ไหว้ ๑๒ พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตร

“พระบรมธาตุเจดีย์” เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ คือ อัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า โดยมีการอัญเชิญและสร้างเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ และจัดพิธีสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา เชื่อว่าการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเสมือนการได้ “ชุธาตุ” หรือกราบไหว้บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีคติความเชื่อว่า “นามเปิ้ง” คือนามของสัตว์ที่เป็นพาหนะในการนำมาเกิดตามราศี จึงกำหนดพระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนักษัตร เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลในการสักการบูชา พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนักษัตรส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเหนือ และมีหนึ่งแห่งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

๑. พระธาตุประจำปีเกิด ปีชวด (ปีหนู) ธาตุน้ำ
“พระธาตุศรีจอมทอง” วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

พระธาตุศรีจอมทอง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า โดยพระบรมสารีริกธาตุนี้มิได้ถูกบรรจุฝังไว้ใต้ดินเช่นที่อื่น แต่ถูกบรรจุไว้ในพระโกศห้าชั้น ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงซึ่งอยู่ด้านหลังองค์พระธาตุเจดีย์ศรีจอมทอง และในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (เหนือ) หรือก็คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ของทุกปี ที่วัดจะมีการจัดงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุศรีจอมทอง
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ เส้นทางเชียงใหม่-ฮอด จนถึงตัวอำเภอจอมทอง จะพบวัดตั้งอยู่ซ้ายมือ มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถเมล์และรถสองแถว สายเชียงใหม่-จอมทอง วิ่งผ่านหน้าวัด สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งช้างเผือกในตัวเมืองเชียงใหม่

๒. พระธาตุประจำปีเกิด ปีฉลู (ปีวัว) ธาตุดิน
“พระธาตุลำปางหลวง” วัดพระธาตุลำปางหลวง ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย จากตำนานกล่าวว่า วัดอยู่บนซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร พระนางจามเทวีได้เสด็จมาโปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ มีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาบุทองเหลืองฉลุลาย ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้แก่ พระเกศาธาตุ (ผม) พระนลาฏ (หน้าผาก) ข้างขวา และส่วนพระศอด้านหน้าและด้านหลังของพระพุทธเจ้า การสักการบูชามักจัดให้มีขึ้นในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (ลำปาง-เถิน) จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอเกาะคา และข้ามแม่น้ำวัง จะพบที่ว่าการอำเภอเกาะคา ให้เลี้ยวขวาและตรงไป ๓ กิโลเมตร ถึงวัด

๓. พระธาตุประจำปีเกิด ปีขาล (ปีเสือ) ธาตุไม้
“พระธาตุช่อแฮ” วัดพระธาตุช่อแฮ ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ (ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม) ของทุกปี ทางวัดจะจัด “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง” มีริ้วขบวนเครื่องสักการะ ผ้าห่มพระธาตุ ๑๒ ราศี ตุง ๑๒ ราศี และเทศน์มหาชาติ
.
การเดินทาง : จากสี่แยกบ้านทุ่งในตัวเมืองแพร่ ไปตามถนนช่อแฮ รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ ๙ กิโลเมตร

๔. พระธาตุประจำปีเกิด ปีเถาะ (ปีกระต่าย) ธาตุน้ำ
“พระธาตุแช่แห้ง” วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงติ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐาน พระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนข้อมือซ้ายของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๑-๑๕ ค่ำ และ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม) จะมีการจัด “งานนมัสพระธาตุแช่แห้ง” โดยมีการแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และจุดบอกไฟ (ลักษณะเดียวกับบั้งไฟ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ) ถวายเป็นพุทธบูชา
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองน่าน ข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๖๘ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร

๕. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะโรง (ปีงูใหญ่) ธาตุดิน
“พระมหาธาตุเจดีย์ หรือ พระธาตุหลวง” วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของพระวิหารลายคำ ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระสิงห์” (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปคู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระวิหารลายคำนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เพราะมีลวดลายปิดทองล่องชาด เทคนิคการฉลุลายปรากฏบนฝาผนังหลังพระประธานและเสากลางพระวิหาร เสาระเบียงด้านหน้าพระวิหาร ตลอดถึงบางส่วนของโครงไม้ บนฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สังข์ทองและสุวรรณหงส์ เขียนด้วยสีฝุ่นมีความงดงามมาก
.
การเดินทาง : วัดพระสิงห์อยู่ใกล้บริเวณคูเมืองด้านใน ตรงบริเวณจุดบรรจบระหว่างถนนสามล้าน ถนนสิงหราช และถนนราชดำเนิน หรือใช้บริการรถโดยสารสองแถวแดงที่ให้บริการในตัวเมืองเชียงใหม่

๖. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก) ธาตุน้ำ
“พระเจดีย์เจ็ดยอด” วัดโพธารามมหาวิหาร ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระเจดีย์เจ็ดยอด จำลองแบบจากมหาวิหารเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงให้แบ่งหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่พระสงฆ์สิงหลนิกายลังกาวงศ์นำมาจากลังกาแล้วปลูกไว้ที่เชิงดอยสุเทพ ให้นำมาปลูกไว้ใกล้กับพระเจดีย์เจ็ดยอดด้วย จึงมีสองสิ่งสำคัญในการเป็นที่สักการะประจำปีเกิดปีมะเส็ง คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระมหาเจดีย์เจ็ดยอด
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนห้วยแก้วจนถึงสี่แยกรินคำ ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำพูน) ตรงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร จะพบวัดตั้งอยู่ซ้ายมือ

๗. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะเมีย (ธาตุไฟ)
พระบรมธาตุ วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

มีตำนานกล่าวถึงสถานที่ตั้งของพระบรมธาตุเจดีย์ว่า สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่แห่งนี้ และตรัสว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วให้นำพระเกศาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ต่อมาจึงมีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น โดยภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน) ของทุกปี จะมีการจัด “งานประเพณีขึ้นพระธาตุเดือนเก้า” มีขบวนแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุ ขบวนต้นเงินต้นทอง ขบวนตุงไชย และเครื่องสักการบูชา
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองตาก ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๐๗ (เส้นทางตาก-บ้านตาก) ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๕ ประมาณ ๑ กิโลเมตร วัดอยู่ด้านซ้ายมือ

๘. พระธาตุประจำปีเกิด ปีมะแม (ปีแพะ) ธาตุดิน
“พระธาตุดอยสุเทพ” วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ ตามตำนานกล่าวว่าสมัยพญากือนาธรรมิกราช กษัตริย์องค์ที่ ๖ ราชวงศ์มังราย โปรดฯ ให้เสี่ยงทายโดยนำพระบรมสารีริกธาตุสถิตเหนือช้างมงคล และช้างได้เดินขึ้นบนดอยสุเทพ จึงโปรดฯ ให้ขุดดินบริเวณนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุและสร้างเจดีย์ครอบไว้ ปัจจุบันมีการจัดงานประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ “ประเพณีเตียวขึ้นดอยไหว้สาป๋าระมี พระบรมธาตุดอยสุเทพ” โดยจัดก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน จากบริเวณข่วงครูบาศรีวิชัยสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ
.
การเดินทาง : (รถยนต์) จากตัวเมืองเชียงใหม่มาตามถนนห้วยแก้ว-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-สวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย มีทางขึ้นดอยระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ (รถโดยสารประจำทาง) มีรถสองแถวแดงจอดให้บริการบริเวณหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๗.๐๐ น.

๙. พระธาตุประจำปีเกิด ปีวอก (ปีลิง ) ธาตุดิน
“พระธาตุพนม” วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระธาตุพนม เป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้งไทยและลาว ตามตำนานกล่าวว่าองค์พระธาตุพนมภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ของทุกปี จะมีการจัด “งานนมัสการพระธาตุพนม” กล่าวกันว่าผู้ที่ได้มาสักการะพระธาตุพนมครบ ๗ ครั้ง ถือเป็น “ลูกพระธาตุ”
.
การเดินทาง : (รถยนต์) จากตัวเมืองนครพนม ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ (นครพนม-มุกดาหาร) ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร จะพบวัดตั้งอยู่ทางขวามือในตัวอำเภอธาตุพนม (รถโดยสารประจำทาง) มีรถตู้โดยสารสายนครพนม-มุกดาหาร วิ่งผ่านหน้าวัด ต้นทางสามารถขึ้นได้จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครพนมและมุกดาหาร 

๑๐. พระธาตุประจำปีเกิด ปีระกา (ปีไก่) ธาตุดิน
“พระธาตุหริภุญชัย” วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ถนนรอบเมืองใน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหลายส่วน ได้แก่ พระบรมธาตุส่วนกระหม่อม พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) พระบรมธาตุส่วนนิ้วพระหัตถ์ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนย่อยเต็มหนึ่งบาตร ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (เดือน ๘ เหนือ จึงเรียก “แปดเป็ง”) จะมีการจัด “งานประเพณีแปดเป็ง สรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” โดยนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ จากยอดดอยขะม้อ อำเภอเมืองลำพูน มาเป็นน้ำสรงพระธาตุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ
.
การเดินทาง : ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑๕๐ เมตร

๑๑. พระธาตุประจำปีเกิด ปีจอ (ปีสุนัข) ธาตุดิน
พระเจดีย์เกตการาม วัดเกตการาม ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ตามตำนานล้านนากล่าวถึงการสักการะพระบรมธาตุประจำปีเกิดปีจอว่าอยู่ที่พระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงได้กำหนดให้ พระเจดีย์เกตการาม ซึ่งมีเสียงพ้องกันเป็นที่สักการะแทน สันนิษฐานว่ายอดพระเจดีย์มีลักษณะเอียงเล็กน้อยมาจากความเชื่อว่า ยอดเจดีย์ชี้ตรงขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นการไม่สมควร จึงสร้างยอดเจดีย์ให้เอียง และองค์เจดีย์เป็นทรงลังกาแบบล้านนา มีพระเจดีย์ใหญ่รายล้อมด้วยเจดีย์บริวาร ๔ มุม มีการจัดงานสักการบูชาในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ข้ามสะพานนวรัฐ และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญราษฎร์ (ถนนเลียบแม่น้ำปิง) ผ่านร้านอาหารกู๊ดวิวและริเวอร์ไซด์ ๒๐๐ เมตร ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าไปตามถนน หรือเดินเข้าทางประตูเล็กอยู่ติดถนนเจริญราษฎร์ ตรงกับสะพานข้ามแม่น้ำปิงและตรงข้ามตลาดวโรรส

๑๒. พระธาตุประจำปีเกิดปีกุน (ปีหมู) ธาตุน้ำ
พระธาตุดอยตุง วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

พระบรมธาตุดอยตุงมีสององค์ ตามตำนานกล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์แรกว่า สร้างในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองนครโยนกนาคพันธุ์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า ส่วนการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์ที่สองมีขึ้นในสมัยพญามังราย โดยพระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๕๐ องค์ มาถวาย จึงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ประดิษฐานใกล้กับพระเจดีย์องค์เดิม

การที่พระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีกุน เนื่องจากปู่เจ้าลาวจกและพญามังรายต้นราชวงศ์กษัตริย์เชียงรายและเชียงใหม่ประสูติปีกุน ในช่วงวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) จะมีการจัดงาน “ประเพณีหกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” มีขบวนแห่ “รัตนสัตตนัง” เครื่องสักการบูชา พร้อมน้ำทิพย์จากบ่อน้ำทิพย์ที่ผ่านพิธีสมโภชน์ในการนำสรงน้ำพระธาตุดอยตุง
.
การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (เชียงราย-แม่สาย) จนถึงสามแยกทางขึ้นดอยตุง ให้เลี้ยวซ้ายตรงขึ้นดอยอีกระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร ถึงวัด

Scroll to Top
Send this to a friend