Wetland ดินแดนมหัศจรรย์

Spread the love

Wetland ดินแดนมหัศจรรย์ : 14 พื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site)

1 พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน
.
พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย มีลักษณะเป็นพื้นที่พรุไม้เสม็ดขาว มีกก หญ้ากระจูด กระจูดหนู ขึ้นอยู่หนาแน่น ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา 
.
ที่ตั้ง: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

2 พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
.
เป็นบึงน้ำจืดที่มีลักษณะแคบยาว เกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน โดยน้ำในบึงจะไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม ก่อนไหลออกแม่น้ำโขง ในพื้นที่มีเกาะกลางบึง ได้แก่ ดอนแก้ว ดอนสวรรค์ ดอนโพธิ์ ดอนน่อง และนอกจากนี้บนเกาะยังมีป่าดิบแล้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์อีกด้วย
.
ที่ตั้ง: อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา และตำบลบึงโขงหลง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ 

3 พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย
.
เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลสาบเชียงแสน มีการสำรวจพบพันธุ์ไม้ในพื้นที่กว่า 185 ชนิด เช่น ผักบุ้ง บอน หญ้าไซ บัวหลวง กก เป็นต้น เป็นพืชต่างถิ่น 15 ชนิด เช่น กระถินยักษ์ หญ้าชน บัวบก และมะระขี้นก เป็นต้น
.
ที่ตั้ง: ตำบลโยนก และตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

4 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง 
.
บริเวณนี้มีระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยสังคมพืชในพื้นที่ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลน และจัดเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบรูณ์ของหญ้าทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหากินของพะยูน ซึ่งถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยอีกด้วย
.
ที่ตั้ง: ตำบลนาเกลือ ตำบลลิบง ตำบลหาดสำราญ อำเภอสิเกา อำเภอปะเหลียน และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

5 พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ 
.
กุดทิงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่สำคัญหลายชนิด และยังพบปลาที่อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม เช่น ปลายี่สก หรือปลาเอิน ฯลฯ นอกจากนี้กุดทิงยังเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งน้ำจืด 3 ชนิด คือ กุ้งฝอยเล็ก กุ้งฝอยใหญ่ และกุ้งฝอยแดงด้วย 
.
ที่ตั้ง : อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

6 หมู่เกาะระ–เกาะพระทอง จังหวัดพังงา
.
จุดเด่นของที่นี่คือแนวปะการังน้ำลึก ที่มีความหลากหลายของชนิดปะการังมากกว่าที่อื่น มีการสำรวจพบแนวปะการังที่เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ เกาะกลาง เกาะเมี่ยง เกาะตารี และเกาะอื่นๆ โดยที่เกาะสุรินทร์มีแนวปะการังที่สมบูรณ์อยู่ที่อ่าวช่องขาด และอ่าวแม่บาย ปะการังที่พบมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ปะการังดอกเห็ด ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังดาวใหญ่ และปะการังไฟ เป็นต้น
.
ที่ตั้ง : อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

7 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา 
.
เป็นอ่าวตื้นที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 132,381 ไร่ โดยบริเวณอ่าวพังงาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาดเฒ่า เกาะมะพร้าว เกาะปันหยี เกาะเขาพิงกัน เป็นต้น ถ้าเพื่อนๆ ไปที่จุดชมวิวเสม็ดนางชี ก็จะสามารถมองเห็นพื้นที่บางส่วนของแนวป่าชายเลนและหมู่เกาะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
.
ที่ตั้ง : อำเภอเมือง และอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

8 พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ 
.
มีพื่นที่ครอบคลุมตั้งแต่สุสานหอย 75 ล้านปี เขตผังเมืองกระบี่ ป่าชายเลนหาดเลน เขาขนาบน้ำ หาดทรายลำคลองน้อมใหญ่หน้าเมืองกระบี่ ไปจนถึงป่าชายเลนและหญ้าทะเลผืนใหญ่ในบริเวณเกาะศรีบอยา 

ที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมของนกอพยพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย พบนกอย่างน้อย 101 ชนิด เป็นนกประจำถิ่นอย่างน้อย 53 ชนิด เช่น นกยางเขียว นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ เหยี่ยวขาว เป็นต้น 
.
ที่ตั้ง: อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

9 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
.
หมู่เกาะอ่างทองประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 42 เกาะ ทั้งหมดเป็นเกาะขนาดเล็กและขนาดกลางตั้งอยู่เป็นกลุ่มเกาะกลางทะเล ส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนมีแนวหน้าผาสูงชันตั้งดิ่งจากพื้นที่น้ำทะเล นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลแล้ว ป่าไม้บนแนวเขาก็ค่อยข้างอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประจำถิ่นและนกอพยพกว่า 100 ชนิดเช่นกัน 
.
ที่ตั้ง : ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

10 พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม 
.
ดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำกลอง ทำให้แผ่นดินขยายออกไปในทะเลประมาณ 8 กิโลเมตร
.
จุดเด่นของที่นี่คือหาดเลน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยหลอด เอกลักษณ์สำคัญของพื้นที่ และยังมีหอยอีกหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศไทยและในภูมิภาค
.
ที่ตั้ง: อยู่ในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่ ตำบลบางแก้ว และตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

11 พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ( พรุโต๊ะแดง ) จังหวัดนราธิวาส 
.
พรุโต๊ะแดงเป็นป่าพรุผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยว ท้องถิ่นและชุมชนได้ประโยชน์โดยตรงจากการเก็บของป่า เช่น หวาย หลุมพี น้ำผึ้ง เพื่อเป็นรายได้ของชุมชน ที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งพืชและสัตว์ มีการสำรวจพบสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกตะกรุม นกฟินฟุท นกเปล้าใหญ่ เต่าหับ เต่าดำ ตะโขง และจระเข้น้ำเค็ม เป็นต้น
.
ที่ตั้ง: อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

12 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
.
เพื่อนๆ หลายคนน่าจะเคยไปเที่ยวที่สามร้อยยอดกันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าที่นี่ประกอบด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายทั้งระบบนิเวศบก ป่าเขาหิน และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำได้แก่ บึงน้ำจืด ป่าชายเลน หาดโคลน และหาดทรายชายทะเล 

โดยป่าชายเลนจะอยู่บริเวณปากคลอง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่เป็นแนวแคบๆ ตามชายคลองบริเวณทางออกทะเล เช่น แสมทะเล โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ลำพู เหงือกปลาหมอดอกขาว หญ้าน้ำเค็ม ฯลฯ ส่วนบริเวณที่ลุ่มน้ำกร่อยจะมีสังคมพืชทนเค็ม เช่น ชะคราม ผักเบี้ยทะเล หญ้าขม เป็นต้น 
.
ที่ตั้ง : อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

13 พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง
.
ที่นี่ถือเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย และในเขตอินโด–แปซิฟิก บริเวณนี้ประกอบไปด้วยหาดเลน หาดทราย แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลน ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่อยู่ในสถานะถูกคุกคามหลายชนิด เช่น นกฟินฟุท นกหัวโตมลายู ปลากะทุงเหวทะเล ฯลฯ 

นอกจากนี้ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำกระบุรียังเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติเกี่ยวกับป่าชายเลน ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และจัดว่าเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประเภทป่าชายเลนแห่งแรกของโลกอีกด้วย
.
ที่ตั้ง: อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

14 พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช 
.
หมู่เกาะกระเป็นหมู่เกาะแห่งเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากแผ่นดินประมาณ 350 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก 3 เกาะ ได้แก่ เกาะกระใหญ่ เกาะกลาง (เกาะหลาม) เกาะเล็ก (เกาะบก) และกองหินขนาดเล็กอีก 1 กอง เรียกว่า หินเรือ ซึ่งมีส่วนยอดโผล่พ้นน้ำขึ้นมาไม่มากนัก
.
ด้วยความห่างไกลจากฝั่งและยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทำให้บนเกาะยังคงความดิบและอุดมสมบูรณ์อยู่มาก มีทั้งแนวปะการัง และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประจำถิ่นและนกอพยพ

.
ที่ตั้ง : อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

Scroll to Top