสหรัฐอเมริกาและทหาร G.I. ด้วยการเป็นพื้นที่ตั้งฐานทัพโจมตีทางอากาศในสงครามเวียดนาม G.I. ได้เปลี่ยนสภาพสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดไปอย่างมาก จากการทำเกษตรและกิจการขนาดเล็ก ๆ สู่การเกิดขึ้นของโรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง อาบอบนวด และตึกแถวสองข้างทางในตัวเมืองก็อัดแน่นไปด้วยร้านค้าหลากหลาย ทั้งร้านสูท เครื่องประดับ ห้องถ่ายภาพ ร้านเสริมสวย และร้านค้าอื่น ๆ มากมาย

การเติบโตของเมืองจากเหตุความขัดแย้งภายนอกแต่ละครั้ง ประกอบกับการมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้อุดรธานีประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ที่ต่างพกพาประวัติศาสตร์และความเชื่อของตัวเอง ประกอบสร้างเป็นเรื่องราวของจังหวัดจนถึงทุกวันนี้

ถ้าพร้อมแล้วเราจะพาไปย้อนดูอุดรในอดีต ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ ศาลเจ้าจีน ค่ายทหารสงครามเย็น จนถึงร้านอาหาร

1 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

หลักฐานแรกตั้งถิ่นฐานในอุดรธานีที่เป็นมรดกโลก

“ถ้าคนอุดรฯ ไปอยู่ในดงคนอื่น หรือถ้ามีคนนอกถามว่าพูดถึงจังหวัดอุดรฯ ต้องพูดถึงอะไร คนอุดรฯ จะยังคงนึกถึงบ้านเชียงอยู่” กนกวลี สุริยะธรรม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ให้ความคิดเห็นถึงแหล่งอารยธรรมโบราณอายุกว่า 5,000 ปี ในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนคนอุดรฯ สถานที่นี้ถูกขุดค้นเจอเมื่อ พ.ศ. 2517 ในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะได้รับเลือกเป็นมรดกโลกลำดับที่ 359 ใน พ.ศ. 2535

บ้านเชียงได้ถูกพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าชมได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาครอบคลุมเรื่องพัฒนาการทางยุคสมัย วิถีชีวิต การขุดค้น และจัดแสดงโบราณวัตถุ ทั้งเครื่องปั้นดินเผา สำริด เหล็ก รวมถึงโครงกระดูกที่ขุดพบ กับอีกจุดจัดแสดงแหล่งการขุดค้น ณ วัดโพธิ์ศรีที่ตั้งอยู่ห่างไป 900 เมตร

ปัจจุบันนอกจากงานให้บริการพิพิธภัณฑ์ ที่นี่ได้ให้บริการในด้านการวิจัยและงานวิชาการ อย่างการเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ งานสำรวจทำบัญชีโบราณวัตถุในพื้นที่ ให้บริการออกใบอนุญาตส่งโบราณวัตถุ ร่วมจัดงานมรดกโลกซึ่งเป็นงานประจำปีที่จะจัดร่วมกับหน่วยงานรัฐและชุมชน รวมถึงสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการให้การท่องเที่ยวของชุมชน โดยรอบมีโฮมสเตย์ ร้านค้า กลุ่มทอผ้า กลุ่มปั้นหม้อ ซึ่งเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดำเนินสอดคล้องกับเรื่องราวในพื้นที่มาโดยตลอด

2 กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก

ชุมชนตำหูกที่ย้อมสีผ้าด้วยดอกบัว

จากความทรงจำวัยเด็กที่ได้เห็นการทอผ้าใต้ถุนบ้านเป็นภาพชินตา อภิชาติ พลบัวไข ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก หลังจากเรียนจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ต้องการกลับบ้านเกิดมาพัฒนาชุมชนด้วยสิ่งที่เขารักและผูกพันมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อภาพที่จำได้เหล่านั้นกลับหายไปเมื่อเขาเริ่มเติบโตขึ้น

“บ้านโนนกอกเลิกทอผ้ามายี่สิบกว่าปีแล้ว ผมต้องเริ่มจากหาช่างทอลูกหลานที่ยังหลงเหลือ เรามารวมกลุ่มกันทอผ้าแบบโบราณ จากคนเดียวเป็นสอง สาม สี่ ห้า จนปัจจุบันยี่สิบห้าคน รวมถึงเรามีเครือข่ายขยายไปสองร้อยกว่าคนในหมู่บ้านต่าง ๆ”

ผู้ใหญ่บ้านยังเล่าว่า การทอผ้าหรือภาษาอีสานเรียก ‘ตำหูก’ เป็นวิถีชีวิตที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานีที่มีผ้าทอลายขิดเป็นภูมิปัญญาและมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ นอกจากตั้งใจรื้อฟื้นการใช้กี่ทอผ้าแบบโบราณโดยไม่ใช้เครื่องจักร เขายังต้องการสร้างเอกลักษณ์ในด้านสีสันและเรื่องราวของท้องถิ่นให้ฝ้ายและไหมด้วย

เอกลักษณ์ของที่นี่คือการนำส่วนต่าง ๆ ของดอกบัวมาเป็นวัตถุดิบย้อม โดยค้นพบว่า ดอกบัวตากแห้งจะได้สีน้ำตาลทอง สายบัวจะได้สีเทาเงิน กลีบได้สีชมพู จนภายหลังก็ได้พัฒนาเช่นพบว่า เมื่อใช้น้ำปูนกับมะขามเปียกผสมจะได้สีเขียวขี้ม้า หรือที่นิยมมากคือการหมักกับโคลน ที่จะทำให้ย้อมดอกบัวได้สีดำ นำมาซึ่งความแตกต่างของเอกลักษณ์สีธรรมชาติที่ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักไปไกล

3 ส้มตำเบญจางค์

ร้านส้มตำเก่าแก่แห่งบ้านโนน อร่อยมาตั้งแต่รุ่นยาย

ถ้าถามคนอุดรฯ ว่าร้านส้มตำร้านไหนอร่อยที่สุด ว่ากันตามตรงแต่ละคนก็อาจตอบร้านโปรดของตัวเองที่มีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แต่ถ้าถามว่าร้านไหนเปิดมายาวนานที่สุด หนึ่งในนั้นจะต้องมีร้าน ‘ส้มตำเบญจางค์’ หรือบางทีคนท้องถิ่นก็เรียก ‘ส้มตำบ้านโนน’ ร้านส้มตำในซอยแคบเล็กที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย สิริรวมอายุร้านได้นานกว่า 60 ปี

จำรูญ ประมวลทรัพย์ รับช่วงต่อร้านส้มตำจากคุณยาย จำเนียร ประมวลทรัพย์ ในช่วง พ.ศ. 2546 แต่ได้เห็นร้านตั้งแต่ยายยังขายบนทางเกวียน 

“ก่อนหน้านี้คุณยายขายอยู่บนโค้งบ้านโนน ข้างบนนู้นเป็นทางเกวียนนะ พอมีทำถนนก็ย้ายเข้ามาทำกระต๊อบข้างในบ้านตัวเอง เมื่อก่อนเริ่มต้นสองบาทห้าสิบสตางค์ พอแม่เริ่มมาขายก็เริ่มจานละยี่สิบบาทแล้ว”

เจ้าของร้านเล่าว่า ร้านเริ่มขายตั้งแต่ยังไม่มีโต๊ะให้นั่ง จนขยับขยายและพัฒนาร้านมาเรื่อย ๆ แต่ไม่อยากย้ายหรือขยายสาขาไปที่ไหน รวมถึงอาหารก็เช่นกัน จากที่มีแค่ตำลาว ตำปู ตำไทย ก็เพิ่มเมนูตามความนิยมของคนกินที่เปลี่ยนไป อย่างตำป่าที่ใส่หน่อไม้ ผักดอง มะเขือลาย หอยแครง หรือก็มีตำมั่วที่ใส่ขนมจีน แคบหมู หรือตำซั่วที่จะใส่แค่ขนมจีน นอกจากนั้นก็ยังมีตำข้าวโพด ตำกุ้งสด หรือลูกค้าอยากรับประทานตำแบบไหนก็ตำให้ได้ตามสั่ง แต่ทั้งหมดนั้น ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ตามมารับประทานก็เพราะน้ำปลาร้าที่ร้านต้มและปรุงรสจนอร่อยเป็นที่จดจำ 

อาหารที่มีประจำนอกเหนือจากนั้นก็มีปลาเผา ไก่ทอด ซุปหน่อไม้ แต่ไม่รับประกันว่าทุกคนจะได้กินถ้ามาสาย เพราะถึงแม้จะบอกว่าร้านเปิดถึง 4 โมงเย็น แต่ของส่วนใหญ่ในร้านจะเริ่มหมดหลังจากมื้อเที่ยงเป็นต้นไป บางทีเร็วที่สุดถ้าคนมารับประทานมาก อาจได้ปิดร้านก่อนเพราะของจะหมดตั้งแต่บ่าย 2 โมง

  • 📍 32/15 ซอยเบญจางค์ ถนนบ้านโนน ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000
  • 🌐 https://goo.gl/maps/AiL1ZrvmkdFg2k8D9
  • ⏰ วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 16.00 น.
  • 📞 08 1965 1807 

4 บ้านรวีวรรณ

ร้านอาหารในบ้านไม้เก่าอายุกว่า 80 ปีของคุณตา

ในยุคที่ถนนโพศรี ถนนเส้นเศรษฐกิจในใจกลางเมืองอุดรธานียังเป็นลูกรัง วัฒนา ธีระ พรหมสาขา ณ สกลนคร สรรพากรจังหวัดในขณะนั้น ตัดสินใจซื้อที่ดินและปลูกบ้านไม้ 2 ชั้นริมถนน จากนั้นตั้งชื่อและติดป้ายหน้าบ้านว่า ‘บ้านรวีวรรณ’ ตามชื่อลูกสาวของตัวเอง

อภิฌาน กาญจนวาปสถิตย์ หลานตาที่เคยได้อาศัยบ้านตั้งแต่สมัยเด็ก พบว่าบ้านไม้ของครอบครัวทรุดโทรมลงอย่างมาก หลังจากที่ปล่อยให้ผู้อื่นเช่ามาเป็นเวลานานหลายสิบปี 

“ถ้าเราไม่อนุรักษ์มันพังแน่ ๆ ตอนเราเข้ามาดู มันเศร้านะ มันเอียง มันโทรมได้ขนาดนี้เลยหรือ คุณแม่เองตอนแรก ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามาเพราะมันโทรมมาก พอเรากลับมาทำให้มันดีเหมือนเดิม คุณแม่แกก็ได้มาบ่อย ๆ เลย”

อภิฌานกับภรรยา นันทิสาม์ กาญจนวาปสถิตย์ ฟื้นฟูบ้านเก่าอายุกว่า 80 ปีเป็นร้านอาหาร ตั้งชื่อตามคุณแม่และชื่อบ้านเดิมที่คุณตาตั้งไว้ โดยดีดบ้านให้โปร่งโล่ง สร้างธุรกิจเป็นร้านอาหารไทยให้คนที่ผ่านไปมาได้มาสัมผัสบรรยากาศเก่าแก่ และอบอุ่นเหมือนได้รับประทานอาหารในบ้าน 

เมนูโดดเด่นของที่นี่เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกวัน อย่างข้าวคลุกกะปิ ผัดไทย ยำวุ้นเส้นโบราณ รวมถึงขนมจีนเส้นสดทำเอง แต่ที่สำคัญคือการใช้วัตถุดิบผักสวนครัวจากสวนที่ปลูกเองด้านหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นขิง ข่า มะเขือ ใบเตย ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กล้วย รวมถึงอัญชันที่กลายเป็นเมนูเครื่องดื่มประจำของร้านด้วย

5 อุ่นจิต

ร้านสุกี้ ข้าวมันไก่ และหมูสะเต๊ะ ที่เติบโตจากร้านหาบเร่ของอากง

“เราเป็นรุ่นที่สามที่เข้ามาดูแลค่ะ รุ่นแรกคืออากง อาเหล่าม่าหรือย่าทวดเป็นคนจีนรุ่นอพยพ อากงน่าจะเกิดที่ประเทศไทย แต่ย้ายมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มจากหาบหมูสะเต๊ะขายในจังหวัดอุดรฯ ก่อน แล้วก็เก็บเงินเช่าห้องเพื่อทำอาหารขาย เริ่มแรกก็ขายหมูสะเต๊ะก่อน ต่อมาพัฒนาคิดสูตรน้ำจิ้มสุกี้ แล้วก็เริ่มมาเป็นการเพิ่มข้าวมันไก่”

ณัฐนรี โชคสวัสดิ์ สมาชิกรุ่นที่ 3 ของร้านอุ่นจิต เป็นผู้ดูแลร้านอาหารเก่าแก่ของจังหวัดที่อากง สุนทร โชคสวัสดิ์ เป็นคนริเริ่มไว้ โดย สุวิทย์ และ คะนึงนิจ โชคสวัสดิ์ ผู้เป็นพ่อและแม่เป็นรุ่นที่ 2 เจ้าของร้านคนปัจจุบันเล่าว่า หากรวมยุคที่อากงยังแบกหาบเร่ขายอาหารด้วยแล้ว ความเป็นมาของร้านก็นานร่วม 80 ปีเลยทีเดียว 

ร้านอุ่นจิตเป็นร้านอาหารในห้องแถว 2 ห้อง ที่ขยับขยายมายังตำแหน่งปัจจุบันใน พ.ศ. 2530 โดยอาหารมีน้อยรายการ ได้แก่ สุกี้แห้งและน้ำ ข้าวมันไก่ และหมูสะเต๊ะ ทั้งหมดเป็นการคงสูตรตกทอดจากคนรุ่นปู่ โดยเฉพาะน้ำจิ้มสุกี้ที่ใช้เต้าหู้ยี้สูตรโบราณที่ร้านภูมิใจเสนอ โดยเมนูที่เพิ่งมีใหม่พร้อมกับการขยับขยายร้านคือผัดเนื้อน้ำมันหอย อร่อยด้วยเนื้อหมักสูตรลับของร้าน ตำรับเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเจ้าของร้านรู้สึกว่าหารับประทานไม่ได้ในที่อื่น ใครมากินก็จะจดจำได้ และควรค่าแก่การสืบทอดต่อไป 

“เราอยากดูแลไว้ให้มันอยู่คู่อุดรฯ ไป ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีที่ไหนทำเหมือนเรา เราอยากดูแลสิ่งที่พ่อกับแม่สร้างมาไม่ให้หายไป”

6 ศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี และศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี

สถานที่รวมศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัด

ไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่าศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ถูกสร้างขึ้นเมื่อใดหรือโดยใคร มีแต่เพียงคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อราว พ.ศ. 2488 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้อัญเชิญผงธูป หรือ ‘ผงอิทธิเจ’ อันเป็นผงมงคลมาจากองค์เทพเจ้าปู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เขาภูพาน มุ่งหน้าทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี นำมาประทับที่ศาลาไม้สี่เสาหลังเล็ก ๆ ริมหนองบัว พร้อมวางกระถางธูปยาว จากนั้นชาวจีนในจังหวัดต่างก็ได้มากราบไหว้ขอพร จนเกิดพลังศรัทธา บูรณะและพัฒนาศาลเจ้าต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านคณะกรรมการศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ที่ปัจจุบันสืบสานต่อเนื่องมาเป็นสมัยที่ 71 แล้ว 

“จริงๆ เวลามีปัญหากับตัวเอง ทั้งเรื่องชีวิต เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องธุรกิจ ทุกครั้งเฮียจะมาเสี่ยงเซียมซีถาม ทุกครั้งที่มีปัญหา เฮียจะมานั่งที่นี่ มาสงบจิตสงบใจ เพื่อคิดแล้วก็ถาม เพราะเรารู้สึกว่าอากง
อาม่าให้คำตอบเราได้”

ปิติ ธรณนิธิกุล หนึ่งในคณะกรรมการฯ สมัยที่ 71 กล่าวถึงความศรัทธาที่ตนมีต่อสถานที่แห่งนี้ รวมถึงเล่าว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าปู่เจ้าย่านั้นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่รวมศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดข้างเคียง รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

หลัก ๆ แล้วในแต่ละปี คณะกรรมการฯ จะสืบสานประเพณีด้วยการจัดงานไหว้ประจำปี หลายงานในปัจจุบันใหญ่โตจนกลายเป็นงานประเพณีของเมือง นอกจากนั้น ใน พ.ศ. 2551 คณะกรรมการฯ ได้ก่อตั้งมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อบริหารเงินบริจาคที่ได้มาให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งมีสวนและพื้นที่หย่อนใจ มีพิพิธภัณฑ์ ร้านค้า และร้านน้ำชา ที่มีสาธิตการชงชาแบบดั้งเดิมให้คนทั่วไปได้สัมผัส เหมือนที่ ณาศิส ช้างสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิฯ เล่าว่า

“เราทำที่นี่ขึ้นมาโดยคิดถึงการคืนสู่สังคม เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ คนอุดรฯ มายังไง คนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาสร้างตัวจนมีฐานะในปัจจุบันได้อย่างไร องค์เจ้าปู่เจ้าย่าที่ทุกคนกราบไหว้มีประวัติเป็นมาอย่างไร ประเพณีจีนที่เราทำกัน ทำเพื่ออะไร กุศโลบายคืออะไร แล้วเราจะเชื่อมต่อความเป็นไทยเชื้อสายจีนกับโลกข้างนอกอย่างไร”

7 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร

พิพิธภัณฑ์จากค่ายทหารอเมริกันยุคสงครามเย็น

ประมาณการว่ามีทหารอเมริกันราว 8,000 นาย หมุนเวียนมาประจำการที่จังหวัดอุดรธานีในช่วง พ.ศ. 2507 – 2519 เมื่อรัฐบาลไทยอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้ามาประจำการในช่วงสงครามเวียดนาม และใช้ฐานบินที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ 7 แห่ง คือ อู่ตะเภา (ชลบุรี) ตาคลี (นครสวรรค์) นครพนม น้ำพอง (ขอนแก่น) อุบลราชธานี นครราชสีมา รวมถึงอุดรธานีก็เป็นหนึ่งในนั้น 

นอกจากฐานบินในจังหวัดอุดรธานี ยังมีฐานทัพอีกแห่งคือ ‘ค่ายรามสูร’ หรือ Ramasun Station 7th RRFS (7th Radio Research Field Station) ฐานทัพตรวจจับสัญญาณวิทยุ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 16 กิโลเมตร ตั้งชื่อตามยักษ์ในวรรณคดี รามเกียรติ์ ที่มีฤทธิ์เดชขว้างขวานแล้วทำให้เกิดฟ้าแลบฟ้าร้อง เปรียบอานุภาพการส่งสัญญาณออกไปได้ไกลถึง 5,000 กิโลเมตรของที่นี่ ซึ่งว่ากันว่าเคยใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสถานที่หวงห้ามขั้นสุดยอด และมีบันทึกไว้ว่า มีเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง เป็นรองเพียงฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองเอาก์สบวร์ก ประเทศเยอรมนีในตอนนั้นเท่านั้น

ภายหลังเมื่อกองทัพไทยได้เข้ามาใช้ค่ายฯ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา จนกระทั่ง พ.ศ. 2561 ค่ายฯ ได้ดำเนินตามนโยบายการปรับค่ายทหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เปลี่ยนซากสถานีรับสัญญาณและเสาสัญญาณเก่าเป็น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร 

ค่ายทหารแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 800 ไร่ ปรับใช้แสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เพียงบางส่วน คือ ส่วนอาคารต้อนรับด้านหน้า ส่วนบริเวณวงล้อมเสาสัญญาณเก่าที่เดิมมี 240 ต้น ปรับปรุงอาคารควบคุมเสาสัญญาณรูปทรงวงกลมตรงใจกลาง เป็นที่แสดงภาพถ่ายวิถีชีวิตของทหารอเมริกันในอดีต โดยภายในอาคารนี้ยังมีอุโมงค์ยาว 350 เมตร เดิมใช้ส่งอุปกรณ์บำรุงรักษาใต้ดิน เปิดให้เดินชมเชื่อมต่อไปยังอาคารบัญชาการขนาดใหญ่ที่เหลือเพียงซาก หลังจากสหรัฐฯ ระเบิดค่ายตัวเองเพื่อทำลายข้อมูลสำคัญ ก่อนถอนทหารบินกลับบ้านในช่วงกลาง พ.ศ. 2519

  • 📍 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา (ค่ายรามสูร) หมู่บ้านโนนสูง ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41330
  • 🌐 https://goo.gl/maps/opNGJW8HQR8KJMob9
  • ⏰ วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน 08.30 – 16.30 น.
  • 📞 0 4211 1618
  • 📱 Facebook : Ramasun Historical Museum

8 มาดามพาเท่ห์

ร้านอาหารสไตล์อินโดไชน่าของมาดามหมุ่ย

“คุณแม่อยากจะเกษียณจากอาชีพบริษัทก่อสร้าง แต่แกไม่อยากอยู่เฉย ๆ เรามีห้องห้องหนึ่งตรงนี้ที่ว่างอยู่ เมื่อสามสิบ สี่สิบปีที่แล้วเป็นโรงแรมของเราเอง ชื่อโรงแรมแสนสุข ก็เลยตั้งใจว่าจะเปิดเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ ให้แกได้นั่งคุยกับเพื่อนตอนเช้า”

ชุติปภา สุรภาพวงศ์ หรือ มาดามเหมย ผู้สร้างร้านมาดามพาเท่ห์ให้กับคุณแม่ สมบูรณ์ คำจันทร์ หรือ มาดามหมุ่ย เล่าให้ฟังว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวชีวิตของคุณแม่ หญิงสาวเชื้อสายจีนผู้มีสัญชาติเกิดเป็นคนไทย แต่ไปโตที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว อีกทั้งเป็นผู้ที่ได้ใช้ชีวิตเดินทางมาแล้วทั่วโลก มาดามหมุ่ยจึงมีรสมือการทำอาหารที่แตกต่าง ด้วยการผสมผสานวัตถุดิบและการทำจากวัฒนธรรมต่าง ๆ จนลูกสาวอดเก็บไว้รับประทานเองคนเดียวคงไม่ได้ 

มาดามพาเท่ห์ เดิมชื่อร้าน คอฟฟี่ ปัตเต้ เป็นร้านกาแฟเน้นขายอาหารเช้าในมุมเล็ก ๆ ของซอยตำรวจ ต่อมาเมื่อเอกลักษณ์รสชาติอาหารของมาดามหมุ่ยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงมีผู้เดินทางตามมารับประทานมากจนที่นั่งไม่พอรองรับ เป็นไอเดียของการต่อยอดร้านสู่การเน้นให้บริการอาหารเต็มรูปแบบ และต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

“พ.ศ. 2515 คือปีที่เราเกิด แต่อีกนัยหนึ่ง มันคือปีที่วัฒนธรรมของอุดรฯ มีเสน่ห์มาก เป็นช่วงที่ทหาร G.I. ยังอยู่ในจังหวัด มีคนลาวอพยพ คนเวียดนามอพยพ คนจีนบุกเบิก แล้วมันก็เหมาะกับเมนูที่แม่คิด เพราะมันก็หลายชาติรวมกัน” 

สาขาที่ 2 ของที่นี่จึงได้ชื่อว่า ‘มาดามพาเท่ห์2515’ ตั้งอยู่ใกล้โซนท่องเที่ยวในเมืองอย่างสถานีรถไฟ และขยายพื้นที่ให้รองรับคนเป็นหมู่คณะได้ รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารต่อจากสาขาแรกด้วย 

ที่นี่มีเมนูซิกเนเจอร์ ได้แก่ สามสหาย คือ ขนมปังครัวซองต์ไส้ทูน่า ขนมปังฝรั่งเศสไส้ปัตเต้ (ตับบด) โรตีไส้ปูอัด ข้าวต้มเห็ดชาจีน และเฝอเนื้อหรือหมู พัฒนาโดยจัดอาหารเป็นชุด เพิ่มเมนูอย่างสลัดหลวงพระบางน้ำมะขาม ไข่กระทะฮอยอัน สตูว์ซี่โครงหมู รวมถึงชุดอาหารอีสานข้าวงาย ที่แปลว่าอาหารเช้า ประกอบด้วย ข้าวเหนียว หมกหน่อไม้ ตำมะกอก อ่อมเนื้อ หมูแดดเดียว ทั้งหมดเน้นความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย ลาว จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส ให้สมกับสไตล์อาหารอินโดไชน่าที่เป็นจุดเด่นของที่นี่

  • 📍 มาดามพาเท่ห์ เลขที่ 34/1-3 ถนนตำรวจ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000
  • 🌐 https://goo.gl/maps/fkQtuvH8tdMJ6i2k8
  • 📍 มาดามพาเท่ห์ 2515 เลขที่ 304/24 ถนนประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000
  • 🌐 https://goo.gl/maps/sSTTyCyBGU38ANXZ8
  • ⏰ วัน-เวลาทำการ : มาดามพาเท่ห์ วันจันทร์–วันเสาร์ 06.30 – 14.30 น. (ปิดวันอาทิตย์)
  • มาดามพาเท่ห์2515 วันอังคาร–วันอาทิตย์ 07.30 – 15.30 น. (ปิดวันจันทร์)
  • 📞 มาดามพาเท่ห์ โทร. 0 4224 1991 / มาดามพาเท่ห์2515 โทร. 0 4211 9669
  • 📱 Facebook : มาดามพาเท่ห์2515 Madam Pahtehh 2515

9 แม่หยา

ร้านอาหารที่รักในความทรงจำของคนรุ่นพ่อแม่

สำหรับวัยรุ่นยุค 80 หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ‘ศาลาโฟร์โมสต์’ ร้านไอศกรีมยอดนิยมที่มีสาขามากทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานีที่บริเวณใกล้โรงภาพยนตร์เก่า อัมพรเดอะลุกซ์ (หรือที่คนท้องถิ่นเรียกโรงหนังอัมพร) ก็เคยมีสาขาหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 ก่อนที่ 10 ปีต่อมาผู้เป็นเจ้าของจะขยับขยายกิจการของตัวเองมาเป็นร้านอาหาร เพื่อให้บริการได้หลากหลายขึ้นในชื่อ
แม่หยา 

“ถ้าเกิดเราคุยกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา เขาจะบอกว่า เมื่อก่อนถ้าจะจีบกัน หรือจะหาแฟนน่ะ ต้องมาหาที่ตรงนี้” ธรากร เพชรพนมพร ทายาทรุ่นสองของร้านอาหารเก่าแก่เล่าถึงแง่มุมน่ารักของร้านอาหารที่เติบโตมาคู่กับเขา

“มีเพื่อนผมคนหนึ่ง พ่อแม่เขาขอแต่งงานที่นี่ พอมาถึงพี่สาว เขาก็มาขอแต่งงานที่นี่ พอมาถึงน้องสาวของเขาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนกับว่า ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจนรุ่นเด็ก ก็ยังมาที่ตรงนี้เหมือนกันทุกรุ่น” 

นอกจากการตกแต่งร้านให้บรรยากาศดีไม่เหมือนที่ไหน อาหารเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ที่นี่มีคนจากทุกรุ่นแวะเวียนมาเสมอ ๆ โดยแม่หยานั้นขึ้นชื่อว่าเป็นร้านที่มีเมนูอาหารเยอะและหลากหลายมาก ซึ่งผสมผสานทั้งไทย จีน ตะวันตก อย่างเมนูซิกเนเจอร์ เช่น ยำปลาช่อนทอดกรอบ ห่อหมกทะเลมะพร้าวอ่อน หรือแกงส้มกุ้งไข่ชะอม โดยเป็นภารกิจของเจ้าของร้าน ซึ่งต้องการคงทั้งรสชาติและบรรยากาศของร้านไว้ดังที่เขากล่าวว่า

“เมื่อก่อนเราได้ลูกค้าเป็นวัยรุ่นในยุคนั้น พอมาวันหนึ่งเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นกลุ่มครอบครัว พาลูกพาหลานมากิน หรือเวลาเราคุยกับคนเฒ่าคนแก่ เขาจะบอกว่า มาถึงที่ร้านเขาก็จะนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ บางคนก็บอกว่าเคยนั่งที่โต๊ะนี้ อาหารเมนูนี้ รสชาติก็อร่อยเหมือนเดิม เราว่ามันเป็นเสน่ห์ของร้านเก่าแก่ที่หาที่อื่นไม่ได้เหมือนกัน

  • 📍 79 – 81 ถนนราชพัสดุ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000
  • 🌐 https://g.page/Maeyaudon?share
  • ⏰ วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน 10.00 – 22.00 น.
  • 📞 0 4222 1590 / 0 4222 3889
  • 📱 Facebook : ร้านแม่หยา

10 พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์ความเป็นมาจังหวัด ในอาคารโรงเรียนสตรียุค ร.6

‘สตรีราชินูทิศ’ เกิดขึ้นด้วยการเป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร ตามพระราชดำริที่ทรงต้องการยกระดับบทบาทของสตรีในสยาม รวมถึงทรงต้องการพัฒนาบ้านเมืองผ่านการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 แม้ว่าพระองค์จะสวรรคตเสียก่อน แต่ผู้สำเร็จราชการและประชาชนในเวลานั้นได้ร่วมบริจาคสร้างอาคาร และรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติม รวมถึงได้พระราชทานชื่อโรงเรียน จนการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ใน พ.ศ. 2468 

พิษณุ เคนถาวร ผู้ช่วยภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีเล่าว่า อาคารเรียนในสถาปัตยกรรมโคโลเนียลนี้ไม่ได้ถูกใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ยาวนานจนถึง พ.ศ. 2547 จึงถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2561 พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีได้ถูกบูรณะครั้งใหญ่ ปรับพื้นที่ภายในใหม่ทั้งหมดเป็นพิพิธภัณฑ์เล่าความเป็นมาของเมือง รวมถึงสร้างอาคารใหม่ข้างเคียงล้อไปกับอาคารเก่า เป็นอาคารอเนกประสงค์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัด 

นิทรรศการภายในมีทั้งหมด 2 ชั้น ใช้วิธีเล่าเรื่องที่หลากหลาย และครอบคลุมตั้งแต่แผ่นดินอีสานในยุคไดโนเสาร์ การตั้งถิ่นฐานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาถึงการกำเนิดเมือง เรื่อง พลตรี พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พ่อเมืองคนแรก จนถึงร่องรอยของสงครามเย็น และปิดท้ายด้วยห้องรวบรวมบุคคลสำคัญในจังหวัด 

นอกจากการเปิดพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ผู้ดูแลสถานที่แห่งนี้ยังกล่าวว่า ภูมิทัศน์โดยรอบพิพิธภัณฑ์ยินดีให้ประชาชนมาใช้เป็นที่หย่อนใจและสวนสาธารณะได้ และยังเคยถูกใช้เป็นที่จัด กิจกรรมด้านวัฒนธรรม ดังที่เขาเล่าว่า

“ในอนาคตเราอยากให้เป็นลานวัฒนธรรม ซึ่งเรามีโครงการจะทำเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลงที่หายไปนานแล้ว อาจจะให้ชุมชนมาเปิดร้านขายของ ขายอาหาร แล้วก็ให้คนมาเที่ยวชมใน โอกาสต่าง ๆ ได้ด้วย”

  • 📍 อาคารราชินูทิศ (ริมหนองประจักษ์) ถนนโพศรี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000
  • 🌐 https://goo.gl/maps/TCbW2YLPt8VHiVkW6
  • ⏰ วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร–วันอาทิตย์ 08.30 – 16.30 น. (ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • 📞 0 4224 5976
  • 📱 Facebook : พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

……………………………………

สามารถอ่านทาง Facebook ได้ที่ : https://web.facebook.com/TATContactcenter/posts/6010241369047893

Scroll to Top
Send this to a friend