✨ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ✨

Spread the love

ต้อนรับศักราชใหม่ด้วยการพาเพื่อน ๆ ไปสักการะ #ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ เพื่อน ๆ ที่เคยไปวัดพระแก้วอาจจะเคยเห็นศาลหลักเมืองนี้มาบ้างแล้วเพราะตั้งอยู่เยื้อง ๆ กัน ตามความเชื่อว่าหากมาสักการะศาลหลักเมืองจะเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมมีเสาหลักเมืองถึงสองต้น ภายในศาลหลักเมืองมีอะไรบ้าง จึงถือโอกาสในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้พาเพื่อน ๆ มาสักการะศาลหลักเมืองและหาคำตอบไปพร้อมกัน เพื่อน ๆ สายมูห้ามพลาดเลยล่ะ 😀

การแต่งกาย ควรแต่งกายให้สุภาพไม่สวมกระโปรงสั้นหรือกางเกงขาสั้นและไม่สวมเสื้อแขนกุดเข้าสักการะศาลหลักเมือง

  • 📍ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
    • เลขที่ 2 ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง
    • เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
    • ⏰ เปิดเวลา 06.30-18.00 น.
    • ☎️ 02 222 9876 ต่อ 116

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นมาพร้อมการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามความเชื่อของพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนจะสร้างเมืองใหม่จำเป็นจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325

รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นโดยเสานี้เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทร์ประกับนอก ยอดเสาเป็นรูปบัวตูม โดยเลือกที่ตั้งเป็นใจกลางพระนคร (ในขณะนั้น) เนื่องจากเชื่อว่าเป็นที่ที่มีชัยภูมิที่ดี จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสาหลักเมืองได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์

จากนั้นได้อัญเชิญหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่มาประดิษฐานคู่กัน ภายในศาลหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารจตุรมุขยอดปรางค์ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากศาลพระกาฬ จ.พระนครศรีอยุธยา

และในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยการสร้างเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่โดยยึดตามรูปแบบเดิมจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ มีเสาหลักเมือง 2 ต้น นั่นเอง และมีการสร้างศาลเทพารักษ์ รวมทั้งอาคารต่างๆ เพิ่มเติมด้วย

เพื่อน ๆ สามารถซื้อชุดสักการะได้ภายในศาลโดยในชุดจะประกอบไปด้วย ผ้าแพร พวงมาลัย น้ำมันตะเกียง ธูป เทียน ทองคำเปลว และดอกบัว โดยขั้นตอนการสักการะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรบ้างนั้นไปดูพร้อมกันเลย

📌 จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป จะอยู่ในสุดของศาลหลักเมืองนำดอกบัวมาสักการะพระพุทธรูปที่จุดนี้โดยไม่ต้องจุดธูปและเทียนนะคะ

ในจุดที่ 1 ยังมีการยกพระเสี่ยงทายอีกด้วย โดยวิธีการเสี่ยงทาย ยกครั้งที่ 1 ให้อธิษฐานหากเรื่องที่อธิษฐานสำเร็จขอให้ยกพระขึ้น ยกครั้งที่ 2 ให้อธิษฐานเรื่องเดิมและขอให้ยกองค์พระไม่ขึ้น

📌 จุดที่ 2 องค์พระหลักเมืองจำลอง จะอยู่ด้านหน้าของหอพระพุทธรูป จุดธูปและเทียนเพื่อสักการะ ปิดทองคำเปลวพระพุทธรูป เสร็จแล้วนำผ้าแพรสามสีที่ได้มาผูกกับองค์หลักเมืองจำลอง

📌 จุดที่ 3 อาคารศาลหลักเมือง อาคารนี้จะเป็นอาคารจตุรมุขยอดปรางค์ นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง องค์ที่สูงกว่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และอีกองค์คือเสาหลักเมืองปัจจุบันที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

📌 จุดที่ 4 ศาลเทพารักษ์ ตั้งอยู่ทางซ้ายของอาคารศาลหลักเมือง เป็นที่ประดิษฐาน องค์เทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่

องค์ที่ 1 พระเสื้อเมือง ผู้ปกป้องคุ้มครองให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขแคล้วคลาดจากศัตรูผู้รุกราน

องค์ที่ 2 พระทรงเมือง ผู้กับกับดูแลปกครองกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน

องค์ที่ 3 พระกาฬไชยศรี ผู้ยับยั้งการทำความชั่ว โดยจะขี่นกแสกคอยสอดส่องดูแลความสงบของบ้านเมือง

องค์ที่ 4 เจ้าเจตคุปต์ ผู้จดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษย์

องค์ที่ 5 เจ้าหอกลอง ผู้สอดส่องดูแลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน คอยปกป้องคุ้มครองเมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้าย

📌จุดที่ 5 เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดและสะเดาะเคราะห์ จุดสุดท้ายนี้ให้เติมน้ำมันตะเกียงที่พระประจำวันเกิดของตัวเองโดยเติมเพียงครึ่งขวดอีกครึ่งขวดให้เติมลงในอ่างสะเดาะเคราะห์ 

ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการสักการะศาลหลักเมือง ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดสมปรารถนา ขอให้ปี 2566 นี้เป็นปีที่ดีของทุกคนนะคะ

Scroll to Top