ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม

เพื่อนร่วมทาง พา Go Local : ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม

มาบ้านน้ำเชี่ยว ต้องเที่ยวป่าชายเลน
.
ล่องเรือจากคลองน้ำเชี่ยวออกไปไม่ไกล จะเป็นพื้นที่ป่ากันชน หรือป่าชายเลน แหล่งที่เปรียบเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชน ที่นี่มีทั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยมีไกด์ท้องถิ่นของชุมชนเป็นผู้ช่วย 
.
นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของบ้านน้ำเชี่ยว ก็คือการดูนก ที่นี่มีหอดูนก เพื่อเฝ้าดูนกชายเลน นกน้ำ และนกอพยพหนีหนาวกว่า 30 ชนิด

อยากเที่ยวไทยแบบเท่ๆ ก็ต้องลงให้ลึก ไปสัมผัสของจริง

ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงที่สุดของบ้านน้ำเชี่ยว ต้องยกให้กับภูมิปัญญาการทำหมวกจากใบจาก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “งอบ” นั่นเอง

แต่เดิมวัฒนธรรมของคนจีนมีการทำหมวกสานจากไม้ไผ่ พอเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ได้ประยุกต์นำใบจาก ที่หาได้ง่ายในบริเวณชุมชน มาใช้แทนไม้ไผ่ในการสานหมวก ซึ่งใบจากนั้นมีคุณสมบัติที่ดีและเหมาะที่จะใช้งาน เนื่องจากแข็งแรง ทนทาน ทนแดดทนฝน และไม่ขึ้นราอีกด้วย

ปัจจุบันงอบถือเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชน และจังหวัดตราดเป็นอย่างมาก

งอบของบ้านน้ำเชี่ยวมีหลายแบบหลากรูปทรง โดยแต่ละรูปทรงก็มีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน
.
– ทรงกระดองเต่า : เป็นงอบทรงสี่เหลี่ยมเว้าด้านหน้า เหมาะสำหรับใส่ทำนา เพราะเวลาฝนตกน้ำจะไหลลงบริเวณปลายเหลี่ยมลงสู่ท้องนา และก็เวลาดำนาเรียงเป็นแถวหน้ากระดาน ขอบหมวกของชาวนาแต่ละคนก็จะไม่ชนกัน
.
– ทรงกระโหลก หรือทรงหมวกทหาร : เหมาะสำหรับชาวประมงออกทะเล เพราะทรงนี้ไม่มีปีกกว้างที่ต้านลม แต่จะมีเพียงปีกเล็กๆด้านหน้าสำหรับกันแดดแยงตา ที่สำคัญเวลาน้ำเข้าเรือยังสามารถใช้วิดน้ำออกได้อีกด้วย
.
– ทรงสมเด็จ ทรงยอดแหลม และทรงกระทะคว่ำ : เหมาะสำหรับชาวสวน เป็นหมวกปีกกว้างทรงกลมมีรอยหยักแต่ยอดไม่แหลม ช่วยกันแดดกันฝน และกันกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากงอบหรือหมวกแล้ว คนรุ่นใหม่ในชุมชนยังได้พัฒนาและต่อยอดสินค้า โดยแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตระกร้า กระชังจับปลา ถาดใส่ของ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถใช้งานได้จริง และมีความทันสมัยมากขึ้ันอีกด้วย

Scroll to Top
Send this to a friend